รู้จัก Tencent Cloud บริการคลาวด์จาก Tencent ที่มีศูนย์ข้อมูลในไทยเรียบร้อยแล้ว

by sponsored
25 February 2020 - 03:56

เราอาจรู้จัก Tencent ในฐานะบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน มีบริการออนไลน์ในสังกัดหลายตัว เช่น เว็บพอร์ทัล Sanook, แอพแชท WeChat, ฟังเพลงสตรีมมิ่ง JOOX, วิดีโอออนไลน์ WeTV รวมถึงให้บริการเกมมือถืออย่าง PUBG MOBILE

แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า Tencent มีธุรกิจคลาวด์ให้เช่า เช่นเดียวกับผู้ให้บริการเจ้าดังจากโลกตะวันตก และบริษัทไอทีจีนรายอื่น ตอนนี้ Tencent Cloud บุกเข้ามาทำตลาดไทยอย่างเป็นทางการ แถมยังมีศูนย์ข้อมูลในไทยเรียบร้อยแล้ว

Blognone มีโอกาสพูดคุยกับคุณ Chang Foo ผู้บริหารตำแหน่ง Chief Operating Officer ของ Tencent Thailand ในเรื่องนี้

ที่มาที่ไปของ Tencent Cloud

Tencent เป็นผู้ให้บริการออนไลน์รายใหญ่ในจีน เรามีระบบภายในเพื่อรองรับบริการของตัวเองมาก่อน จากนั้นในปี 2013 จึงเริ่มพัฒนาออกมาเป็นบริการให้คนอื่นใช้งานด้วย แน่นอนว่าช่วงแรกยังเน้นให้บริการในประเทศจีนอย่างเดียว แต่ปี 2016 ก็เริ่มเปิดศูนย์ข้อมูลในหลายประเทศ ส่วนประเทศไทยเพิ่งเข้ามาในปีที่แล้ว 2019

Tencent Cloud มีศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นความร่วมมือกับ True IDC การมีศูนย์ข้อมูลในไทยช่วยเรื่องของความเร็วในการเข้าถึง และช่วยให้องค์กรมั่นใจได้ว่าข้อมูลยังอยู่ในประเทศไทย

บริการของ Tencent Cloud มีอะไรบ้าง

ตัวบริการพื้นฐานคงไม่ต่างอะไรจากผู้ให้บริการเจ้าอื่น เริ่มตั้งแต่เรื่องการประมวลผล (Compute), การเก็บข้อมูล (Storage), ระบบเครือข่าย (Networking), ความปลอดภัย (Security) รวมถึงบริการ CDN ที่เรามีอยู่ทั่วโลก

ซอฟต์แวร์ที่เรามีบริการโฮสต์ให้ ก็เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สยอดนิยม เช่น MySQL, PostgreSQL, Redis, Kubernetes, MapReduce, Elasticsearch

สิ่งที่อาจแตกต่างจากรายอื่นๆ และเป็นความเชี่ยวชาญของ Tencent คือบริการด้านวิดีโอและเกม เนื่องจาก Tencent เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในทั้ง 2 เรื่อง จึงมีประสบการณ์เรื่องนี้มาอย่างดี (PUBG MOBILE ซึ่งเป็นเกมที่มีผู้เล่นที่ลงทะเบียนทั่วโลกกว่า 600 ล้านคน ก็อยู่บน Tencent Cloud) หากมาเช่าใช้บริการ 2 ตัวนี้ก็จะได้คุณภาพระดับเดียวกับที่ Tencent ใช้เอง

ตัวอย่างบริการด้านเกมที่น่าสนใจคือ Game Multimedia Engine (GME) ที่ใช้จัดการเรื่องการสนทนาเสียงในเกมออนไลน์ ปรับแต่งมาสำหรับเกมแต่ละชนิด เช่น MOBA, MMORPG, FPS, casual ให้เสร็จสรรพ หรือบริการ Anit-DDoS สำหรับป้องกันเซิร์ฟเวอร์เกมก็มีเช่นกัน

ตัวอย่างบริษัทที่ใช้งาน Tencent Cloud มีใครบ้าง มีลูกค้าในไทยแล้วหรือไม่

ถ้าเป็นลูกค้าในประเทศจีน ที่ยกตัวอย่างได้คือ WeBank ธนาคารดิจิทัลรายแรกของจีน (ที่ Tencent ถือหุ้นด้วย) ซึ่งเปิดให้บริการไปในปี 2014 โดยใช้เพื่อให้ทำธุรกรรมต่างๆ ทางออนไลน์ โดยสามารถลดเวลาการให้บริการตามปกติที่เคาน์เตอร์แบงค์ทั่วไปซึ่งปกติใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 20 นาทีเหลือแค่เพียงไม่กี่นาทีผ่านออนไลน์ และลดต้นทุนปฏิบัติการ (Operating cost) ไปได้ถึง 80%

ลูกค้าอีกหนึ่งรายคือ Shopee ที่ใช้ Tencent Cloud ในการรองรับการใช้งานลูกค้าจำนวนมากต่อวันเช่นเดียวกัน โดย Shopee ใช้เครือข่าย Content Delivery Network (CDN) ที่ครอบคลุมอยู่ทั่วโลกในการเก็บข้อมูลรูปภาพและวีดีโอสำหรับแอปฯ และเมื่อทำงานร่วมกับระบบ Live Video Broadcasting (LVB) ก็ทำให้ Shopee สามารถรองรับผู้ใช้งานในการเข้ามาใช้ Live Q&A จนเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าได้เป็นประวัติการณ์ในช่วงเทศกาล 11/11 และ 12/12

ส่วนลูกค้าในไทย ตอนนี้มีแล้วประมาณ 20 ราย

Tencent Thailand เอาจริงกับเรื่องคลาวด์ ลูกค้าในไทยจะได้บริการซัพพอร์ตอย่างเต็มที่ มีพนักงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้นั่งทำงานอยู่ที่ Tencent Thailand โดยตรง ให้บริการแบบ 24x7

Tencent Cloud ทำตลาดในประเทศไทยผ่านตัวแทนจำหน่าย (reseller) ณ ปัจจุบัน ได้แก่ TrueIDC, Tangerine, MIW (Make it work co., ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทที่องค์กรในไทยคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว

Blognone Jobs Premium