รีวิว Dell Studio 1535 ตอนที่สอง

by mk
15 April 2009 - 13:21

ตอนเก่า: รีวิว Dell Studio 1535 ตอนที่ 1

ผมทดสอบด้วย Ubuntu 9.04 Jaunty รุ่นเบต้า ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดที่ออก ณ ช่วงเวลาที่ทดสอบนะครับ การติดตั้งก็ไม่มีปัญหาอะไร เมื่อบูตขึ้นมาก็พบว่า Ubuntu รู้จักและใช้งานฮาร์ดแวร์ได้ถูกต้องเกือบหมด น่าประทับใจมาก

ความละเอียดหน้าจอก็ตรวจพบได้ถูกต้อง (1280x800) อย่างไรก็ตามผมคิดว่าขนาดฟอนต์ที่ Ubuntu กำหนดมาให้คือ 10pt นั้นตัวใหญ่ไปเล็กน้อย ลองลดลงมาที่ 9pt จะกำลังดี

ส่วนความสามารถ 3 มิตินั้นยังใช้ไม่ได้ เพราะว่าไม่มีไดรเวอร์ของ ATI (fglrx) ใน repository ของ Ubuntu Jaunty ณ เวลาที่ทดสอบ จึงไม่สามารถใช้ Compiz ได้ตามไปด้วย

รายละเอียดฮาร์ดแวร์มีดังนี้

  • Wi-Fi ใช้งานได้ทันที (ผ่าน restricted driver ของ Broadcom)
  • Bluetooth ตรวจเจอและใช้งานได้
  • เสียงออกชัดเจน (แต่ผมยังไม่สามารถตั้งเสียงกับ Skype บนลินุกซ์ได้ แต่ดู Gee บน YouTube นี่สบายครับ)
  • กล้องก็ใช้งานได้ทันที ทดสอบทั้งบนโปรแกรม Cheese และ Skype แถมชัดมาก

ภาพที่ได้จากกล้องของ Dell Studio 1535 ครับ สภาพแสงน้อยแต่ก็ยังชัดเจน

ผมนึกวิธีการทดสอบการเล่นวิดีโอแบบ HD ไม่ออก สุดท้ายเลยใช้หนังเรื่อง Elephants Dream ซึ่งสร้างด้วยซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สทั้งเรื่องและแจกหนังความละเอียด 1920x1080 เวอร์ชันเต็มให้ดาวน์โหลดบนเว็บไซต์ (สัญญาอนุญาตเป็น Creative Commons)

ซอฟต์แวร์ที่ใช้คือ VLC เจ้าเก่า ก็ทำงานได้ราบรื่นดีไม่มีปัญหา กินโหลดซีพียูน้อย

แต่ถ้าดูแบบ fullscreen ก็จะยังมีขอบดำอยู่บ้างด้วยข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์ ซึ่งปัญหานี้จะหมดไปในรุ่น 1555

เบนช์มาร์ค

เนื่องจากว่าผมไม่เคยรันเบนช์มาร์คทดสอบเครื่องมาก่อนเลย และชุดโปรแกรมสำหรับเบนช์มาร์คตัวเดียวที่รู้จักคือ Phoronix Test Suite สำหรับลินุกซ์ (รันบนแมคและระบบปฏิบัติการสายยูนิกซ์อื่นๆ ได้ด้วย) ก็เลยนำมารันทดสอบกันสักหน่อยให้ได้ชื่อว่าเป็นรีวิวฮาร์ดแวร์

ณ เวลาที่ทดสอบนั้น รุ่นล่าสุดของ Phoronix Test Suite คือ 1.6.0 (ตอนนี้เป็น 1.8.0 แล้ว เพิ่งออกเมื่อวันที่ 6 เมษายน) โชคดีที่ Phoronix Test Suite มีอยู่ใน repository ของ Ubuntu Jaunty เรียบร้อยแล้ว การติดตั้งจึงสะดวกสบายมาก แค่ลงแพกเกจ phoronix-test-suite ก็เรียบร้อย

