ถือเป็นอีกก้าวที่น่าสนใจของโรงพยาบาลสมิติเวช ในฐานะโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ของไทย ที่ขยายตัวเองจากบริการด้านการแพทย์โดยตรง (medical services) มายังบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพด้วย (health-related services)
รอบนี้ สมิติเวชลงมาจับมิติด้าน “อาหาร” แต่ไม่ใช่อาหารเพื่อคนป่วยแต่อย่างใด สิ่งที่สมิติเวชสนใจคืออาหารที่เรากินเป็นปกติในแต่ละวัน ซึ่งพฤติกรรมด้าน “ไลฟ์สไตล์การกิน” ของคนไทยที่เปลี่ยนไปมากที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ การสั่งอาหารแบบเดลิเวอรีมาส่งถึงบ้าน แทนการออกไปกินข้าวนอกบ้าน
ข้อดีของการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรีคือความสะดวก อยากกินร้านดังก็ได้กิน โดยไม่ต้องไปต่อคิวเอง ไม่ต้องฝ่ารถติด หรือหาที่จอดรถให้ยากลำบาก แต่ความสะดวกนี้ก็อาจมีด้านกลับ ที่ทำให้เรากินอาหารบางประเภทที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากนักได้สะดวกเกินไป เช่น สั่งชาไข่มุกที่อุดมด้วยน้ำตาลมากินทุกวัน หรือกินอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดที่รู้ทั้งรู้ว่าอุดมด้วยไขมัน แต่อดไม่ได้เพราะโปรโมชันโดนใจ เป็นต้น
การกินอาหารที่ไม่ดีสุขภาพสะสม ย่อมเป็นสาเหตุของการป่วยไข้ สมิติเวชในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ที่มีแนวคิดเรื่องการป้องกันก่อนเกิดโรค (preventive healthcare) ตามแนวคิด “เราไม่อยากให้ใครป่วย” ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 จึงเข้ามาอุดช่องว่างตรงนี้ โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านสายสุขภาพที่มีอยู่แล้ว ผนวกกับพาร์ทเนอร์คือ Grab ในฐานะแพลตฟอร์มด้านส่งอาหารรายใหญ่ของไทย ออกมาเป็นบริการชื่อว่า “หมอ(สมิติเวชช่วย)ดู” ที่เปรียบได้กับการมีหมอจากโรงพยาบาลสมิติเวช มาช่วยคัดกรองอาหารการกินให้เราเสมอ เมื่อสั่งอาหารมากินที่บ้าน
สิ่งที่ผู้ใช้งาน Grab ต้องทำ เพียงแต่ตอบคำถามด้านสุขภาพเพื่อให้สมิติเวชสามารถแนะนำอาหารให้เหมาะกับผู้ใช้แต่ละคน โดยเบื้องต้น สมิติเวชสามารถแนะนำเมนู 7 แบบ สำหรับลูกค้าที่มีความต้องการแตกต่างกันไป เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์ คนกินมังสวิรัต เป็นต้น
ในด้านกลับ ความร่วมมือของ Grab และสมิติเวช ยังเปิดให้
ความร่วมมือของ Grab และสมิติเวช แสดงให้เห็นถึงการจับมือแบบข้ามอุตสาหกรรม (cross-industry) โดยอาศัยจังหวะที่ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เกิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจที่สามารถนำความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่าย มาเชื่อมโยงกันเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้
ฝั่งของ Grab ได้ต่อยอดบริการส่งอาหาร จากเดิมที่เป็นผู้ใช้บริการด้านขนส่งอย่างเดียว ก็มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นจากเมนูสุขภาพที่คัดสรรโดยสมิติเวช ส่วนฝั่งสมิติเวชก็ขยายตัวเองจากแบรนด์โรงพยาบาลที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว แต่อาจจำกัดขอบเขตลูกค้า ไปสู่แบรนด์ด้านสุขภาพที่จับลูกค้ากว้างกว่าเดิมมาก