ที่มา : BioLawCom.De
สงครามค่ายไอที เป็นเรื่องที่มีให้เห็นตลอดเวลา ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แล้วแต่กาละเทศะ มีตั้งแต่สงครามระบบปฏิบัติการ Windows vs. Linux vs. Mac OS X สงครามภาษาเขียนโปรแกรม Java vs. Python vs. Ruby vs. C# สงครามฐานข้อมูล MySQL vs. PostgrSQL vs. MS SQL vs. Oracle สงคราม Open Source vs. Proprietary สงคราม ค่ายหนัง ค่ายเพลง vs. BitTorrent สงคราม Search Engine etc. นับกันไม่หวาดไม่ไหว
โดยส่วนตัว ผมชอบอ่านอะไรแบบนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะผมซาดิสต์เท่านั้น แต่ผมรู้สึกว่า หากถกกันเรื่องพวกนี้ แล้วยกเหตุ และปัจจัยมาฟัดมาเหวี่ยงกัน นากจากจะได้ความเพลิดเพลินในการอ่านแล้ว ยังได้ความรู้และมุมมองใหม่ ๆ อีกด้วย (บางครั้งมันนำไปสู่ innovation) แต่ส่วนมากแล้ว กรอบในการปะทะคารมมักไม่ได้หยุดอยู่เพียงนั้น มันมักจะลามปาม ออกนอกลู่นอกทาง เกิดการกระทบกระแทกเสียดสี บางคนถึงขนาดละทิ้งหลักแห่งเหตุผล ไปลงเอากับความเชื่อ เข้าขั้นไสยศาสตร์ก็มีไม่น้อย ใช่ว่าอาการผีเข้าแนว ๆ นี้จะไม่เคยเกิดขึ้นกับผม มันไม่เคยละเว้นใคร ผมเองก็ต้องคอยระวังเนื้อ ระวังตัว ระวังปาก ระวังคำอยู่บ้างเหมือนกัน
แต่เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเรากำลังถูกไสยศาสตร์เข้าครอบงำ ?
หลวงพ่อ หรือหมอผีก็บอกเราไม่ได้ครับ เราต้องตรวจสอบตัวเอง เมื่อไรที่เรารู้สึกว่า สิ่งที่เราชอบไม่มีข้อเสียอะไรเลยแม้แต่น้อย ทุกอย่างดีไปหมด นั่นแหละ คุณกำลังถูกไสยศาสตร์เข้าครอบงำ และกำลังกลายเป็นสาวกของอะไรบางอย่าง ทุกอย่างในโลกนี้ ย่อมมีข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง อยู่ที่ว่าข้อดีกับข้อเสียเหล่านั้น มันเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เราจะนำมันมาใช้งานหรือไม่
แต่ระยะหลังมานี้ ในโลกไซเบอร์ของคนไอที มีเหล่าสาวกของ Apple ปรากฏกายให้เห็นบ่อยครั้ง และบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ จนสร้างความอึดอัดใจให้กับใครหลาย ๆ คน (รวมถึงกรณีตัวอย่างที่ยกมา คือ คุณ mk) ที่น่าสนใจคือ ทำไมสาวก Apple จึงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และอะไรที่สาวก Apple สร้างความอึดอัดใจให้กับคนอื่น
ทำไมสาวก Apple จึงมีมากขึ้น ก็เพราะมีคนใช้ Apple กันมากขึ้น แล้วทำไมคนใช้ Apple กันมากขึ้น ตอบแบบกำปั้นทุบดิน คือ การตลาดของ Apple ดี ยุทธวิธีการขายของ Apple นั้นง่าย ๆ ครับ ทำสินค้าของตัวเองให้เป็นแฟชั่น มากกว่าจะเป็นสินค้าไอที ทำให้คนใช้รู้สึกว่า การใช้ Apple มันเท่ห์ ความเทห์ของ Apple อยู่ที่ดีไซน์อันโดดเด่น และการออกแบบตามหลักการ minimalist พร้อมกับโฆษณาตัวโต ๆ ว่า "The best practice" แน่นอนว่า การตลาดและโฆษณาเพียงสองอย่างคงไม่พอ ตัวผลิตภัณฑ์เองก็ต้องมีคุณภาพ และราคาอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ด้วย