ชุดทดสอบต่างๆ ของ Phoronix นั้นมีให้เลือกเยอะมาก (ดูรายการทั้งหมด) ผมไม่แน่ใจว่าควรใช้อันไหนดี เลยเลือกอันที่ชื่อกลางๆ อย่าง Multicore ซึ่งประกอบด้วยการทดสอบย่อยอีกหลายอัน ถือซะว่าทดสอบซีพียู Core 2 Duo ทั้งสองรุ่นไปด้วยในตัว

และเพื่อให้การเปรียบเทียบเห็นภาพชัดมากขึ้น ผมเลยหาฮาร์ดแวร์เครื่องที่สามมาทดสอบประกบด้วย เป็นเดสก์ท็อปของผมเองที่เก่าไปสักหน่อย สเปกเป็นดังนี้

  • AMD Sempron 3000+ (1.6 Ghz คอร์เดี่ยว)
  • แรม 1GB
  • GeForce 6150 256MB
  • Ubuntu 8.10 ใช้เคอร์เนล 2.6.27-11 และระบบไฟล์ ext3

จะเห็นว่าองค์ประกอบด้านซอฟต์แวร์ต่างกันพอสมควร (Ubuntu คนละเวอร์ชันและระบบไฟล์คนละแบบ) ก็คงไม่ใช่การเปรียบเทียบที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีการควบคุมตัวแปรมากนักนะครับ ยกมาให้เปรียบเทียบดูเฉยๆ ว่าฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่เกือบล่าสุดพัฒนาไปจากฮาร์ดแวร์เมื่อหลายปีก่อนขนาดไหนแล้ว

ผลการทดสอบเป็นดังนี้

คอมไพล์ Apache

การทดสอบแรกสุดเป็นการวัดประสิทธิภาพของซีพียูโดยตรง มันคือการดาวน์โหลดซอร์สโค้ดของ Apache มาคอมไพล์

Core 2 Duo T5850 คอมไพล์งานได้เร็วกว่า Sempron 3000+ สองเท่ากว่า ส่วน Core 2 Duo T9400 ก็เร็วขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ (แกนข้างในใหม่กว่า 1 รุ่น) ที่ผมว่าน่าสนใจคือ T9400 นั้นเร็วกว่า T5850 อยู่มากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้จะพูดถึงในรีวิวของ Dell Studio 1555 ตอนนี้ถือว่าสปอยล์ไปก่อนละกัน

คอมไพล์ ImageMagick

ถัดจากคอมไพล์ Apache ก็เป็นซอฟต์แวร์ยอดนิยมอีกตัวคือ ImageMagick จะเห็นว่าประสิทธิภาพโดยรวมของ Dell Studio 1535 นั้นทิ้ง Sempron เกือบสี่เท่าตัว และ Dell Studio 1555 ที่ใช้ T9400 ก็เป็นไปในทางเดียวกับหัวข้อที่แล้ว

Sunflow Rendering System

การทดสอบนี้น่าสนใจมาก เพราะ Sempron 3000+ กลับทำเวลาได้ดีกว่า Dell Studio มาก ผมไม่มีเวลาค้นหาสาเหตุ แต่ถ้าให้เดาก็เป็นเพราะว่าเครื่องที่ใช้ Sempron 3000+ นั้นใช้การ์ดจอ NVIDIA (เป็น GeForce 6150 ออนบอร์ด) แต่ที่สำคัญคือมันใช้ไดรเวอร์ของ NVIDIA เองซึ่งมีประสิทธิภาพในงานสามมิติดีกว่ามาก

ส่วน Studio ทั้งสองตัวใช้ ATI Mobility Radeon HD ซึ่ง ณ ขณะที่ทดสอบยังไม่มีไดรเวอร์ fglrx สำหรับ X.Org Server รุ่นของ Ubuntu Jaunty ดังนั้นไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้ไดรเวอร์โอเพนซอร์ส radeon ที่งานด้านสามมิติแย่มากแทน

7-Zip Compression

ทดสอบบีบอัดด้วยฟอร์แมต 7-Zip ซึ่งก็เป็นการวัดผลประสิทธิภาพของซีพียูโดยตรงเช่นกัน กราฟผลการทดสอบจะกลับกันกับกราฟอันก่อนๆ คือวัดเป็นจำนวนคำสั่งต่อเวลา (MIPS) แทนวัดเวลาที่ใช้ ดังนั้นกราฟยิ่งสูงแปลว่ายิ่งคะแนนดี

