ยุคสมัยที่คลาวด์คอมพิวติ้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ สตาร์ทอัพส่วนมากใช้โครงสร้างพื้นฐานทุกอย่างอยู่บนคลาวด์แทบทั้งหมด กลายเป็นคำถามให้กับองค์กรใหญ่ในประเด็นว่าควรไปใช้คลาวด์ทั้งหมดหรือไม่ ส่วนไหนควรไปใช้ ส่วนไหนไม่ควร จะไปใช้คลาวด์ควรเตรียมตัวยังไง เป็นต้น
ExxonMobil บริษัทพลังงานระดับโลกที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของ Fortune 500 ซึ่งภายในมีหน่วยงานที่เรียกว่า Global Business Center (GBC) ให้บริการธุรกิจแก่บริษัทในเครือเอ็กซอนโมบิลทั่วโลก เช่น ฝ่ายทรัพยากรบุคคล, ฝ่ายบัญชี, ศูนย์บริการลูกค้า เป็นต้น ศูนย์ธุรกิจนี้ มีอยู่ทั้งหมด 8 แห่งทั่วโลก และ GBC ในประเทศไทยเป็นศูนย์ที่ใหญ่ที่สุด โดย ExxonMobil IT ในเมืองไทยก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนา Cloud และ Digital Platform ให้กับ ExxonMobil
ExxonMobil ผ่านมาแล้วตั้งแต่ยุคเมนเฟรม ยุคเซิร์ฟเวอร์ on-premise มาจนถึงยุคคลาวด์ในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทก็ปรับตัวได้อย่างน่าสนใจและหาจุดเหมาะสมในการใช้คลาวด์ของตัวเองได้ ก่อนจะค้นพบข้อคิดสำคัญสำหรับองค์กรว่า “คลาวด์ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกอย่าง”
คุณวิริยะ โฆษะวิสุทธิ์ ExxonMobil IT Thailand Lead เล่าบนแพแนล Blognone Tomorrow ให้ฟังว่าเดิม ExxonMobil IT (รู้จักกับฝ่ายไอทีใน ExxonMobil) ใช้ระบบ on-premise ทั้งหมด ก่อนจะเริ่มพิจารณาเรื่องการใช้งานคลาวด์เมื่อราว 5-6 ปีที่แล้ว โดยทางบริษัทมองว่าคลาวด์เป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยให้บรรลุเป้าหมาย digital strategy ดังนั้นคำถามแรก ๆ ที่พิจารณาไม่ใช่ว่า “ทำไมต้องไปใช้คลาวด์” เพราะยังไงก็คงต้องไปใช้อยู่แล้ว แต่คือต้องไปเมื่อไหร่ ไปด้วยจังหวะความเร็วแค่ไหน เริ่มจากตรงไหนก่อนระหว่างบริการ Infrastructure as a Service (IaaS), Platform as a Service (PaaS) and Software as a Service (SaaS)ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงจะต้อง integrate ระบบที่อยู่บน cloud กับ on-premise อย่างไร และเรื่องของ skillset ที่ต้องมีเพื่อที่จะได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้ประโยชน์จาก cloud ได้อย่างเต็มที่มีอะไรบ้าง
ExxonMobil เลือก SaaS เป็นขั้นตอนแรกที่ย้ายขึ้นคลาวด์ โดยเลือกระบบที่มีความยุ่งยากซับซ้อนไม่มาก หรือมีผลกระทบกับการดำเนินงานอื่นๆ น้อย อย่างระบบจัดซื้อจัดจ้าง, Talent Management, Time Management, Learning Management เป็นต้น
ในช่วงเวลาระหว่างนั้น ExxonMobil ได้ศึกษาและประเมินว่าการจะใช้คลาวด์ให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างสถาปัตยกรรม (architecture) เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นตอนนี้ ExxonMobil มีบัญญัติเป็นการภายในว่า ของใหม่ๆ ที่ทำออกมาจะต้องเป็น API-first และ cloud-first แม้บางส่วนจะยังไม่พร้อม แต่อย่างน้อยก็ต้องการทำให้แอปใหม่ๆ มีความพร้อมก่อน เพื่อที่จะได้สามารถย้ายขึ้นคลาวด์ได้ง่ายต่อไป
