รีวิว Galaxy S20 Ultra กล้องเทพ 108MP, ซูม 100 เท่า, ถ่ายวิดีโอ 8K ที่เหมาะสำหรับมืออาชีพ

by mk
28 February 2020 - 06:31

ซัมซุงเปิดตัวปี 2020 ด้วยการขยับเลขของซีรีส์ S ทีเดียวจาก 10 เป็น 20 พร้อมกับรุ่นย่อยตัวใหม่ "Ultra" ที่อัดมาทุกฟีเจอร์เท่าที่สามารถใส่มาให้ได้

แน่นอนว่ามือถือที่ได้รับการจับตามากที่สุดย่อมเป็น Galaxy S20 Ultra ซึ่งเราจะมารีวิวกันเป็นลำดับแรก ส่วน Galaxy S20/S20+ รุ่นรองลงมา (ที่สเปกแทบเหมือนกัน 100%) จะตามมาในลำดับถัดไป

บทความที่เกี่ยวข้อง รีวิวกล้อง Galaxy S20 Ultra เลนส์ซูม 100 เท่า ทำได้ดีแค่ไหนในการใช้งานจริง

ว่าด้วยเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดของ S20 Ultra ที่ไม่ใช่เรื่องกล้อง

ถ้าให้สรุปฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญของซีรีส์ Galaxy S20 สามารถแบ่งได้เป็น 3 เรื่องคือ

  • รองรับ 5G (รุ่น Ultra ที่นำมาขายในไทยมีเฉพาะรุ่น 5G, ส่วน S20/S20+ เป็น 4G)
  • จอภาพรีเฟรช 120Hz
  • กล้อง

ไม่ว่าจะเป็นงานแถลงข่าวของซัมซุง หรือบนเว็บไซต์ของซัมซุงเอง ก็หนีไม่พ้นเพียงแค่ 3 เรื่องนี้ เพราะส่วนอื่นๆ ของสมาร์ทโฟนแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดอีกแล้ว

ประเด็นเรื่อง 5G คงไม่ยังสามารถพูดถึงได้ในตอนนี้ เพราะเมืองไทยเพิ่งเริ่มต้นกับเครือข่าย 5G (AIS เพิ่งเริ่มเปิดบริการเชิงพาณิชย์ แต่ต้องรอซัมซุงอัพเดตเฟิร์มแวร์รับคลื่นของ AIS ก่อนด้วย) ดังนั้นเหลือประเด็นให้พูดถึงแค่เรื่องจอ 120Hz กับเรื่องกล้องเท่านั้น เรื่องกล้องเป็นเรื่องใหญ่ของ Galaxy S20 ที่เราจะแยกเป็นอีกหัวข้อ ดังนั้นในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดที่ไม่ใช่เรื่องกล้องครับ

ภาพรวมของ Galaxy S20 Ultra 5G ใช้ดีไซน์ที่เรียกว่าเป็นมาตรฐานของซัมซุงช่วงครึ่งหลังของปี 2019 เป็นต้นมา (เริ่มใช้ใน Note 10 และลามมาถึงซีรีส์ A ด้วย) นั่นคือใช้หน้าจอ Infinity-O ขนาดใหญ่ 6.9 นิ้ว เกือบเต็มพื้นที่ด้านหน้าเครื่อง และใช้กล้องหน้าแบบเจาะรู (punch-hole) วางตรงกลางจอ เลิกใช้ดีไซน์กล้องหน้าชิดมุมขวาบนแบบที่ใช้ใน Galaxy S10 ไปซะแล้ว

ดีไซน์อื่นของตัวเครื่องไม่มีอะไรให้น่าพูดถึง ปุ่มปรับระดับเสียงและปุ่มปิดจอถูกย้ายกลับมาอยู่ด้านขวามือ (เท่ากับว่ามี Note 10 รุ่นเดียวที่ย้ายไปซ้ายมือ โดยไม่ระบุเหตุผล!)

