ต่อจาก Dell Studio 1535 (ตอนที่ 1, ตอนที่ 2) เรามาดู Studio 15" อีกรุ่นที่โตขึ้นมาอีกนิด (นิดจริงๆ) นั่นคือ Dell Studio 1555
ประเด็นเรื่องกลุ่มเป้าหมายของโน้ตบุ๊กรุ่น Dell Studio นั้นผมเขียนไปแล้วในรีวิว 1535 ตอนแรก ดังนั้นเราเข้ามาส่วนของสเปกเครื่องกันเลย
ส่วนที่เน้นตัวหนาไว้คือจุดเด่นของโน้ตบุ๊กตัวนี้ ได้แก่ Core 2 Duo ซึ่งมากับแพลตฟอร์ม Centrino 2 ปี 2008 (รหัสของแพลตฟอร์มเป็น Montevina ส่วนตัวซีพียูเป็นแกน Penryn), จอ wide อัตราส่วน 16:9 และไดรว์ Blu-ray
ถ้าเปรียบเทียบกับ Dell Studio 1535 ในตอนก่อน ส่วนที่ขาดหายไปคือตัวอ่านลายนิ้วมือ ส่วนที่ลดลงคือแรม, ฮาร์ดดิสก์ (พวกนี้ขึ้นอยู่กับตัวเลือกตอนสั่งเครื่อง แต่ของเครื่องทดสอบมันมาแบบนี้) USB หายไปหนึ่งพอร์ต และน้ำหนักลดลงเล็กน้อย (เป็นข้อดี :D)
Dell Studio 1555 ใช้บอดี้เดียวกับ 1535 แทบทุกประการ ส่วนต่างที่เห็นได้ชัดคือมันยาวกว่านิดหน่อย (เป็นผลจากขนาดหน้าจอ) และเครื่องทดสอบเป็นสีน้ำเงินเท่านั้นเอง
หน้าตาโดยรวม
ด้านข้าง
เปรียบเทียบส่วนต่างความยาว
เทียบขนาดกับวัตถุอื่น
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูในรายละเอียดแล้ว ก็มีความต่างในจุดย่อยอยู่ประมาณหนึ่ง เช่น คีย์บอร์ดถึงแม้จะเรืองแสงเหมือนกัน แต่ว่ามันกลับไม่มีไฟแสดงสถานะ (พวก Caps Lock) อันนี้ผมแปลกใจมาก (ดูเทียบตำแหน่งกับรูปนี้)
พอร์ตด้านข้างก็มีการจัดเรียงที่ต่างกันเล็กน้อย ฝั่งซ้ายมือจะเห็นว่า SD reader หายไปถ้าเทียบกับ 1535
ส่วนด้านขวาจะเห็น SD reader ที่ย้ายตำแหน่งมา ทำให้ USB ต้องย้ายมาอยู่ใต้ไดรว์และเหลือเพียงอันเดียว (ทำให้ 1555 มี USB เพียง 3 อัน น้อยกว่า 1535 ที่มี 4 อัน)
ปุ่มเปิดเครื่องอยู่ด้านข้าง และส่องสว่างเหมือนกัน อีกข้อคือลายน้ำตรงทัชแพดไม่มีในเครื่องนี้
เช่นเดียวกับเครื่อง 1535 ที่ได้มาทดสอบ เป็นเครื่องที่ผ่านสมรภูมิ Com-Mart มาอย่างโชกโชน (มันลง Winning เอาไว้ด้วยนะครับ) ผมก็จัดการล้างเครื่องใหม่เพื่อทดสอบแบบที่ทำกับ 1535 แต่ปรากฎว่ากดปุ่ม Recovery แล้วไม่เวิร์ค
ผมเลยแก้ปัญหาโดยใช้แผ่น Vista ที่มากับชุดของเครื่อง (ไม่แน่ใจว่าเป็นของเครื่องไหนกันแน่) ลงใหม่แบบ Clean Install โชคดีที่พาร์ทิชันเก็บไดรเวอร์ของเครื่องนี้ยังอยู่ปลอดภัยดี ทำให้การลงใหม่ไม่ลำบากมากนัก (อย่างไรก็ตามผมลองเข้าไปดูในเว็บของ Dell และค่อนข้างประทับใจกับหน้าโหลดไดรเวอร์ที่ทำได้ดีมาก มี batch download เลือกชุดไดรเวอร์ที่ต้องการแล้วโหลดเป็นไฟล์เดียวได้)
เครื่องนี้ล็อกมาเป็น Vista Home Premium แบบ 64 บิท จุดนี้ผมไม่แน่ใจนักว่าทำไม Dell ถึงเลือกเป็น 64 บิทมาให้ แต่ในการใช้งานทั่วไป ถ้าไม่ต้องใช้โปรแกรมจำพวก security ที่แบ่งรุ่น 32-64 บิทชัดเจนก็ไม่มีความแตกต่างจากรุ่น 32 บิทแต่อย่างใด
เครื่องนี้ได้คะแนน Windows Experience Index 5.2 ซึ่งเป็นผลมาจากการ์ดจอนั่นเอง
หน้าจอความละเอียด 1366x768
ขอลอง Blognone แบบ 16:9 หน่อย
กว้าง........