ตัวอย่างหนึ่งที่คุณวิริยะกล่าว คือแอปในส่วน commercial และ supply chain ที่ใช้ API และ microservices architecture เชื่อมต่อกับระบบ ERP ที่อยู่บน on-premise จะ host อยู่บน OpenShift ที่อยู่บน on-premise เช่นกัน การใช้ OpenShift และสถาปัตยกรรมใหม่ช่วยให้สามารถย้ายไปใช้คลาวด์ได้ง่ายขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกันความท้าทายต่าง ๆ ก็มี โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการทำงาน ความเชี่ยวชาญ engineering practice เช่น Pair Programming, Test Driven Development, DevOps Pipeline รวมไปถึงการออกแบบสถาปัตยกรรม ที่ช่วยให้ใช้ความสามารถของคลาวด์ได้อย่างเต็มที่ ก็เป็นทักษะที่ต้องพัฒนา พยายามเรียนรู้และเก็บประสบการณ์ เพื่อให้แอปออกมาให้มีคุณภาพที่ดี ตอบโจทย์การทำงานแบบ global enterprise ให้ได้
แม้ ExxonMobil จะเปิดรับคลาวด์อย่างเต็มที่ แต่ไม่ได้หมายความบริษัทมีแผนจะย้ายไปใช้งานคลาวด์ทั้งหมดในอนาคต คุณวิริยะบอกว่า ExxonMobil จะพยายามไปใช้คลาวด์ให้ได้มากที่สุด แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้าตัวเขาก็มองว่ายังไงก็ไม่มีทางที่ทุกอย่างจะไปอยู่บนคลาวด์ 100%
คุณวิริยะมองว่าส่วนที่จะไม่ได้ถูกย้ายขึ้นไปรันบนคลาวด์หลัก ๆ น่าจะเป็นแอปที่ไม่สำคัญ (non-strategic) หรือแอปที่ไม่ต้องสเกล สามารถรอให้หมดอายุการใช้งาน (deprecated) แล้วค่อยแทนที่ด้วยแอปบนคลาวด์ทีเดียว
ส่วนที่สองคล้าย ๆ กันคือกรณีของโซลูชันจาก SAP ที่ ExxonMobil ลงทุนแบบ on-premise ไปเยอะมากแล้ว ก็คิดว่าคงจะไม่ทิ้งการลงทุนที่ผ่านมาไปเปล่า ๆ ด้วยการย้ายไปใช้คลาวด์ แต่รอให้หมดอายุการใช้งานเหมือนกัน แล้วค่อยย้ายไปตามนโยบายของ SAP
ส่วนสุดท้ายคือส่วนที่ ExxonMobil ไม่คิดจะเอาขึ้นคลาวด์แน่ ๆ ได้แก่ข้อมูลสำคัญมากๆ ที่บริษัทเป็นเจ้าของ อาทิ ข้อมูลทางธรณีวิทยา (seismic data) ก็จะเก็บไว้ในดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัทเอง การจะใช้งานคลาวด์แต่ละเจ้าก็ต้องดูนโยบายด้านความปลอดภัยเจ้านั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร รวมถึงมีการตอบสนองต่อคำขอของรัฐบาลประเทศต่างๆ มากน้อยแค่ไหน เพราะข้อมูลบนคลาวด์ที่บริษัทเป็นเจ้าของ อาจสามารถเข้าถึงได้โดยผู้ให้บริการคลาวด์เมื่อมีการร้องขอ โดยคุณวิริยะยกตัวอย่างนโยบายของผู้ให้บริการจากกรณีที่แอปเปิลปฏิเสธไม่ให้ FBI เข้าถึงข้อมูลเมื่อถูกร้องขอ เป็นต้น
คุณวิริยะบอกว่าคลาวด์ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง มันมีข้อดีของมัน แต่องค์กรต้องรู้ตัวก่อนว่าอยากได้อะไรจากคลาวด์ เช่น อาจจะอยากได้ความคล่องตัว (agility) ความเสถียร (reliability) การเปลี่ยนจากค่าใช้จ่าย fixed cost เป็น variable cost ความสามารถที่หาไม่ได้หรือไม่คุ้มที่จะทำเอง หรือเรื่องอื่นๆ ขณะเดียวกันข้อดีและข้อเสนอของแต่ละเจ้าก็ไม่เหมือนกัน ต้องศึกษา ชั่งน้ำหนัก รวมถึงต้องดูเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ดี เพราะอาจเจอกรณีว่าเราไม่รู้ว่าเราโดนชาร์จจากค่าอะไรบ้าง
สุดท้ายคือคุณวิริยะแนะนำว่าควรคิดและเตรียมการเผื่อเอาไว้ด้วยว่า หากเราตัดสินใจจะใช้งานคลาวด์เจ้าหนึ่งแล้ว เกิดไม่พอใจด้วยเหตุผลต่างๆ องค์กรจะทำยังไง การย้ายกลับหรือย้ายออกไปใช้เจ้าอื่นทำได้หรือไม่ วุ่นวายแค่ไหน ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถช่วยให้เราตัดสินใจ และวางแผนการใช้คลาวด์ให้ได้อย่างเต็มความสามารถ