กรณีของ Galaxy S20 Ultra มีเรื่องเลนส์กล้องที่ปูดโปนมาก จนไม่สามารถวางราบกับพื้นโต๊ะได้เลย บวกกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมากเป็น 222 กรัม เรียกว่าหนักจนรู้สึกได้ทีเดียว (เทียบกับ S20 รุ่นธรรมดาที่หนัก 163 กรัม หรือ S20+ ที่หนัก 186 กรัม)

Galaxy S20 Ultra มีให้เลือกเพียง 2 สีคือ ดำ Cosmic Black และเทา Cosmic Gray เข้าใจว่าซัมซุงคงเน้นสีเข้มๆ ให้เห็นถึงสมรรถนะ (S20/S20+ มีรุ่นสีฟ้าและชมพูด้วย) โดยเครื่องที่ได้มาทดสอบเป็นสีดำ Cosmic Black ก็ดูเป็นสีดำมาตรฐาน ไม่มีอะไรพิเศษในแง่ดีไซน์

รอมที่มากับเครื่องเป็น Samsung One UI 2.0 Android 10 มาตั้งแต่ต้น (แพตช์ล่าสุดขณะที่เขียนรีวิวคือรอบ 1 กุมภาพันธ์ 2020) ฟีเจอร์เกือบทั้งหมดแทบไม่มีอะไรต่างกับรอม One UI 2.0 ของรุ่นอื่นๆ ในท้องตลาด ขอข้ามรายละเอียดในจุดนี้ไปนะครับ

หนึ่งในฟีเจอร์เด่นของ Galaxy S20 รอบนี้คือจอภาพรีเฟรช 120Hz ที่ดู "นิ่ม" ขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะเวลาเลื่อนหน้าจอหรือมีแอนิเมชัน (ผมคิดว่าคำว่า "นิ่ม" เห็นภาพมากกว่า "ลื่น") แต่ก็ถือเป็นฟีเจอร์ระดับ nice-to-have คือมีมาให้ก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร และสามารถเลือกเปลี่ยนกลับเป็น 60Hz ได้หากต้องการประหยัดแบตเตอรี่

แบตเตอรี่ของ Galaxy S20 Ultra ขนาดใหญ่ถึง 5,000 mAh ถือว่าใหญ่ขึ้นไปอีกขั้นจากเรือธงตัวก่อน (Note 10+ ให้แบต 4300 mAh) ซึ่งแบตใหม่ๆ มาแบบนี้ก็อึดตามความคาดหมาย แต่ช่วงหลังเราก็เห็นสมาร์ทโฟนหลายยี่ห้อเริ่มมีแบตในระดับใกล้เคียงกันออกมาขายแล้วเช่นกัน คงไม่ใช่ฟีเจอร์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ S20 Ultra เพียงรุ่นเดียว

ฟีเจอร์อื่นๆ อย่างเรื่องการกันน้ำ, ชาร์จเร็ว, ชาร์จไร้สาย, PowerShare ชาร์จไร้สายให้อุปกรณ์อื่นได้ ฯลฯ ยังมีมาครบถ้วน แต่ก็ไม่มีอะไรต่างจากเดิม ดังนั้นขอข้ามไปเช่นกันครับ

ว่าด้วยกล้องหลัก ความละเอียด 108MP

หมดจากประเด็นปลีกย่อยต่างๆ แล้วขอเข้าเรื่องหลักของ S20 Ultra ที่ทุกคนสนใจคือเรื่อง "กล้อง"

ขอย้อนข้อมูลสเปกกล้องของ Galaxy S20 Ultra อีกรอบ ว่ามีกล้องทั้งหมด 4 ตัว มีจำนวนเท่ากับกล้องของเรือธงรุ่นก่อนหน้า (Note 10+) ซึ่งในแง่จำนวนกล้องไม่น่าจะต่างจากนี้อีกแล้วในอนาคต