จับเวลาการบูตและปิดเครื่อง
ส่วนของ Vista ก็ไม่มีอะไรให้ทดสอบมากนักเพราะทุกคนก็รู้จัก Vista กันดีแล้ว ของเล่นที่น่าสนใจกว่าคือ Blu-ray (โอ้โห)
ปัญหาตามมาทันทีว่าจะไปหาแผ่น Blu-ray จากไหนมาทดสอบ!!! ลองถามหาจากเพื่อนฝูงหลายคนที่มี PS3 ส่วนมากก็มีแต่เกมไม่มีแผ่นหนังเลย สุดท้ายได้คุณ @kengggg ช่วยชีวิต ให้แผ่นแถมเบื้องหลังการถ่ายทำ Metal Gear Solid 4 มายืมใช้งาน
ผมไม่เคยมี Blu-ray มาก่อน ตอนใส่แผ่นครั้งแรกก็ตื่นเต้นเล็กน้อย (ยังจำประสบการณ์การดู DVD แผ่นแรกกันได้ไหมครับ?) แผ่นดูดเข้าไปแล้วก็เจอกับหน้าจอ AutoPlay
Dell ให้โปรแกรม Dell Player ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็น PowerDVD DX มาให้ สั่งโหลดเข้าไปก็พบกับคำถามว่าต้องการอัพเดตตัวเอง (อัพเดตคีย์) หรือไม่ ตรงนี้ตอบว่าไม่สนใจก็ยังทำงานต่อได้
ผมมาเข้าใจความเลวร้ายของ DRM แบบแจ่มชัดก็การทดสอบครั้งนี้ล่ะครับ เนื่องจากว่าการเล่นแผ่น Blu-ray นั้นถูกออกแบบมาอย่างดีให้ก็อปปี้ได้ยาก ดังนั้นทันทีที่ PowerDVD DX เริ่มทำงาน ผมก็ไม่สามารถ capture ภาพหน้าจอด้วยปุ่ม Print Screen ได้อีกต่อไป (โอว กันไว้ขนาดนี้เลย) ทางออกเดียวที่เป็นไปได้ในการหาภาพมารีวิวก็คือถ่ายรูปเท่านั้น
Hideo Kojima หน้าใสกิ๊ง ชัดแจ๋ว (ถ้าเป็น MV เพลง Gee น่าจะดีกว่านี้มาก)
ประสบการณ์การเล่น Blu-ray ก็เป็นไปตามคาด ชัดเจน เต็มหน้าจอ 16:9 ไม่มีขอบดำ เสียแต่ว่ามันป้องกันไว้เยอะมากจนเซ็งก็เท่านั้น
ลองทดสอบการเล่นหนังความละเอียดสูงด้วยไฟล์อื่นๆ ก็ได้ผลดีครับ อันนี้เป็น Elephants Dream ไฟล์เดียวกับที่ใช้ใน 1535 จะเห็นว่ามันเต็มจอดีมาก
อีกไฟล์ที่ผมใช้ทดสอบคือ เทรลเลอร์ของ Terminator 2 แบบ HD ซึ่งผมโหลดมาจากเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ ฟอร์แมตเป็น WMV
ตอนหน้าก็มาว่ากันด้วย Ubuntu และเบนช์มาร์คเช่นเคย