ผมยอมรับว่าผลิตภัณฑ์ Apple มีความลงตัวมาก ในเรื่องของ ดีไซน์ คุณภาพ ราคา และความเท่ห์ แต่ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ Apple มีความพิเศษอยู่ที่ เราไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Apple ได้ โดยพิจรณาเพียงแค่
ดีไซน์ คุณภาพ และราคาได้ เพราะมีสินค้าหลายยี่ห้อ ที่มอบดีไซน์ และคุณภาพของสินค้าให้กับลูกค้าได้พอ ๆ กับ Apple ในสนนราคาที่ต่ำกว่ามาก ดังนั้น ตัวแปรสำคัญที่สุดในเรื่องนี้ คือ ความเท่ห์
สิ่งที่ Apple หยิบยื่นให้กับลูกค้า ผ่าน MacBook ไม่เหมือนกับการขายโน้ตบุ้คคุณภาพอย่าง ThinkPad ที่ IBM หรือ Lenovo ทำ การขาย iPhone ไม่เหมือนกับการขาย Smart Phone อื่น ๆ ที่ Blackberry หรือ Nokia หรือ Motolora หรือ Samsung ทำ การขาย iPod ไม่เหมือนการขาย Walkman หรือเครื่องเล่น MP3 อื่น ๆ แต่สิ่งที่ Apple กำลังทำอยู่ไม่ต่างจากการขาย Prada หรือ Luis Vuitton หรือสินค้าฟุ่มเฟือยอื่น ๆ (แต่ผมก็ยอมรับว่าการซื้อ Apple ไม่ฟุ่มเฟือยเท่าซื้อ Prada หรือ Luis Vuitton) สิ่งที่มากับ MacBook, iPhone หรือ iPod ไม่ได้มีแค่วงจรอิเลคโทรนิค แต่รวมไปถึง life style ที่สามารถบอกสถานะทางสังคม วิธีการใช้ชีวิตของผู้ใช้ เป็นเครื่องมือที่ผู้ใช้ต้องการบอกคนอื่นว่า "ฉันก็ Cool เหมือนกันนะ" (สำหรับคนที่ใช้ Apple ด้วยเหตุผลอื่น ๆ ก็อย่าว่ากันนะครับ ผมแค่พยายามอธิบายพฤติกรรมของเหล่าสาวกเฉย ๆ)
ดังนั้นโฆษณา Apple ที่เราเห็น มันจะไม่ใช่โฆษณาขายสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นโฆษณาที่มาพร้อมกับ life style แบบเท่ห์ ๆ เสมอ เช่น มีเพลงประกอบเทห์ ๆ มีท่าเต้นเทห์ ๆ มีการใช้ชีวิตแบบเท่ห์ ๆ แต่เนื่องจากความเท่ห์เป็น relation หรือความสัมพัทธ์ การมีอยู่เพียงหนึ่งเดียวไม่สามารถประกาศความเท่ห์ได้ เราจึงได้เห็นโฆษณาชุด Get a Mac ซึ่งมีนัยะของการข่มผู้ใช้ PC ทั่วไปเพื่อประกาศความเท่ห์ของผู้ใช้ Apple อยู่
ในเมื่อความเท่ห์เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า Apple เป็นปัจจัยที่สำคัญพอ ๆ กับ ดีไซน์ คุณภาพ และราคา ลองคิดดูครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากมีคนเสนอแนวคิดที่ว่า "ผลิตภัณฑ์ Apple ราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น" หรือ "ผลิตภัณฑ์ Apple ไม่ได้มีคุณภาพดีกว่าผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่น" หรือ "Apple ไม่ได้ใช้ง่ายอย่างที่ใคร ๆ เข้าใจกัน" ในห้วงความคิดแรก หลายคนอาจมองว่าไม่เกี่ยวกับความเท่ห์เท่าไร แต่จริง ๆ แล้วมันเกี่ยวแบบเต็ม ๆ เพราะความเท่ห์ของ Apple ไม่ได้มีเพียงเรื่องดีไซน์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความฉลาดในการเลือกซื้อด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น ความขัดแย้งย่อมบังเกิด การประกาศความเป็นสาวก เพื่อปกป้องความเท่ห์ของการเลือกใช้ Apple จึงมีให้เห็น สงครามสาวก Apple vs. The Other จึงเลี่ยงไม่ได้ และมักจะจบตรงบทสรุปที่ว่า สินค้า Apple ดีทุกประการ (ในสายตาสาวก) ส่วนคนอื่น ๆ ก็เบื่อและเลิกไปเอง (ส่วนหนึ่งเพราะคิดว่า ไม่ได้ควักเงินซื้อของให้สาวก)