  • กล้องหลัก (wide) 108MP, f/1.2, 26mm, OIS
  • กล้องมุมกว้าง (ultrawide) 12MP, f/2.2, 13mm, Super Steady
  • กล้องเทเล (telephoto) 48MP, f/2.5, 103mm, OIS
  • เซ็นเซอร์วัดระยะลึก TOF 0.3MP

หากเทียบกับซีรีส์ S10/Note 10 เรือธงของปี 2019 จุดที่เปลี่ยนแปลงสำคัญคือ กล้องหลักที่อัพเกรดมาใช้เซ็นเซอร์ตัวใหม่ ความละเอียด 108MP (ของเดิม 12MP) และกล้องเทเลที่ใช้เซ็นเซอร์ 48MP พร้อมการซูมแบบ Optical Hybrid Zoom 10x-100x (ของเดิม 12MP ซูม 2x)

ประเด็นเรื่องการซูม ผมเขียนถึงไปแล้วในบทความ รีวิวกล้อง Galaxy S20 Ultra กับเลนส์ซูม 100 เท่า ทำได้ดีแค่ไหนในการใช้งานจริง จึงไม่ขอกล่าวถึงซ้ำในบทความนี้

พ้นจากเรื่องซูม คงหนีไม่พ้นเรื่องเซ็นเซอร์ความละเอียดสูง 108MP ของกล้องหลัก ที่เป็นผลจากเซ็นเซอร์ตัวใหม่ ISOCELL Bright HMX 108MP ที่ทลายข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์กล้องของซัมซุงได้สักที หลังใช้เซ็นเซอร์ 12MP ตัวเดิมมาตั้งแต่ Galaxy S8 ในขณะที่คู่แข่งไปไกลกว่ามากแล้วในแง่ฮาร์ดแวร์

ต้องบอกว่าการถ่ายภาพที่โหมดปกติของ S20 Ultra จะใช้เทคนิค Tetracell Technology รวมแสงจาก 4 พิกเซลเป็นพิกเซลเดียว และจะได้ภาพผลลัพธ์สุดท้ายที่ 4000x3000 พิกเซล หรือ 12MP (ถ้าถ่ายที่สัดส่วน 4:3 แบบไม่คร็อป) ขนาดไฟล์ประมาณ 2-4MB

แต่เราสามารถตั้งค่ากล้องให้ถ่ายแบบเต็มความละเอียด 108MP ได้ (ได้เฉพาะสัดส่วน 4:3 เท่านั้น) ภาพที่ได้มีความละเอียด 12000x9000 พิกเซล ใหญ่ขึ้นจากเดิม 9 เท่า ขนาดไฟล์ประมาณ 26-28MB (JPEG) หรือ 15-17MB (HEIC) สามารถตั้งให้ถ่ายแบบ RAW ได้ด้วยถ้าต้องการ

ลองถ่ายภาพมาให้ดูไฟล์จริงๆ กันดีกว่า ภาพความละเอียดเต็มกดเข้าไปดูกันเองใน Flickr

เริ่มจากภาพ 12MP มาตรฐาน

กับภาพ 108MP สุดละเอียด

มาถึงตรงนี้คงมีคำถามว่า คนธรรมดาทั่วไปจะเอาภาพ 108MP ไปทำอะไรให้เปลืองพื้นที่ใช่ไหมครับ คำตอบของซัมซุงคือ "เอาไว้คร็อป" เพราะคร็อปออกมาแล้วยังได้ภาพถ่ายธรรมดาๆ ที่คุณภาพดีอยู่

จากรูปข้างต้น ผมลองคร็อปที่ 3 ความละเอียด เริ่มจาก 2400x1800 เห็นอาคารสีแดงที่กำลังก่อสร้างอยู่

