อุตสาหกรรมการเงินและธนาคารเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงเทคโนโลยีที่เร็วเป็นอันดับต้น ๆ และด้วยความที่ธนาคารเป็นองค์กรใหญ่ การเปลี่ยนแปลงในแต่ละองค์กรจึงมีรูปแบบเฉพาะตัวตามโครงสร้างองค์กรที่ต่างกันไป
CIMB THAI เป็นธนาคารขนาดเล็ก ที่ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลโดยเลือกการสร้างทีม Digital Technology ขึ้นมาใหม่หมด เพื่อตอบโจทย์ของลูกค้าให้ได้มากที่สุดและเป็นแนวหน้าในการพา CIMB THAI เปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคต
แน่นอนว่าทีมที่ค่อนข้างใหม่แบบนี้ CIMB THAI เลยอยากได้คนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกัน
CIMB THAI อยู่ภายใต้ CIMB Group ซึ่งเป็นกลุ่มการเงินขนาดใหญ่สัญชาติมาเลเซีย ที่มีบริษัทลูกอยู่ทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงในประเทศไทยในชื่อธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB THAI Bank) ที่ใช้นโยบายหลักเดียวกัน โดยปรับให้เข้ากับบริบทของสังคมไทยมากขึ้น
แต่เดิมการพัฒนาแอปพลิเคชัน มีความจำเป็นต้องรอการสนับสนุนจากทีม Dev ส่วนกลางของ CIMB Group ที่มาเลเซียและเวนเดอร์ภายนอก ทำให้กระบวนการต่าง ๆ ไม่รวดเร็วเท่าที่ต้องการ อีกทั้งกระบวนการพัฒนาที่เป็น waterfall ส่งผลให้ CIMB THAI ขยับตัวด้านเทคโนโลยีค่อนข้างช้า
คุณโจ - ฉัตรชัย แซ่อึ้ง ตำแหน่ง Head, Digital Technology เล่าว่าแนวทางของ CIMB THAI จึงเป็นการสร้างทีม Digital Technology แยกขึ้นมาต่างหาก เหมือนเป็นบริษัทเทคโนโลยีภายใน มีกระบวนการทำงานและวัฒนธรรมที่แยกออกมาเป็นอิสระ แม้จะยังคงมีบางส่วนที่ต้องเติมเต็มกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ก็ถือว่ามีความรวดเร็วคล่องตัวมากขึ้นกว่าเดิม คุณโจเปรียบว่าทีมนี้เหมือนเป็นสตาร์ทอัพ ที่มีแบ็คเป็นธนาคารใหญ่ ทำให้มีความมั่นคงกว่ามาก
“ทีม Digital Technology มีอายุได้ราว 1 ปี กว่า ๆ แล้ว งานแรกของทีมคือสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับผลิตภัณฑ์ลูกค้าทั่วไป อย่างแอป CIMB THAI Digital Banking ขึ้นมาใหม่แทนที่ของเดิม แน่นอนว่าเราเลือกใช้ Microservice Architecture และประยุกต์ใช้ Container Technology เชื่อมต่อกับ Legacy System อย่าง Core Bank รวมถึงระบบของภาครัฐอย่าง Promptpay, ITMX หรือ NDID ขณะเดียวกันก็ทำ API Gateway สำหรับเชื่อมกับฝั่ง front-end รวมถึง API ของพาร์ทเนอร์”
ปัจจุบันการพัฒนา Digital Platform มีการพัฒนาไปได้ด้วยดี ซึ่ง Mission ต่อไปของทีมคือการ Utilize ฟังก์ชันงานต่างๆที่มีความเป็นไปได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันกระบวนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีหลังบ้านของ CIMB THAI ทั้งหมด
เครื่องมือที่ทีม Digital Technology ใช้ จะเป็นโอเพนซอร์สเสียส่วนมาก ยกตัวอย่างเช่น Development Tools เราใช้ Jenkins, SonarQube, GitLabs ส่วน Platform solution ใช้ OpenShift หรืออื่นๆ เช่น HAProxy, Redis, MySQL, Elastic Search, Grafana, Prometheus และ Kibana เป็นต้น
ส่วนภาษาที่ใช้ก็มี Java, Swift, Kotlin และ Django
ทีม Digital Technology เลือกประยุกต์ Agile SCRUM practice ซึ่งระยะเวลาของ Sprint จะอยู่ที่ประมาณ 3 สัปดาห์ ภายในทีมย่อยจะเป็นการรวมผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาสร้างเป็นทีมย่อยๆ ซึ่งเราจะเรียกกันว่า squad เพื่อให้กระบวนการต่าง ๆ กระชับที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
นอกจากนี้ในทุก ๆ ครึ่งวันสุดท้ายของ sprint จะเป็นช่วงส่งเสริมการเรียนรู้ของคนในทีมว่าเจออะไร ระหว่างทำงาน คือนำความรู้ที่ได้มาแลกเปลี่ยนกัน หรือ อาจเป็นการทดลองสร้างนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ ที่อยากทำ เพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับ sprint ถัดไป
และด้วยการมีรากฐานอยู่ในอาเซียน ทำให้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับคนต่างชาติอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนพนักงานจากประเทศอื่น หรือ คนที่มาจากบริษัทแม่ที่มาเลเซีย รวมถึงโอกาสที่จะได้เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศด้วย
คุณโจบอกว่า จุดเด่นของที่นี่คือการทำงานทุกอย่างเหมือนสตาร์ทอัพ อาทิ มี Macbook ให้ใช้งาน โดยมีการควบคุมการใช้งานในระดับที่ไม่เกิดความเสี่ยงต่อธุรกิจ แต่ก็ไม่ทำให้การทำงานติดขัด สามารถเข้าถึงเวบไซต์ที่จำเป็นต่อการทำงานได้ทั้งหมด มีเวลาเข้างานที่ยืดหยุ่น มีคอร์สฝึกอบรมทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีการจัดแข่ง Hackathon ของ CIMB Group ที่มาเลเซียซึ่งก็มีการส่งคนไปร่วมทุกครั้ง วันลาพักร้อนขั้นต่ำ 15 วัน
แต่สิ่งที่เหนือกว่าคือมีทรัพยากรและการสนับสนุนด้านสวัสดิการในระดับบริษัทใหญ่ อย่างทุนการศึกษาระดับปริญญาโท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และที่สำคัญคือสวัสดิการด้านเงินกู้ ที่จะได้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ อีกทั้งประกันสุขภาพกลุ่มและการตรวจสุขภาพประจำปีที่เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
คุณโจบอกว่าคนที่จะเหมาะสมกับที่ CIMB THAI คือคนที่ไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา มี passion ในการทำงาน มีความรับผิดชอบในงานที่ทำ ขณะเดียวกันก็สามารถบาลานซ์เรื่องงานและไม่ใช่งานได้ด้วย
คุณนนทนันท์ สุดลาภา
Development Team Lead
คุณอธิบญาณ ภาคย์สุภาพ
UX Designer
คุณกัญญณัช บุญสิทธิผล
Quality Assurance