เจาะลึก HMS Core บริการของ Huawei ที่ตั้งใจนำมาใช้แทน Google Play Services

by mk
30 November 2019 - 16:20

วิธีการของ Huawei เพื่อรับมือปัญหาไม่สามารถใช้งาน Google Mobile Services (GMS) หลังโดนรัฐบาลสหรัฐแบน คือการสร้าง Huawei Mobile Services (HMS) ขึ้นมาทดแทน

แต่ถ้าลงลึกในรายละเอียด คำว่า HMS ถือเป็น "แบรนด์" ที่มีส่วนประกอบย่อยๆ มากมาย สามารถจัดเป็นกลุ่มได้ 3 แบบคือ HMS Core (แกน API หลัก), HMS Capabilities (API เสริม) และ HMS Connect (พวกร้านขายแอพ ช่องทางจัดจำหน่าย) ซึ่งบทความนี้เราจะมารู้จัก HMS Core ในฐานะตัวตายตัวแทนของ Google Play Services นั่นเอง

แผนภาพด้านล่างนี้เป็นโครงสร้างของ HMS ทั้งหมดที่แยกได้เป็น 3 กลุ่ม

  • HMS Core API หลักที่เขียนขึ้นมาใช้ทดแทน Google Play Services โดยตรง
  • HMS Capabilities API เสริมความสามารถ เช่น งานด้าน AI, VR, IoT
  • HMS Connect ประกอบด้วยร้านขายแอพมือถือ (AppGallery) และขายฟีเจอร์ของอุปกรณ์อื่นที่ไม่ใช่มือถือ (Ability Gallery) รวมถึงร้านขายธีมและคอนเทนต์ (ตรงนี้เทียบได้กับ Google Play Store)

บทความนี้จะโฟกัสไปที่ HMS Core เพียงอย่างเดียวครับ

ตัวของ HMS Core เองก็ประกอบด้วยชุด API หลายตัว (นับตามภาพได้ทั้งหมด 9 ตัว) แยกได้อีกเป็น 3 กลุ่มย่อยคือ

  • Development API สำหรับการพัฒนาแอพโดยตรง
  • Growth API ช่วยดันให้แอพเติบโต มีคนใช้เยอะขึ้น เช่น push notification หรือ analytics
  • Monetization API ด้านการหาเงิน เช่น โฆษณา หรือ in-app purchase

รายละเอียดของ HMS Core แต่ละตัวสามารถดูได้จากหน้าเว็บ Huawei Developer

มาถึงตรงนี้ต้องบอกว่า HMS Core ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทน Google Play Services โดยตรงแบบ 1:1 ซึ่งถ้าดูจาก วิธีการจัดหมวด API ของ Google Play Services จะเห็นว่าเหมือนกันแบบเป๊ะๆ คือ Develop, Grow, Earn

เพียงแต่จำนวน API ของ HMS Core ยังน้อยกว่า Google Play Services อยู่พอสมควร ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะ Google Play Services (รวม Firebase) ทำมานาน 10 ปี ในขณะที่ HMS Core ยังเพิ่งเริ่มเท่านั้น

เรามาดู API แต่ละตัวของ HMS Core กันให้ละเอียดขึ้น

เริ่มจาก Account Kit บริการสำหรับล็อกอินในแอพ ที่ใช้บัญชี Huawei ID แทน Google Account

ตัวมันเองเขียนขึ้นบนโพรโทคอล OAUTH 2.0 มาตรฐาน มีฟีเจอร์ด้านการล็อกอินครบครัน ข้อจำกัดของมันคงเป็นว่าต้องมีบัญชี Huawei ID ด้วย ซึ่ง Huawei ก็คุยว่าตอนนี้มีผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 500 ล้านคน และให้ข้อมูลว่าอยู่นอกจีนถึง 140 ล้านคน

บริการตัวที่สองคือ Location Kit สำหรับหาพิกัดตำแหน่งของมือถือเพื่อให้แอพทราบ (เทียบได้กับ com.google.android.gms.location) ตรงนี้เป็นการดึงข้อมูลของ cellular, GPS, Wi-Fi, Bluetooth มาคำนวณ จึงไม่ต่างอะไรกับบริการของกูเกิลมากนัก

ปัจจุบัน Location Kit อาจยังขาดฟีเจอร์ขั้นสูงบางอย่าง เช่น การทำ geofence หรือ indoor positioning แต่ในเอกสารก็ระบุว่าจะเพิ่มขึ้นมาในอนาคต

Map Kit บริการด้านแผนที่ เทียบได้กับการเรียก Google Maps SDK โดย Huawei ระบุว่ามีข้อมูลสถานที่ (POI) มากกว่า 100 ล้านจุดทั่วโลก