คร็อประดับสองให้เล็กลงมาเท่าตัว 1200x900 ยังเห็นป้าย CentralWorld ค่อนข้างชัดอยู่ประมาณนึง

คร็อปให้เล็กลงอีกที่ 900x675 เห็นคนงานก่อสร้างบนยอดตึก รายละเอียดเริ่มลดลงแล้ว (ตอนถ่ายมองไม่เห็นคนงานคนนี้ คือเล็กในระดับตาเปล่ามองไม่เห็นถ้าไม่ตั้งใจมอง)

ในภาพรวมถือว่าน่าประทับใจมากนะครับ ที่สมาร์ทโฟนเครื่องเล็กๆ ขนาดใส่กระเป๋ากางเกงได้ สามารถถ่ายภาพในระดับนี้ได้แล้ว

แน่นอนว่าการคร็อปภาพระดับนี้คงไม่ได้ใช้กันบ่อยๆ ในชีวิตประจำวันมากนัก ซึ่งก็น่าจะตรงกับที่ซัมซุงนำเสนอในงานแถลงข่าวว่า Galaxy S20 Ultra เริ่มข้ามพรมแดนมือถือคอนซูเมอร์ ไปสู่มือถือระดับโปรที่ใช้ถ่ายภาพ-วิดีโอแบบมืออาชีพแล้ว (คู่แข่งระดับเดียวกันอย่าง Sony Xperia 1 II หรือ Xperia Pro ก็นำเสนอตัวเองแบบเดียวกัน โดยเฉพาะรุ่น Pro นี่ชัดเจน)

ถ่ายวิดีโอ 8K

อีกฟีเจอร์ไฮไลท์ที่มาคู่กันกับภาพนิ่ง 108MP คือการถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงระดับ 8K (7680 × 4320) ซึ่งชาวบ้านทั่วไปที่ยังไม่มีจอ 8K ก็ต้องยอมรับว่าไม่รู้จะเอามาทำไมเหมือนกันครับ (ฮา)

การถ่ายวิดีโอระดับ 8K จำเป็นต้องตั้งค่าเป็นโหมด 8K แบบจำเพาะเจาะจงอีกเหมือนกัน (ถ่ายได้เฉพาะสัดส่วน 16:9 เท่านั้นด้วย) แถมการถ่ายวิดีโอ 8K ไม่รองรับเฟรมเรต 60fps และฟีเจอร์กันสั่น Super Steady อีกด้วย

ความละเอียดของวิดีโอที่ S20 Ultra สามารถบันทึกได้ ถ้าเปิด Super Steady จะบันทึกได้ที่ FHD 1080p เท่านั้น

ตัวอย่างไฟล์วิดีโอ 8K (อย่าลืมเลือกความละเอียดตอนเล่นคลิปด้วย)

หมายเหตุ: เนื่องจากการอัพโหลดวิดีโอ 8K ขึ้น YouTube จะถูก encode ใหม่ ผมแนบไฟล์ 8K ต้นฉบับ มาด้วยเผื่อใครสนใจรับชม (codec ต้นฉบับมาเป็น H.265 ขนาดประมาณ 204MB)

ลูกเล่นอีกอย่างของวิดีโอ 8K ที่ซัมซุงโฆษณาไว้คือ สามารถนำภาพจากวิดีโอ 8K แล้วได้ภาพนิ่งขนาด 33MP (ซึ่งก็คือ 7680x4320 นั่นเอง) มาใช้ได้ด้วย ซึ่งในชีวิตจริงคงไม่ค่อยมีใครทำอะไรแบบนี้เท่าไรเช่นกัน (แต่ถ้าจำเป็นต้องทำก็สามารถทำได้) โดยซัมซุงให้ปุ่ม video capture มาในแอพ Gallery ตอนเปิดคลิปดูเลย

