ก่อนหน้านี้ AIS ออกแคมเปญ AIS 5G สู้ภัย COVID-19 ที่จะนำเทคโนโลยีของตัวเองมาช่วยเหลือและดูแลภาคส่วนต่าง ๆ ในช่วงวิกฤติ หนึ่งในนั้นคือการนำเทคโนโลยี 5G มาช่วยเหลือบุคลากรด้านสาธารณสุข
วันนี้คุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศของ AIS และคุณอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายงานขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS ให้สัมภาษณ์ผ่านทาง Video Conference เกี่ยวกับบทบาทของ AIS Robotic Lab ที่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ร่วมกับเครือข่าย 5G มาช่วยเหลือแพทย์ในการรับมือและจัดการกับผู้ป่วย COVID-19 โดยมีการใช้งานจริงแล้ว
AIS Robotic Lab ถูกตั้งขึ้น เพื่อวิจัยและพัฒนาการใช้งานเทคโนโลยี 5G ร่วมกับหุ่นยนต์ในหลายรูปแบบ ผลงานก่อนหน้านี้ของแล็บคือ หุ่นยนต์ผู้ช่วย Alex ที่ร้าน AIS Flagship Store Central World, หุ่นยนต์ Lisa ที่ร้าน AIS Store ภูเก็ต, และ Hugo แขนหุ่นยนต์อัจฉริยะ ทำหน้าที่ตักและหยิบจับป็อปคอร์นที่ภูเก็ตเช่นกัน
บทบาทของ AIS Robotic Lab ครั้งนี้คือการนำเอาหุ่นยนต์ ROC (Robot fOr Care) มีต้นแบบเป็นหุ่น TEMI หุ่นผู้ช่วยอัจฉริยะจากสหรัฐอเมริกามาดัดแปลงติดกล้องอินฟราเรดจับความร้อน โดยซอฟต์แวร์ในหุ่น TEMI สามารถจดจำลักษณะของใบหน้าของผู้คนที่มันพบได้ ทำให้รับรู้ว่าคนที่กำลังหุ่นเดินผ่านหรือเข้ามากดหน้าจอแต่ละครั้งเป็นคนเดิมที่เคยเข้ามาใช้งานหรือไม่ และเมื่อใช้งานร่วมกับกล้องจับความร้อนก็ทำให้รู้ว่าคนที่กำลังสอบถามข้อมูลนี้หุ่นยนต์เคยวัดอุณหภูมิได้ระดับใด
หุ่นยนต์ ROC ตัวนี้ยังมีซอฟต์แวร์ให้แพทย์สามารถปรับแต่งเส้นทางการเดินของหุ่นและ calibrate กล้องจับอุณหภูมิได้ด้วยตนเอง แพทย์สามารถสื่อสารผ่านวิดีโอคอลเพื่อสอบถามอาการหรือให้คำแนะนำกับผู้ป่วย รวมถึงสื่อสารกับช่างเทคนิคของ AIS ได้หากเกิดปัญหาการในใช้งาน
ROC สามารถเคลื่อนที่ด้วยเซ็นเซอร์ตรวจจับวัตถุได้ด้วยตัวเอง และแพทย์หรือทีมงานยังสามารถมาร์คจุดเพื่อให้ ROC เคลื่อนที่ไปได้ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์สแกนสถานที่แบบสามมิติเพื่อสร้างแผนผังให้หุ่นเดินเพิ่มความสะดวกให้กับการใช้งานในโรงพยาบาล
นอกจากกล้องจับความร้อนแล้ว บนตัวหุ่นยังติดตั้งเครื่องจ่ายเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติ มีพื้นที่สำหรับวางชุดยาที่แพทย์จัดให้กับผู้ป่วยในห้องความดันลบ (Negative Pressure Room) โดยที่บุคคลากรทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องเข้าไปด้วยตัวเอง แต่สามารถสื่อสารผ่านแท็บเล็ตบนเครือข่าย 5G ได้
ปัจจุบัน AIS ติดตั้งเครือข่าย 5G ไปแล้วในโรงพยาบาล 20 แห่งที่รับรักษา COVID-19 โดยเป็นเครือข่ายแยกเฉพาะ ที่มี latency ต่ำและแบนวิดท์สูงสำหรับการใช้งานหุ่น ROC เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาความล่าช้า การใช้เครือข่าย 5G ทำให้การเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์มีเสถียรภาพที่ดี ต่างจากการใช้ Wi-Fi ของโรงพยาบาลที่อาจจะมีช่วงเวลาที่ช่องสัญญาณเต็มโดยควบคุมไม่ได้ ในอนาคตอันใกล้ AIS ยังจะติดตั้งเครือข่าย 5G ให้อีกกว่า 130 โรงพยาบาลในกรุงเทพ และอีก 8 โรงพยาบาลในต่างจังหวัด รวมเป็นโครงข่าย 5G ในโรงพยาบาลกว่า 158 แห่ง
AIS Robotic Lab สร้าง ROC ขึ้นมาแล้ว 23 ตัว เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาล 22 แห่ง ตอนนี้ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลไปแล้ว 7 แห่ง และจะทยอยส่งมอบเรื่อยๆ ให้ครบ 23 ตัว ในโรงพยาบาล 22 แห่งภายในเดือนพฤษภาคมนี้
จากการทดลองใช้งาน พบว่า ROC ผลตอบรับที่ดีจากคณะแพทย์ ว่าช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลากร และเพิ่มความสะดวกให้กับการตรวจรักษาคนไข้เป็นอย่างมาก และจากความเห็นของแพทย์ ทีม AIS Robotic ได้ติดตั้งถาดวาง สำหรับเครื่องวัดความดันเลือด และความเข้มข้นของออกซิเจนในกระแสเลือด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการตรวจอาการของผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มไปด้วย
ในอนาคต AIS อาจพัฒนา ROC ให้รองรับ gesture หรือ voice control เพื่อลดการสัมผัส หรือการใช้ machine learning เข้ามาช่วยประมวลผลกล้องวัดอุณหภูมิ เพื่อลดความจำเป็นในการ calibrate ตัวกล้องโดยแพทย์เอง