AI ของกูเกิล ตรวจจับมะเร็งเต้านมจากแมมโมแกรม ลดข้อผิดพลาดที่แม้แต่แพทย์ยังพลาด

by sunnywalker
2 January 2020 - 03:06

กูเกิลออกรายงานเรื่องการใช้ AI จากสถาบันวิจัย DeepMind ตรวจจับมะเร็งเต้านมจากแมมโมแกรม พบว่าสามารถลดข้อผิดพลาดได้ดีขึ้น

กูเกิลได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยทางการแพทย์ในสหรัฐฯและอังกฤษเพื่อพัฒนาความสามารถ AI ในการตรวจจับมะเร็งเต้านมมาได้กว่า 2 ปีแล้ว

โดยกูเกิลฝึกระบบด้วยการใช้รูปแมมโมแกรมที่ไม่ระบุตัวตนจากผู้หญิงมากกว่า 25,000 คนในสหราชอาณาจักรและอีก 3,000 คนในสหรัฐอเมริกา เพื่อดูว่า AI จะสามารถสังเกตสัญญาณมะเร็งเต้านมได้หรือไม่ ผลคือ ระบบสามารถลดภาวะ false positive ได้ 5.7% ในกลุ่มผู้หญิงจากสหรัฐฯ และ 1.2% ในกลุ่มผู้หญิงจากอังกฤษ นอกจากนี้ระบบยังลดภาวะ false negative ได้ 9.4% ในกลุ่มผู้หญิงจากสหรัฐฯ และ 2.7% ในกลุ่มผู้หญิงจากอังกฤษ

ปัจจุบันแมมโมแกรมเป็นวิธีที่นิยมในการตรวจจับมะเร็ง แต่ก็ยังเป็นความท้าทาย เพราะแมมโมแกรมยังมีข้อผิดพลาดได้ รูปเอ็กซเรย์ออกมาปกติแม้จะมีมะเร็งก่อตัวอยู่ก็ตาม โดยแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า false negative และยังมีภาวะที่ภาพเอ็กซเรย์ออกมาผิดปกติ แต่ตรวจสอบแล้วไม่มีมะเร็งเต้านม ภาวะนี้เรียกว่า false positive

ทางกูเกิลระบุว่า ประสิทธิภาพของ AI ทำได้ดีกว่าคนที่ต้องตรวจจริง เพราะ AI มีข้อมูลแค่รูปแมมโมแกรม แต่แพทย์จะมีข้อมูลประวัติคนไข้ และรูปแมมโมแกรมก่อนหน้านี้ของคนไข้ด้วย ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ AI จะลดข้อผิดพลาดในการตรวจจับได้ อย่างไรก็ตาม กูเกิลบอกว่าระบบจะช่วยงานแพทย์รังสีวิทยา ไม่ได้มาแทนที่พวกเขา

ที่มา - Google Blog, The Verge

Blognone Jobs Premium