ตัวอย่างภาพ 33MP ที่แคปเจอร์จากวิดีโอข้างต้น

ประเด็นเรื่องการถ่ายวิดีโอระดับ 8K ก็เหมือนกับภาพนิ่ง 108MP นั่นคือเริ่มก้าวเข้าสู่พรมแดนของกล้องวิดีโอมืออาชีพ ที่ปัจจุบันกล้อง 8K ก็ยังมีไม่เยอะนัก แต่สมาร์ทโฟนระดับนี้สามารถทำได้แล้ว

Single Take กดทีเดียวได้ทั้งภาพและวิดีโอ

อีกฟีเจอร์ใหม่ของซีรีส์ Galaxy S20 (ทุกตัวไม่เฉพาะ Ultra) คือฟีเจอร์ฝั่งซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า Single Take หรือการถ่ายค้างไว้ทีเดียว ได้ทั้งภาพหลายแอคชั่น วิดีโอสั้น พานอรามา ฯลฯ อะไรที่ซัมซุงคิดว่าดี จะถ่ายมาให้เราทั้งหมดโดยไม่ต้องคิดเอง (แนวคิดคล้ายกับฟีเจอร์ Live Image ของกล้องมือถือหลายตัวในช่วงก่อนหน้านี้ ที่ถ่ายภาพและวิดีโอให้พร้อมกัน แต่ของซัมซุงไปไกลกว่านั้นอีกหน่อย)

เพื่อให้เห็นภาพ ดูคลิปโปรโมทของซัมซุงจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ฟีเจอร์นี้หาง่ายมาก เพราะเป็นโหมดที่อยู่ด้านซ้ายมือของแอพกล้อง (มาแทนโหมด Live Focus เดิมที่ย้ายไปหลบอยู่ใน More) เรียกได้ว่าตั้งใจขายกันสุดๆ

เมื่อกดครั้งแรก มีหน้าจอแนะนำว่าฟีเจอร์นี้คืออะไร จากนั้นเราสามารถถ่ายได้เหมือนถ่ายวิดีโอ แพนกล้องไปมาตามต้องการ ภาพที่ได้จะโผล่ใน Gallery โดยมีจุดสีขาวบอกว่าเป็นภาพจากโหมด Single Take

กดเข้าไปแล้วจะเห็นหน้าจอแสดง "ผลลัพธ์ทั้งหมดที่ได้" จากซีนที่ถ่าย Single Take จำนวนประมาณ 5-12 ภาพ (ขึ้นกับความยาวของการถ่ายโหมด Single Take และวัตถุในซีนด้วย)

เท่าที่ลอง พบว่าผลลัพธ์ที่ได้มีทั้งภาพถ่ายช็อตต่างๆ (หากเราเคลื่อนกล้องหรือมีวัตถุในกล้องเคลื่อนไหว) คลิปวิดีโอสั้นๆ, ภาพพานอรามา และภาพที่แต่งเอฟเฟคต์ให้แล้ว (เท่าที่พบคือมีภาพขาวดำ และใส่ฟิลเตอร์สีฟ้าๆ แบบ Instagram) โดยแอพ Gallery จะเลือก "ภาพที่ดีที่สุด" (Best Shot) มาให้เป็นภาพแรก พร้อมสัญลักษณ์เป็นรูปมงกุฎ

จากการทดลองใช้งานมาสักพัก พบว่าผลลัพธ์ค่อนข้างแกว่งตามซีนที่ถ่าย ถ้าเป็นซีนที่มีแอคชั่นเยอะๆ มีคนเคลื่อนไหวในกล้อง จะได้ผลลัพธ์ดีกว่าซีนที่นิ่งๆ ไม่ค่อยมีอะไรมากนัก

