รายงานวิจัยการดัดแปลงพันธุกรรมทารกในจีนเผยแพร่ออกมาบางส่วน พบ DNA ต่างจากในธรรมชาติ, ไม่ยืนยันว่าป้องกัน HIV ได้จริง

by lew
5 December 2019 - 09:22

หนึ่งปีหลัง He Jiankui นักวิจัยจีนรายงานถึงการดัดแปลงพันธุกรรมในมนุษย์
เมื่อวานนี้นิตยสาร MIT Technology Review เผยแพร่บางส่วนของรายงานวิจัย "การเปิดของคู่แฝดที่ผ่านมาการตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อสร้างความต้านทาน HIV" (Birth of Twins After Genome Editing for HIV Resistance) รายงานที่ He ส่งไปยังวารสาร Nature เพื่อรายงานความสำเร็จ

รายงานฉบับนี้ไม่ได้รับการตีพิมพ์ โดยกองบรรณาธิการของ Nature ไม่ได้ส่งต่อรายงานให้นักวิจัยอื่นรีวิวแต่อย่างใด วารสารอีกฉบับคือ JAMA ก็ไม่รับตีพิมพ์อีกเช่นกัน ทาง Technology Review ได้รับรายงานฉบับนี้จากแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อ โดยส่งรายงานไปให้นักวิชาการในวงการร่วมแสดงความเห็น

รายงานเปิดตัวในส่วนบทคัดย่อด้วยการประกาศความยิ่งใหญ่ He อ้างความจำเป็นในการตัดต่อพันธุกรรมว่ามีเด็กนับล้านมีโรคจากพันธุกรรม และการดัดแปลงพันธุกรรม CCR5 จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและควบคุมการระบาดของ HIV โดย Frodor Urnov นักวิทยาศาสตร์ตัดต่อพันธุกรรมจาก Berkeley ระบุว่าเป็นการอ้างเกินจริง ที่เทคโนโลยีตัดแต่งพันธุกรรมจะช่วยควบคุมการระบาดของ HIV อีกทั้งข้อมูลเนื้อในของรายงานแสดงให้เห็นว่าการตัดแต่งสร้าง CCR5 รูปแบบที่ต้องการไม่ได้

มนุษย์จำนวนหนึ่งมีรูปแบบพันธุกรรมตำแหน่ง CCR5 ที่กลายพันธุ์ไปทำให้ทนทานต่อเชื้อ HIV เรียกรูปแบบพันธุกรรมนี้ว่า CCR5 delta-32 รายงานของ He ระบุว่าพันธุกรรมที่ถูกตัดแต่งนั้น "คล้าย" กับพันธุกรรม delta-32 และ "คาดว่า" จะทำให้ทารกทนทานของ HIV ได้เหมือนกัน ไม่มีใครรู้ว่าพันธุกรรมที่คล้ายกันนี้มีผลที่คาดเดาไม่ได้อื่นๆ หรือไม่ โดย He ไม่ได้ทดลองความต้านทาน HIV หลักจากตัดต่อพันธุกรรมแล้ว แต่บอกว่าจะทดลองภายหลัง

ผลต่อเนื่องจากการดัดแปลงพันธุกรรม คือ He ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย และองค์การอนามัยโลกออกมาสั่งห้ามการตัดต่อพันธุกรรมในเซลล์ต้นกำเนิด โดยในบทความเต็มยังมีการวิเคราะห์ประเด็นอื่นอีกมาก เช่น พ่อแม่เด็กที่เข้าร่วมโครงการอาจจะไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นการทดลองอะไร และมีความพยายามผิดบังช่วงเวลาที่ทารกเกิด ตลอดจนไม่แน่ชัดว่าการทดลองผ่านการตรวจสอบครบถ้วนก่อนเริ่มดำเนินการหรือไม่

ที่มา - MIT Technology Review

ภาพ He Jiankui จากวิดีโอของเขาที่ประกาศความสำเร็จในการตัดต่อพันธุกรรมทารก

Blognone Jobs Premium