OpenSSL

จะคล้ายกับการทดสอบข้างบน แต่เปลี่ยนมาเป็นเข้ารหัสกุญแจของ OpenSSL ด้วยอัลกอริทึม RSA ขนาด 4096 บิทแทน ผลที่ได้ก็เป็นไปในทางเดียวกัน

GraphicsMagick

การทดสอบสุดท้ายที่ยกมา เป็นการคำนวณสีด้วย GraphicsMagick ซึ่งผลก็สอดคล้องกับการทดสอบข้างต้น

สรุปผลเบนช์มาร์ค

สงสัยว่าได้เวลาเปลี่ยนเครื่องเดสก์ท็อปใหม่เสียแล้ว -_-' ผมคิดว่าโน้ตบุ๊กรุ่นมาตรฐานที่ใช้ซีพียูในสายตระกูลหลักของอินเทล (นั่นคือ Core 2 Duo) มีพลังประมวลผลเหลือเฟือสำหรับงานที่เป็น desktop replacement ไปนานแล้ว ดังนั้นถ้าใครคิดจะซื้อมาทำงาน desktop replacement ที่จำต้องย้ายสถานที่บ้างก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในด้านประสิทธิภาพของซีพียู

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อโน้ตบุ๊กที่ใช้แกน Nehalem ออกมา ประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นอีกสักเท่าไร (ถ้า Dell อ่านอยู่ก็อย่าลืมส่งมาให้ทดสอบกันอีกรอบนะครับ :D)

ยังมีผลการทดสอบอื่นๆ อีกเล็กน้อยที่ผมไม่ได้เลือกนำมาลง และถ้าใครสนใจดูสเปกฮาร์ดแวร์อย่างละเอียด ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่หน้าผลการทดสอบบนเว็บไซต์ Phoronix ของการทดสอบนี้ (ถ้าใครจะรันชุดทดสอบอันเดียวกันแล้วส่งเข้ามาเปรียบเทียบก็ยินดีครับ สั่ง phoronix-test-suite benchmark mark-30551-24676-14328 ที่คอนโซลของท่าน)

ประเด็นอื่นๆ

  • เท่าที่ลองใช้แบบมั่วๆ ไม่จริงจัง แบตเตอรี่อยู่ได้ประมาณ 2.5-3 ชั่วโมง เป็นแบต 6 เซลล์มาตรฐาน
  • เนื่องจากผมหาราคาบนเว็บของ Dell ประเทศไทยไม่เจอ เลยต้องหาจากเว็บอื่นๆ มาเจอที่เว็บเพื่อนบ้าน Notebookspec บอกว่า 36,990 ไม่รวมแวต (ตัวที่ได้มาตรงกับรุ่น 1535 [A] ยังมีรุ่น [B] และรุ่นไม่มีตัวห้อยที่ฮาร์ดแวร์ต่างกันอีกเล็กน้อย)
  • สำหรับคนที่ต้องการเอกลักษณ์ Dell Studio สามารถเลือกหน้ากากได้หลายแบบ แต่อันสวยๆ หน่อยมีลายก็ต้องจ่ายเพิ่มแน่นอนอยู่แล้ว T_T
  • USB ด้านขวามือจะอยู่ขอบล่าางสุด (ดูภาพ) ถ้าต่อสายไฟและปลั๊กอยู่ด้านล่างของตัวเครื่อง สายมันจะพันกับเมาส์
  • มุมขวาล่างสุดของคีย์บอร์ดเป็นปุ่ม Ctrl ไม่ใช่ Fn (ดูภาพ) อันนี้ขึ้นกับความถนัดเฉพาะบุคคล
  • ปุ่ม Home, End, Page Up/Down, Insert, Delete แยกมาให้ ไม่ต้องกด Fn