แต่ปัญหาจริงๆ ของ Single Take กลับเป็นว่าเรามักนึกไม่ถึงฟีเจอร์นี้ตอนกดถ่ายมากกว่า เพราะตอนที่จะถ่ายภาพในชีวิตประจำวัน เรานึกถึงแค่โหมดภาพนิ่งกับโหมดวิดีโอเท่านั้น (โหมดอื่นๆ พวก Food, Night, Panorama เป็นโหมดที่นึกถึงในสถานการณ์พิเศษ) เมื่อมีโหมด Single Take เข้ามาเสริม แถมคาดเดาผลลัพธ์ได้ยากว่าจะออกมาดีแค่ไหน มันจึงกลายเป็นโหมดที่ถูกลืมไปแทน

ภาพถ่ายทั่วไป

หมดจากฟีเจอร์โชว์ทั้ง 108MP, 8K, Single Take แล้ว ลองมาดูรูปตัวอย่างที่ถ่ายด้วยโหมดปกติของกล้องดูครับ

ภาพถ่ายกลางวัน (ภาพความละเอียดเต็ม ดูจาก Flickr)

ภาพถ่ายกลางคืน นอกห้อง มีแสงบ้าง

ใช้โจทย์เดียวกับ รีวิว Galaxy Note 10 Lite คือเป็นภาพถ่ายซอยตอนกลางคืน ที่มีแสงจากไฟถนนบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นซีนที่พบได้บ่อยในชีวิตจริง (ที่มืด มีแสงบ้าง) และถ่ายเทียบคุณภาพกัน 3 กล้องคือ Note 10+ (ดีสุดของเจนก่อน), S20+ และ S20 Ultra

ซีนแรก มีแสงไฟพอสมควร

เริ่มจากซีนแรกที่มีแสงจากไฟถนนเยอะพอสมควร

Note 10+

S20+

S20 Ultra

ผลลัพธ์ไม่ต่างกันมากนัก แต่ภาพจาก S20+/S20 Ultra จะออกติดเหลืองมากกว่า Note 10+

ซีนที่สอง มีแสงไฟน้อย

ซีนที่สอง ลองใช้ฉากที่มีแสงไฟน้อยลง เป็นกำแพงที่ค่อนข้างมืด (มองด้วยตาเปล่าแทบมองไม่เห็นรายละเอียดกำแพง) ถ่ายด้วยโหมด Auto

Note 10+

S20+

S20 Ultra

ผลลัพธ์ไม่ต่างกันมากเช่นกัน ภาพจาก S20+/S20 Ultra ค่อนข้างคอนทราสต์มากกว่า

ซีนที่สอง (Night Mode)

ลองถ่ายซีนเดิมด้วย Night Mode เพื่อวัดพลังประมวลผลของกล้องด้วย

Note 10+

S20+

S20 Ultra

พอเป็นซีนนี้แล้วเปิด Night Mode เราเริ่มเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนตั้งแต่ S20+ ที่เก็บรายละเอียดของกำแพงได้ดีขึ้นมาก พอเป็น S20 Ultra ยิ่งชัดขึ้นไปอีกขั้น ถือว่าน่าประทับใจมาก เมื่อเทียบกับภาพที่ตาเห็น ซึ่งแทบมองไม่เห็นอะไรเลย

ภาพถ่ายกลางคืนในห้องปิด แทบไม่มีแสงเลย

การทดสอบชุดสุดท้าย ผมสร้างสถานการณ์ที่ท้าทายกล้องที่สุด คือในห้องที่ปิดสนิท และแทบไม่มีแสงเลย (มีแสงจากจอมอนิเตอร์ที่พัก sleep mode พื้นหลังสีดำเท่านั้น)

การทดสอบนี้เปรียบเทียบกล้อง 4 รุ่นคือ Pixel 3, Note 10+, S20+, S20 Ultra และถ่ายแบบ Auto เทียบกับ Night Mode โดยไม่มีขาตั้งกล้องช่วย ถ้าภาพสั่นหรือเบลอเป็นความผิดพลาดของผู้ถือกล้องเอง (ตอนถ่ายก็แทบมองไม่เห็นอะไรเลยเช่นกันครับ แน่นอนว่าย่อมมี error จากการถ่ายลักษณะนี้)

