กูเกิลพัฒนา AI ตรวจจับมะเร็งเต้านมจากภาพแมมโมแกรม ความแม่นยำสูงกว่ารังสีแพทย์ เปิดทางใช้เป็นความเห็นที่สองร่วมวินิจฉัย

by lew
2 January 2020 - 03:13

ทีมวิจัยจาก Google Health เผยแพร่รายงานลงในวารสาร Nature รายงานถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับมะเร็งเต้านมจากภาพแมมโมแกรมจากชุดข้อมูลผู้ป่วยในสหรัฐฯ และในสหราชอาณาจักร โดยผลการทดสอบพบว่าปัญญาประดิษฐ์สามารถอ่านภาพได้แม่นยำกว่ารังสีแพทย์ทั้ง false positive (อ่านผลว่าเป็นมะเร็งแม้ไม่เป็น) และ false negative ความแม่นยำ AUC-ROC แม่นยำกว่ารังสีแพทย์เฉลี่ย 11.5%

ข้อมูลสำหรับการฝึกปัญญาประดิษฐ์ใช้ฐานข้อมูลภาพแมมโมแกรมจากหญิงในอังกฤษ 25,856 ภาพ และในสหรัฐฯ 3,087 ภาพ โดยภาพใช้ข้อมูลเฉลยผลจากการตัดชิ้นเนื้อยืนยันการเป็นมะเร็ง หรือภาพแมมโมแกรมยืนยันผลภายหลังภายในหนึ่งปี ส่วนการเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับรังสีแพทย์อาศัยการสุ่มภาพ 500 ภาพให้รังสีแพทย์อ่าน

ภาพที่ใช้เกือบทั้งหมดมาจากเครื่องแมมโมแกรมโดยผู้ผลิตรายเดียว และใช้ภาพแมมโมแกรมทั้งแบบสองมิติและสามมิติ โดยไม่มีการรายงานผลว่ามีประสิทธิภาพต่างกันหรือไม่

รายงานของกูเกิลจำลองกระบวนการ double-reading ที่รังสีแพทย์สองคนวินิจฉัยจากภาพแมมโมแกรมร่วมกัน โดยผลการจำลองระบุว่าซอฟต์แวร์ช่วยลดภาระงานของรังสีแพทย์ที่สองได้ถึง 88%

Etta D. Pisano ศาสตราจารย์จาก Harvard Medical School เขียนบทความลงใน Nature ระบุว่าแม้งานวิจัยนี้ผลจะน่าประทับใจ แต่ที่ผ่านมางานวิจัยแบบเดียวกันเมื่อนำไปทดสอบในโลกความเป็นจริงก็พบว่าไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการวินิจฉัยโดยรวมดีขึ้น และอาจจะทำให้รังสีแพทย์วินิจฉัยได้แย่ลง นอกจากนี้ก่อนนำระบบเหล่านี้มาใช้งานจริงก็ควรมีกระบวนการตรวจสอบความแม่นยำของปัญญาประดิษฐ์อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาการรักษาความเป็นส่วนตัวข้อมูลคนไข้ที่นำมาฝึกปัญญาประดิษฐ์

ที่มา - Nature

ตัวอย่างภาพแมมโมแกรมจาก National Cancer Institute

Blognone Jobs Premium