รีวิว Huawei Watch GT 2 สมาร์ทว็อชดีไซน์หรูแต่ฟังก์ชั่นยังไม่สมบูรณ์

by hinatasenjou
2 January 2020 - 07:49

เทรนด์การรักษาสุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ผู้ใช้หันมาสนใจสมาร์ทว็อชมากขึ้น และถ้าสังเกตจะเห็นว่าแบรนด์นาฬิกาชั้นนำหลายแบรนด์ก็ผลิตนาฬิกาประเภทนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึง Huawei Watch GT 2 ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนตุลาคมก็เป็นสมาร์ทว็อชอีกรุ่นที่มาพร้อมฟีเจอร์ด้านสุขภาพ

รีวิวนี้ผู้เขียนนำ Huawei Watch GT 2 ไปใช้งานมาหนึ่งสัปดาห์แบบผู้ใช้ทั่วไป ไม่ได้เข้าฟิตเนส ว่ามีจุดไหนน่าสนใจและมีจุดแตกต่างจาก Apple Watch ที่เคยใช้งานมาก่อนแค่ไหน

หน้าปัดทรงกลมแบบนาฬิกาชั้นนำ

หน้าปัดทรงกลมของ Huawei Watch GT 2 มีสองขนาดให้เลือก คือ 42 มิลลิเมตร และ 46 มิลลิเมตร โดยรุ่นที่รีวิวเป็นรุ่น Classic สายหนัง ขนาด 46 มิลลิเมตร มีปุ่มควบคุมอยู่ที่ฝั่งขวาของหน้าปัดเท่านั้น โดยขนาดของหน้าปัด 42 มิลลิเมตร จะดูเหมาะกับผู้หญิงและผู้ชายแขนเล็ก ส่วนขนาด 46 มิลลิเมตร ตัวเรือนถือว่าใหญ่ไม่แพ้นาฬิกา Casio เรือนเหล็กเลย จึงดูเหมาะกับคนแขนใหญ่มากกว่า

ส่วนของปุ่มควบคุม ปุ่มบนจะใช้เรียกเมนูต่าง ๆ ออกมา ส่วนปุ่มล่างเป็น shortcut ไว้เรียกแอปที่ตั้งค่าเอาไว้ขึ้นมา ส่วนด้านใต้ตัวเรือนจะเป็นจุดที่ฝังเซนเซอร์กับจุดชาร์จไฟเอาไว้สำหรับวัดชีพจร ลำโพงติดตั้งไว้ฝั่งเดียวกับปุ่มควบคุม ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นไมโครโฟนใช้คุยโทรศัพท์ได้

การเปลี่ยนสายนาฬิกาสามารถเลื่อนสลักที่โคนสายแล้วดึงสายเดิมออกได้เลย โดย Huawei Watch GT 2 จะใช้สายขนาด 22 มิลลิเมตร นอกจากสายนาฬิกาแบบหนัง จะมีสายแบบยางและสายโลหะให้ซื้อเพิ่ม

นอกจากนี้ในกล่องจะมีตัวแท่นชาร์จไร้สายสำหรับนาฬิกาและสาย USB-C อีกอย่างละชิ้น

แบตเตอรีใช้ต่อเนื่องถึง 1 สัปดาห์

Huawei เคลมเอาไว้ว่า Watch GT 2 สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ 2 สัปดาห์ (14 วัน) ทางผู้เขียนทดลองชาร์จแบตให้เต็มแล้วทดลองใช้ดู ระหว่างใช้งานมีการแจ้งเตือนจากโซเชียลและแอปแชตเป็นระยะ ๆ รวมทั้งรับสายจากนาฬิกาบ้าง ผ่านไป 1 สัปดาห์ แบตเตอรีเหลือ 30% พอดี เฉลี่ยแล้วแบตเตอรีจะลดราว 10% ต่อวัน

ถ้าใช้งานต่อไป คาดว่า Huawei Watch GT 2 น่าจะแบตเตอรีหมดในวันที่ 10 ถึงจะไม่นานเท่าที่ Huawei เคลมเอาไว้แต่นับว่าใช้ได้นานทีเดียว ผู้เขียนคิดว่าถ้าจะใช้ให้นานเท่าที่ Huawei เคลมไว้ คือปิดการแจ้งเตือนต่าง ๆ รวมทั้งการรับสายที่นาฬิกาทิ้งไปจะช่วยให้ใช้งานได้นานขึ้น พอแบตหมดก็ชาร์จกลับมาเต็มโดยใช้เวลาราวหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น