โหมด Auto

Pixel 3 แทบไม่เห็นอะไรเลย

Note 10+ เห็นเป็นภาพเกือบขาวดำ

S20+ ไม่ต่างกันมาก

S20 Ultra ดีขึ้นมานิดนึง

Night Mode

Pixel 3 เห็นวัตถุชัดเจน แต่ก็เสียรายละเอียด

Note 10+ ได้ภาพสว่างน่าประทับใจ

S20+ ไม่สว่างเท่ากับ Note 10+ แต่เก็บรายละเอียดได้ดีกว่า

S20 Ultra เก็บรายละเอียดได้ดี แต่ไม่ดีเท่ากับ S20+

จากภาพซีนยากๆ ที่ถ่ายแบบ Night Mode ผมยกให้ S20+ ออกมาดีที่สุด ตรงนี้ต้องยอมรับว่าอาจมี error จากการถือกล้องถ่ายด้วย แต่ในอีกด้าน ซัมซุงเองก็ยอมรับว่ากล้องของ S20 Ultra ยังไม่ดีเท่าที่ควร และต้องรออัพเดตในอนาคตเพื่อแก้ปัญหานี้

สรุป: กล้องน่าประทับใจ แต่เหมาะสำหรับใคร?

ภาพรวมการใช้งานของ Galaxy S20 Ultra บอกได้เลยว่าไม่มีอะไรบกพร่อง (ยกเว้นเรื่องหนักและกล้องปูด) สเปกและฟีเจอร์จัดหนักสมราคาเรือธง (39,900 บาท สี่หมื่นทอนร้อยนึง)

สิ่งที่เป็นประเด็นน่าตั้งคำถามต่อ Galaxy S20 Ultra คือ คนทั่วไปต้องการกล้องที่ซูม 100 เท่า, ถ่ายรูป 108MP, ถ่ายวิดีโอ 8K หรือเปล่า คำตอบอาจเป็นคำว่า "ไม่ใช่"

ถึงแม้ในชีวิตจริง เราสะดวกมากขึ้นในการถ่ายภาพซูม 10 เท่า, เซ็นเซอร์ 108MP ช่วยให้ถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอได้สวยขึ้นอย่างชัดเจนก็ตาม ซึ่งตรงนี้ก็ดีจริงๆ ต้องยอมรับว่าซัมซุงทำการบ้านมาดีมากในรอบนี้

ซัมซุงเองก็ดูเหมือนจะรู้คำตอบดีอยู่แล้ว จึงตั้งชื่อรุ่นมาว่า S20 "Ultra" ที่สะท้อนว่ามันเป็นมือถือที่ทำทุกอย่างได้ดีที่สุด ถ้ามีกำลังเงินซื้อก็สามารถครอบครองเป็นเจ้าของกันได้

กลุ่มเป้าหมายของ S20 Ultra จึงอาจไม่ใช่คนทั่วไป แต่เป็นคนที่มีเงินถุงเงินถัง หรือคนที่ต้องการกล้อง professional grade สำหรับงานระดับมืออาชีพ ในราคาและขนาดที่ถูกกว่ากล้องมืออาชีพมาก ดังที่ซัมซุงก็แสดงให้เห็นแล้วจากการใช้ S20 Ultra ถ่ายไลฟ์สตรีมงานแถลงข่าว S20

ถ้าราคาเป็นข้อจำกัดแล้ว มือถือที่อาจเหมาะกับคนทั่วไปมากกว่าคือ Galaxy S20/S20+ ที่ยังได้สเปกเรือธง กับกล้องที่ลดระดับลงอีกเล็กน้อย แต่ก็ยังให้คุณภาพที่ดีอยู่เมื่อใช้งานในชีวิตจริง ซึ่งจะถามมาในรีวิวถัดไปครับ

Blognone Jobs Premium