เจาะยุทธศาสตร์ไมโครซอฟท์ปี 2020 - Satya มองสายผลิตภัณฑ์ของตัวเองอย่างไร

by mk
22 May 2020 - 03:37

ไมโครซอฟท์ในยุค Satya Nadella มีทิศทางที่น่าสนใจอย่างมาก เราจะเห็นว่าไมโครซอฟท์ยุคหลังมานี้ มีจำนวนผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการ เพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งที่สร้างเอง (เช่น Teams, VS Code, Azure) และซื้อกิจการเข้ามา (Xamarin, GitHub, Minecraft) ถ้านับจำนวนทั้งหมดคงเป็นหลักหลายร้อย

คำถามที่น่าสนใจคือ ไมโครซอฟท์ "มอง" โครงสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองอย่างไร เห็นความเชื่อมต่อและความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของบริษัทอย่างไร

คำตอบอยู่ในการนำเสนอของ Satya Nadella ในงานใหญ่ประจำปีของบริษัทคือ Build (ที่ปีนี้เปลี่ยนมาจัดเป็นงานออนไลน์)

Satya Nadella เริ่มการนำเสนอของเขาโดยแสดงถึง "ภาพรวม" ของบริษัทที่มองลงมาจากจุดบนสุด (ในที่นี้คือซีอีโอ)

จากแผนภาพของเขาจะเห็นไมโครซอฟท์มองโลกคอมพิวเตอร์เป็น Intelligent Cloud และ Intelligent Edge โดยผลิตภัณฑ์ออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ

  • Microsoft 365 ชื่อเรียกรวมของ Windows + Office ที่เพิ่งรีแบรนด์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าไมโครซอฟท์มองก้อน Windows + Office เป็นเรื่องเดียวกันแล้ว (สมัยก่อนอยู่คนละหน่วยงานกัน)
  • Dynamics 365 กลุ่มซอฟต์แวร์ฝั่งธุรกิจ ERP/CRM และซอฟต์แวร์เฉพาะอุตสาหกรรม
  • Azure โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์, เครื่องมือสำหรับนักพัฒนา (Visual Studio อยู่ในกลุ่มนี้), บริการด้าน AI
  • GitHub และ Power Platform ในฐานะแพลตฟอร์มสำหรับนักพัฒนามืออาชีพ (GitHub) และแอพธุรกิจ (Power)
  • Trust และ Security บริการด้านความปลอดภัย และนโยบายด้านความเป็นส่วนตัว

ในภาพข้างต้นอาจยังสะท้อนสายผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ไม่ครบถ้วน 100% เพราะยังขาดบริการด้านความบันเทิง (Gaming และ Xbox) อาจเป็นเพราะงาน Build เน้นไปที่ลูกค้ากลุ่มนักพัฒนาเป็นหลัก แต่ในงาน Build 2019 ปีที่แล้ว ก็มีแผนผังของ Gaming เข้ามาเช่นกัน

ในคลิปปี 2020 Satya ยังได้โชว์แผนผังของผลิตภัณฑ์แต่ละกลุ่มให้ดูรายละเอียดลงลึกอีกขั้น เริ่มจาก Microsoft 365 ที่แม้แผนผังนี้ไม่ได้สะท้อนโครงสร้างทั้งหมด (เน้นเฉพาะผลิตภัณฑ์ใหม่ปีนี้) แต่ก็ช่วยให้เราเข้าใจวิธีคิดของไมโครซอฟท์ว่า ไม่ได้มอง Windows เป็นศูนย์กลางของจักรวาลอีกต่อไปแล้ว (เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มทั้ง 4)

แกนกลางของ Microsoft 365 กลับเป็นเลเยอร์ของข้อมูล (Microsoft Graph) ที่ซ้อนขึ้นมาด้วยชิ้นส่วนสำคัญอย่าง Fluid Framework และแอพพลิเคชันข้ามแพลตฟอร์มคือ Office + Teams

กลุ่มของ Azure จากแผนภาพจะเห็นการแยกชั้นอย่างชัดเจน ระหว่าง

  • Infrastructure
  • Data Platform
  • AI

และการทำงานที่ข้ามกันระหว่าง Cloud กับ Edge

กลุ่ม Dynamics 365 ไม่ได้นำเสนอในงาน Build (เพราะเน้นสำหรับลูกค้าธุรกิจ ที่คนละกลุ่มกับ Build) แต่ในงาน Microsoft Ignite 2019 ช่วงปลายปีที่แล้วซึ่งเป็นงานสำหรับลูกค้าธุรกิจ ก็มีแผนภาพโครงสร้างไอเดียของ Dynamics ว่าหลักคิดคืออะไร

กลุ่ม Power ประกาศตัวชัดเจนว่าต้องการจับตลาดผู้สร้างแอพธุรกิจ ที่อาจไม่ใช่นักพัฒนาเต็มขั้น แต่มีจำนวนเยอะกว่ากันมาก กลุ่มคนที่ต้องการแอพง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อนมากนัก แต่เน้นเรื่อง workflow ในธุรกิจและการทำ automation ชนิดต่างๆ

คนที่ติตตามข่าวไมโครซอฟท์คงคุ้นกับชื่อ Power BI, Power Apps, Power Automate, Power Virtual Agents กันมาบ้าง และคงมีบริการอื่นๆ ภายใต้ชื่อ Power งอกตามมาอีกในอนาคต

สุดท้ายคือกลุ่ม Trust ที่พูดถึงในงาน Ignite 2019 เช่นกัน ตรงนี้อาจไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ชัดๆ แต่ครอบคลุมถึงนโยบายของบริษัทในเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy), จริยธรรม AI และผลิตภัณฑ์ตระกูลความปลอดภัยอีกชุดใหญ่

ภาพรวมของไมโครซอฟท์ในปี 2020 เราจะเห็นการควบรวมของสายผลิตภัณฑ์บางตัวเข้าด้วยกันอย่างชัดเจน เช่น Windows + Office, Azure ที่รวมเรื่องเซิร์ฟเวอร์และเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาเข้าด้วยกัน ในขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นสายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่าง Power ที่เริ่มเติบโตขึ้นด้วย

Blognone Jobs Premium