ผมดูในเดโมบนเวที เห็นว่าแผนที่นอกจีนใช้ข้อมูลของ TomTom ซึ่งก็เป็นบริษัทรายใหญ่ที่ขายข้อมูลแผนที่อยู่แล้ว (Apple Maps ก็ใช้ข้อมูลจาก TomTom) ก็น่าจะพอใช้แก้ขัดได้ (บ้าง) หากว่าไม่มี Google Maps ให้เรียกใช้จริงๆ

Push Kit สำหรับการส่งข้อความแจ้งเตือน เทียบได้กับ Firebase Cloud Messaging แต่เปลี่ยนมาใช้ Huawei Push แทน รองรับการส่งข้อความหลายภาษา หลายฟอร์แมต เจาะจงตามโพรไฟล์ผู้ใช้งานได้

In-App Purchases บริการจ่ายเงินภายในแอพ รองรับวิธีการจ่ายเงินหลากหลาย ทั้งบัตรเครดิตยี่ห้อหลักๆ (Visa / Mastercard / AMEX / JCB) และการหัก carrier billing

รองรับการจ่ายเงินซื้อ subscription ระยะยาว และการเปิดคำสั่งซื้อ (order)

Ads Kit ระบบโฆษณาภายในแอพ ใช้ระบบ OAID ระบุตัวตนผู้ใช้งานแทนการใช้ IMEI และจับมือกับเครือข่ายโฆษณาหลายยี่ห้อ

API ตัวอื่นที่ Huawei ไม่ได้นำมาเดโมบนเวทีได้แก่

  • Drive Kit สำหรับพื้นที่เก็บข้อมูล เทียบได้กับ Google Drive แต่เปลี่ยนมาใช้ Huawei Cloud แทน
  • Game Services บริการสำหรับเกม เทียบได้กับ Google Play Game Services
  • Analytics Kit สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งาน เทียบได้กับ Google Analytics แต่เปลี่ยนมาใช้ Huawei Analytics

เวอร์ชันปัจจุบันของ HMS คือ 3.0.0 แต่ภายในปีนี้เราจะเห็น HMS 4.0.0 ที่มี API เพิ่มมาอีกมาก เช่น Health Kit (เทียบได้กับ Google Fit), Nearby Service, FIDO, DRM, ML เป็นต้น

Huawei คุยว่าการนำแอพที่มีอยู่แล้วมาเชื่อมต่อกับ HMS นั้นง่ายและใช้เวลาไม่นาน เฉลี่ยแล้วเพียง 3 วันเท่านั้น

นอกจาก HMS Core แล้ว ตัวสโตร์คือ AppGallery ยังมีฟีเจอร์จ่ายเงินเพื่อโฆษณาโปรโมทแอพ (Paid Promotion) เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานด้วย

ในภาพรวมแล้ว HMS Core ถือเป็นความพยายามครั้งใหญ่ในการสร้างระบบทดแทน GMS/Google Play Services ที่ดูจะยิ่งใหญ่กว่า API ของ Amazon Fire OS ด้วยซ้ำ

ตอนนี้ HMS Core อาจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังขาดฟีเจอร์ระดับสูงหลายตัวของ Google Play Services แต่ถ้าให้เวลาอีกสัก 1-2 ปี ความสมบูรณ์น่าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก จนแทบจะใช้ทดแทน Google Play Services ได้เกือบหมด

ความท้าทายอีกประการของ HMS Core คงอยู่ที่การดึงดูดนักพัฒนาแอพนอกจีนให้เข้ามาใช้งาน ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีปัจจัยที่นักพัฒนาแอพนอกจีน (ที่ GMS ยังใช้งานได้) จะต้องเปลืองแรงมาปรับแก้แอพตัวเองให้รองรับ HMS Core เพิ่มเติมสักเท่าไร

Huawei ไม่มีท่าอื่นนอกจากใช้วิธีด้านการตลาดเชิญชวน หรือใช้วิธีจ้าง/ให้เงินจูงใจ (แบบที่ไมโครซอฟท์เคยทำกับ Windows Phone) ซึ่งก็ทำอยู่แล้ว (ประกาศตั้งกองทุนขนาด 1 พันล้านดอลลาร์) ตรงนี้คงต้องใช้เวลาและความพยายามอีกสักระยะเช่นกัน เพียงแต่บริษัทแบบ Huawei พอตั้งใจทำอะไรจริงๆ จังๆ แล้ว ต้องยอมรับว่าน่ากลัวไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

Blognone Jobs Premium