เว็บไซต์ VICE รายงานว่า รัฐบาลจีนกำลังเพ่งเล็งตัวบุคคลที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลผ่านเรื่องไวรัสโคโรน่าหรือ COVID-19 บนโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็น WeChat และ Twitter บางรายถึงกับมีเจ้าหน้าที่มาหาถึงประตูบ้านเลยทีเดียว
VICE สัมภาษณ์ชาวจีนรายหนึ่งใช้นามสมมติว่า Joshua Left เป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในเมืองอู่ฮั่น จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 โดยในช่วงเดือนมกราคมก่อนที่จะมีการระบาดในวงกว้างนั้น ตัวเขาอยู่ที่ซานฟรานซิสโก และพยายามโพสต์ความเคลื่อนไหวของโรคระบาดให้ครอบครัวและชาวอู่ฮั่นได้รู้ เพราะคนจีนอาจเข้าถึงข้อมูลไม่ครบถ้วน
ปรากฏว่า Joshua ได้รับข้อความจากเพื่อนใน WeChat ของเขาบางรายพยายามถามว่าเขาอยู่โรงแรมอะไร ใช้เบอร์โทรศัพท์อะไรตอนอยู่ซานฟรานซิสโก ซึ่ง Joshua คาดว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนบังคับให้เพื่อนของเขาหาข้อมูลที่ระบุตัวตนของเขามาให้ได้ นอกจากนี้ระบบ WeChat ของ Joshua ยังเตือนมาว่ามีคนพยายามล็อกอินเข้าบัญชีของเขาด้วย ซึ่งตอนนี้เขาก็ยังไม่กล้ากลับจีน เพราะกลัวว่าตัวเองจะถูกจับ
Jiang Ming อีกหนึ่งประชาชนจีนที่ได้รับผลกระทบจากแนวทางเซนเซอร์ของจีนอีกราย ใช้ VPN เข้าถึง Twitter ตอบกลับทวีตหนึ่งที่วิจารณ์ความล่าช้าของรัฐบาลจีนในการจำกัดการระบาดของไวรัส แปลได้ความว่า ใครจะกล้าทำลายอำนาจเผด็จการ ทรราชย์
หลังจากนั้นเขาได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่รัฐให้ลบข้อความนั้น เขาปฏิเสธ หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่มาหาเขาถึงที่บ้านที่ Dongguan พร้อมกระดาษสกรีนหน้าจอข้อความบน Twitter ของเขา และคำสั่งให้ลบเพราะเป็นการโจมตีรัฐบาลโดยตรง เข้าหน้าที่บอก Jiang Ming ด้วยว่า ค้นพบเบอร์โทรศัพท์ของเขาที่ใช้เชื่อมต่อบน Twitter ซึ่งนำไปสุ่ฐานข้อมูลที่ระบุตัวตนของ Jiang Ming ได้
ก่อนหน้านี้มีเหตุเสียชีวิตของ Li Wenliang หมอที่ออกมาเตือนโลกเรื่องไวรัสระบาดตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว และมีแคมเปญประท้วงกรณีดัวกล่าว มีการแสดงความเศร้าต่อการจากไปของหมอ และความโกรธรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็พยายามลบแคมเปญนี้ออกจากออนไลน์ด้วย
Fergus Ryan นักวิเคราะห์จาก Australian Strategic Policy Institute (ASPI) ผู้ทำการศึกษาโซเชียลมีเดียของจีนบอกว่า เห็นความเคลื่อนไหวของชาวเน็ตจีน พยายามเข้าถึงเว็บไซต์ข่าวที่ถูกเซนเซอร์ในจีนมากอย่างมีนัยยะสำคัญ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา มีการบันทึกการคลิกเข้าเว้บไซต์ข่าวดังกล่าวระหว่าง 18,000 ถึง 29,000 ครั้ง และในวันที่ 25 จำนวนคลิกก็พุ่งสูงเป็น 50,000 ครั้ง ตัวเลขนี้สะท้อนความต้องการเข้าถึงข่าวสารที่ถูกเซนเซอร์ในจีน
ที่มา - VICE