ฟังก์ชั่นและการควบคุม

การจับคู่ Huawei Watch GT 2 กับสมาร์ทโฟนต้องทำผ่านแอป Huawei Health เท่านั้น และแอปจะบังคับผู้ใช้ติดตั้ง Huawei Mobile Services เพิ่มด้วยโดยทำผ่านแอป Huawei Health รวมทั้งการอัพเดตเฟิร์มแวร์ของนาฬิกาก็จะทำผ่านแอปเช่นกัน

พอเชื่อมต่อนาฬิกากับมือถือแล้ว ที่แถบแจ้งเตือนจะมีแถบแสดงการเผาผลาญของร่างกาย นับเป็นกิโลแคลอรี (kcal) และนับก้าวเดินของผู้ใช้ แต่ทั้งสองค่าที่แสดงนั้นเป็นการเฉลี่ยมากกว่า เนื่องจากผู้เขียนทดลองถอดนาฬิกาและเอาไปแค่มือถือตัวแอปก็ยังนับก้าวอยู่ดี

ใน Huawei Health จะมี 4 หมวดหลักให้ผู้ใช้เลือก คือ Health เพื่อดูสรุปข้อมูลสุขภาพส่วนตัว, Exercise ฟังก์ชั่นออกกำลังกาย, Device ที่ใช้จับคู่กับสมาร์ทโฟนและใช้โหลดเพลงเข้านาฬิกาผ่าน Bluetooth หรือเปลี่ยนหน้าปัดและ Me สำหรับตั้งค่าทั่วไป

ที่นาฬิกา เมื่อปัดหน้าจอจากขอบล่างขึ้นบนจะเปิดดูการแจ้งเตือน ส่วนปัดจากขอบบนลงล่างจะเปิดแถบควบคุมนาฬิกาออกมา เลือกได้ 5 คำสั่งคือ ห้ามรบกวน (No Disturb), Show Time, Find Phone พอกดแล้วมือถือที่จับคู่กับนาฬิกาจะส่งเสียงร้องให้ผู้ใช้หาเครื่องเจอง่ายขึ้น, Alarm ที่สั่นเป็นจังหวะตอนถึงเวลาปลุก, Settings ทางลัดไปตั้งค่านาฬิกา

การปัดจากขอบซ้ายหรือขวา จะเปลี่ยนจากหน้าปัดนาฬิกาเป็นกราฟแสดงอัตราการเต้นของหัวใจ, กราฟความเครียด (น่าจะวัดจากจังหวะการเต้นของหัวใจอีกที), สภาพอากาศและอุณหภูมิในพื้นที่ที่เราอยู่, แอปเล่นเพลง (Music) และ Activity records ที่รวมฟีเจอร์นับก้าว, การเตือนให้ลุกขึ้นยืนและบันทึกการออกกำลังกายเอาไว้ด้วยกัน เหมือนใน Apple Watch เป็นฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้ไม่นั่งติดเก้าอี้นานจนเสียสุขภาพ

การเปลี่ยนหน้าปัดนาฬิกาจะใช้วิธีการเดียวกับ Apple Watch คือเปลี่ยนที่แอปที่เชื่อมต่อกับนาฬิกาหรือแตะค้างที่หน้าจอค้างไว้สักครู่แล้วเลือกเปลี่ยน และมีหน้าปัดให้เลือกหลายแบบเช่นกัน

ใช้จริงถือว่าดี แต่ยังมีจุดต้องปรับปรุง

การแจ้งเตือนต่าง ๆ ที่หน้าปัดของ Huawei Watch GT 2 จะแสดงข้อความแจ้งเตือนเพียงส่วนหนึ่ง เมื่อแตะเข้าไปอ่านถึงแสดงข้อความทั้งหมด โดยเป็นตัวอักษรอย่างเดียวไม่มีอีโมจิหรือรูปภาพ

การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ผู้เขียนทดลองใส่คู่กับ Apple Watch เพื่ออ้างอิง ปรากฏว่านาฬิกาทั้งสองเรือนแสดงผลการวัดอัตราการเต้นของหัวใจตรงกัน ส่วนอัตราการเต้นหัวใจของ Huawei จะเปลี่ยนถี่กว่า Apple Watch เล็กน้อย

การฟังเพลงจากนาฬิกา ถ้าโหลดเพลงเข้านาฬิกาไว้เรียบร้อยแล้วสามารถฟังผ่านแอป Music ในนาฬิกาได้เลย และสามารถเชื่อมกับหูฟังไร้สายผ่านบลูทูธได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านสมาร์ทโฟนเลย โดยผู้เขียนทดลองกับ Redmi AirDots แล้วทำงานตามปกติ

จุดที่ไม่ประทับใจ คือแอป Music ใน Huawei Watch GT 2 เรียกแอปฟังเพลงบนมือถือขึ้นมาโดยตรงแบบ Apple Watch เรียก Apple Music, Spotify ไม่ได้ ผู้ใช้ต้องเปิดแอปฟังเพลงในมือถือด้วยตัวเองก่อน แล้ว Watch GT 2 จะทำหน้าที่เป็นรีโมตเท่านั้น คิดว่า Huawei ควรปรับปรุงส่วนนี้เป็นจุดแรก

จุดด้อยต่อมาคือ นาฬิกายังบังคับใช้ฟังก์ชั่นที่มีให้เท่านั้น ไม่รองรับการเชื่อมต่อกับแอปภายนอก ผิดกับ Apple Watch ที่รองรับแอปอื่น ๆ และประสานงานกันได้ดีกว่า เช่น Spotify ที่คุมแอปในมือถือได้เลย, กดอ่านข่าว CNN บนนาฬิกาแล้วเห็นภาพและเนื้อหาข่าว, แอปกล้องที่หน้าปัดนาฬิกาเป็นหน้าจอกับชัตเตอร์ ทำให้ตั้งกล้องถ่ายง่ายขึ้น การมีข้อจำกัดแบบนี้เลยทำให้ Huawei Watch GT 2 ปรับเข้ากับไลฟ์สไตล์เฉพาะของแต่ละคนได้ลำบาก ยิ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งในสายแอนดรอยด์อย่าง Galaxy Watch Active 2 ที่สามารถลงแอปผ่าน Galaxy Store ได้ ก็อาจทำให้ Huawei Watch GT 2 ดูเสียเปรียบกว่าเล็กน้อย

จุดอ่อนอีกจุด คือการสัมผัสหน้าจอ ถึงจะตอบสนองดีแต่พอปัดเลื่อนหาแจ้งเตือนหรือฟังก์ชั่นที่อยากใช้กลับแสดงผลไม่ลื่น เกิดอาการหน่วงอย่างรู้สึกได้ แตกต่างจาก Apple Watch หรือเป็นสมาร์ทว็อชแอนดรอยด์ด้วยกันอย่าง Galaxy Watch Active 2 แล้ว ถือว่า Huawei Watch GT 2 แสดงผลไม่ลื่นเลย ทำให้ตอนใช้งานยังขัดใจอยู่พอควร

สรุป

Huawei Watch GT 2 นับเป็นนาฬิกาที่ดีอีกเรือนสำหรับผู้ใช้ที่อยากได้สมาร์ทว็อชสักเรือน ใช้ได้ทั้งออกกำลังกายหรือไปงานสังคม โดยเฉพาะคนที่ออกกำลังกายจะใช้ประโยชน์จากนาฬิกาเรือนนี้ได้เต็มที่มาก ราคา 5,990 บาท นับว่าไม่แพงมาก จึงเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับใครหลายคน

ในทางกลับกัน Huawei Watch GT 2 มีจุดอ่อนหลักคือมันบังคับให้เราใช้แอปที่มีอยู่ ติดตั้งแอปอื่นให้เหมาะกับการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคนไม่ได้ เลยทำให้ใช้งานได้ค่อนข้างจำกัด รวมทั้งการแสดงผลที่ไม่ลื่นไหลแบบสมาร์ทว็อชยี่ห้ออื่น ซึ่งสองจุดอ่อนใหญ่นี้ส่วนตัวรู้สึกว่าทำให้ Watch GT 2 เสียเปรียบคู่แข่งอยู่บ้าง

Blognone Jobs Premium