สรุป

ข้อดีของ Dell Studio 1535

  • ซีพียูประสิทธิภาพดี เหมาะแก่การใช้งาน desktop replacement
  • เครื่องแข็งแรง มั่นคง
  • คีย์บอร์ด backlight พร้อมไฟแสดงสถานะครบครัน คีย์บอร์ดใหญ่พิมพ์สบาย ปุ่มไม่พิสดาร
  • ช่องต่อพ่วงครบครัน USBx4, eSATA, Firewire, HDMI, SD reader, หูฟังx2
  • ลงลินุกซ์แล้วทำงานได้ราบรื่น (นานๆ เจอที)
  • มีตัวอ่านลายนิ้วมือ พร้อมซอฟต์แวร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวก
  • ฮาร์ดดิสก์ใหญ่ เก็บไฟล์ไม่ต้องคิดมาก

ข้อเสีย

  • หนักพอสมควร 2.77 กิโล ไม่เหมาะสำหรับงาน portable
  • ให้ Vista Home Basic น่าจะเป็น Home Premium
  • ตัวอ่านลายนิ้วมือยังทำงานได้ไม่ดีนัก คือมันเดายากว่าจะปั๊มนิ้วผ่านหรือเปล่า
  • แบตเตอรี่ไม่นานมากนัก (ถ้าเทียบกับ Dell Lattitude E ที่ออกมาทีหลัง ก็จะยิ่งเห็นความแตกต่าง)
  • ผมว่า touchpad มันเล็กไปนิด (ชอบใหญ่ๆ)

ฟันธง!

เนื่องจากผมไม่มีราคาของโน้ตบุ๊กระดับเดียวกันของยี่ห้ออื่นๆ มาเปรียบเทียบ ก็คงตัดสินได้เฉพาะข้อมูลเท่าที่มี

ผมคิดว่า Dell Studio ออกมาจับตลาดคนที่ต้องการโน้ตบุ๊กที่เป็น desktop replacement ลูกค้ากลุ่มนี้จะพิจารณาซื้อเครื่องเป็นของตัวเอง (ไม่ใช่บริษัทออกให้ ซึ่งจะเป็นตลาดของ Vostro หรือ Lattitude ไป) ก็จะมีอารมณ์คอนซูเมอร์ปนมาหน่อยๆ แต่ระดับก็จะเหนือกว่า Inspiron และในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการสเปกเทพขนาด XPS หรือ Alienware

แต่ในกลุ่มของ Studio เองก็จะยังมีหลายรุ่นย่อยอีกเหมือนกัน มันจะมีกลุ่มที่ต้องการจอ 17" ซึ่งจะเขยิบขึ้นไปเป็นกลุ่ม home entertainment ไป ส่วนสายที่เป็นจอ 15" คือต้องการเครื่องแรงๆ หน่อยเอาไว้ทำงานที่ต้องแรงอยู่บ้าง ก็จะแยกกลุ่มกันชัดเจนด้วยคำถามที่ว่า "ต้องการ Blu-ray หรือเปล่า"

ถ้าต้องการ Blu-ray ก็ไม่ต้องคิดมาก เลือก Dell Studio 1555 ครับ ซึ่งถ้าเป็นฝรั่งที่ Blu-ray เริ่มมาแล้วก็อาจจะน่าสนใจอยู่บ้าง แต่เมืองไทยที่ Blu-ray ยังหายากอยู่พอควร Dell Studio 1535 ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่า

ผมดูจากระยะเวลาในการวางจำหน่ายแล้ว Dell Studio 15 ออกวางขายในช่วงกลางปี 2008 ก็ผ่านมาได้ประมาณปีเดียว สเปกของรุ่นย่อยบางตัว (อย่างเช่น Dell Studio 1535 ตัวนี้) อาจตกรุ่นไปบ้างแล้ว แต่แน่นอนมันก็หมายถึงราคาที่ตกตามมาด้วย ถ้าใครเป็นห่วงว่าจะล้าสมัย Dell Studio คงไม่เปลี่ยนบอดี้ในเร็วๆ นี้ แต่ใช้วิธีเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ภายในแทน ดังนั้นวิธีการเลือกที่ดีกว่าคือดูบอดี้ ความแข็งแรง วัสดุที่ใช้ พอร์ตต่างๆ ประกอบกับราคาเป็นหลัก แล้วค่อยมองถึงประสิทธิภาพและรุ่นของฮาร์ดแวร์ตามมา

Blognone Jobs Premium