ด้วยประสบการณ์ส่วนตัว ผมคิดว่า ผมจะไม่ซื้อสินค้าของ Apple อีก หากการตลาดและ Product Line ของ Apple ยังคงเป็นอยู่แบบในตอนนี้ ผมเคยซื้อสินค้ายี่ห้อ Apple มาใช้งานสองชิ้น และเคยสัมผัส Mac OS X (จาก MacBook ของรุ่นน้อง) และ iPhone (จากร้าน Telekom) มาบ้าง สำหรับ Mac OS X และ iPhone ผมคงไม่วิจารณ์อะไรมากนัก เพราะ จุดแข็งของ Mac OS X อยู่ที่ Usability แต่ Usability สำหรับผมคือความเคยชิน และผมเป็นคนไม่ชอบใช้ Smart Phone อยู่แล้วก็เลยไม่ได้สนใจ iPhone มากนัก
แต่ iPod สองเครื่องที่ผมซื้อมา ทำให้ผมมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับ Apple อย่างมาก ด้วยเหตุผลดังนี้
สุดท้ายผมเลยเลิกใช้ iPod ทั้งที่มันยังไม่พัง (แต่แฮงค์บ่อยมาก) แล้วซื้อ Phillip GoGear มาใช้งานแทน รู้สึกมีความสุขในการใช้งานมากกว่ากันมากมาย ด้วยความไม่ประทับใจเหล่านี้ ผมจึงไม่อยากซื้อสินค้า Apple มาใช้งานอีก ยิ่งเมื่อพิจรณาถึงปัจจัยเรื่อง feature, คุณภาพ และราคาด้วยแล้ว ความน่าซื้อของ Apple ก็ยิ่งลดลง
ผมตั้งใจไว้ว่า หลังจากเรียนจบจะซื้อโน้ตบุ้คใหม่หนึ่งเครื่อง (งานที่ผมทำอยู่เป็นงาน Simulation และ Data Processing ที่ใช้พลังการคำนวนเยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เลยใช้เป็นข้ออ้างในการเปลี่ยนโน้ตบุคได้บ่อย ๆ) หนึ่งในตัวเลือกที่ผมสนใจคือ MacBook ด้วยเหตุผลที่ว่า หากใช้ MacBook ผมก็จะสามารถใช้ระบบปฏิบัติการที่สำคัญได้ครบทั้งสามตัว คือ Linux, Windows และ Mac OS เพื่อที่จะใช้ทดสอบซอพท์แวร์ที่เขียนขึ้น แต่เมื่อคิดไปคิดมา มันเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย ในการที่ผมต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า (โน้ตบุ้คสเปคเดียวกัน ยี่ห้ออื่น ๆ ถูกกว่า MacBook ประมาณสองเท่า) เพื่อที่จะใช้ Mac OS ทั้งที่ Mac OS สามารถใช้งานบนโน้ตบุ้คเครื่องอื่น ๆ ได้ หาก Apple ต้องการ
และนี่คือตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น สำหรับนโยบายผูกขาดของ Apple ที่มีให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณี iTunes หรือ App Store สำหรับ Apple แล้วทุกอย่างควรอยู่ในการควบคุม โดยมักใช้ข้ออ้างในเรื่องคุณภาพที่ลูกค้าควรได้รับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมรับไม่ได้มากที่สุด เพราะมันขัดต่อแนวทาง Open Source ที่ผมชื่นชอบ
ที่สุดแล้ว การตัดสินใจเลือกใช้สิ่งต่าง ๆ ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่ทุกคนมีสิทธิที่จะตัดสินใจ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถกำหนดให้ทุกคนคิดและตัดสินใจเหมือนเราได้