ไมโครซอฟท์: มูลค่าจากเครือข่าย

by chayaninw
17 May 2009 - 12:50

จาก Ask Blognone อันล่าสุดในหัวข้อ ทำไมคุณถึงเป็น “I’m a PC” (ซึ่งกำลังโต้ตอบกันร้อนแรงอีกตามเคย) ผมได้ลองอ่านดู และได้พิจารณาตอนที่จะตอบของตัวเอง และหลังจากนั้นก็อ่านคำตอบของคนที่มาทีหลัง ผมได้สรุปเป็นความคิดสำหรับตัวเองได้ว่า ข้อดีหรือจุดแข็งของสินค้าไมโครซอฟท์ (วินโดวส์) ในสายตาของคนทั่วไป มีจำนวนมากที่เป็นผลจากเครือข่าย ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม

แน่นอนว่าวินโดวส์เอง ก็มีข้อดีในลักษณะของผลิตภัณฑ์ ที่เป็นมูลค่าของมัน เช่น การจัดระบบอะไรต่างๆ อย่างไม่ยากนัก แก้ไขอะไรก็มีหน้าตาเป็นปุ่มเป็นข้อความกดๆ คลิกๆ เอาได้ (เทียบกับลินุกซ์ที่อาจจะซับซ้อนกว่า ยุ่งยากกว่า อาจจะต้องใช้ command line หรือเข้าเป็น root เป็นอะไร) ตัวซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์อย่างชุดออฟฟิศก็นับว่าเป็นชุดออฟฟิศที่เรียกได้ ว่าดีหรือดีมาก (นอกจาก presentation ที่ PowerPoint คงแพ้ Keynote แต่ก็ยังดีกว่า OO.o Impress อยู่) รูปแบบของระบบเองอาจจะเหมาะกับโปรแกรมบางประเภทมากกว่า (อันนี้ผมไม่มีความรู้เชิงเทคนิค ไม่ทราบว่ามันแตกต่างกันได้ขนาดไหน)

นอกจากนี้ คนยังคงใช้ไมโครซอฟท์ด้วยเหตุผลด้านต้นทุนทางการเปลี่ยนแปลง (เช่น ถ้าจะย้ายระบบจากวินโดวส์ไปหาแมคหรือลินุกซ์ ก็จะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ใหม่) แต่ต้นทุนนี้เกิดจากว่า คนเองใช้วินโดวส์อยู่แล้ว ซึ่งก็คงเกิดจากการที่ช่วงหนึ่งในอดีต ผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์เอง “มีดี” กว่าคู่แข่งในตลาดจนสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้สูงขนาดนี้

แต่ในขณะเดียวกัน ลองดูเหตุผลที่หลายๆ คนใช้วินโดวส์ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่า เรื่องเครือข่ายมีผลที่ทำให้มูลค่าของวินโดวส์มากขึ้นไปอีก

  • ลูกค้าใช้/ที่ทำงานใช้/เพื่อนใช้/มหาลัยใช้/ฯลฯ อันนี้เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของการอยู่บนเครือข่ายเดียวกัน

  • ซอฟต์แวร์หลากหลาย/ซอฟต์แวร์เฉพาะทาง/เล่นเกม เรื่องของซอฟต์แวร์เหล่านี้ หากตัดเรื่องข้อจำกัดของระบบปฏิบัติการ (ซึ่งผมไม่รู้ว่ามีความแตกต่างกันมากแค่ไหน) การที่มีซอฟต์แวร์ออกมาบนวินโดวส์มาก ไมว่าจะเป็นโปรแกรมงานหรือเกม น่าจะเกิดจากการที่ตลาดวินโดวส์ใหญ่ ลองดูง่ายๆ ว่า ถ้าคุณจะเขียนโปรแกรมเกมขึ้นมาสักเกมหนึ่ง โดยคุณต้องเลือกเขียนทีละระบบปฏิบัติการ ถามว่ามีแนวโน้มจะเอาไปลงบนระบบไหนมากที่สุด แน่นอนว่าระบบที่มีโอกาสทำตลาดง่ายที่สุดก็คือระบบที่มีคนทั่วไปใช้มาก ที่สุด ยิ่งระบบมีคนมาก คนเข้าไปเขียนซอฟต์แวร์ก็ยิ่งมาก และซอฟต์แวร์มากก็ทำให้คนหันมาใช้ระบบมาก วนเวียนกันไป

  • ปัญหากับฮาร์ดแวร์น้อย ในกรณีนี้หากตัด Apple ที่เลือกจะทำซอฟต์แวร์มาทำงานบนฮาร์ดแวร์ของตัวเอง (และวางตลาดค่อนข้างบน) ไมโครซอฟท์ก็ได้เปรียบเลือกการทำงานร่วมกับฮาร์ดแวร์มากกว่าลินุกซ์ ซึ่งกรณีนี้ การมีคนใช้มากของไมโครซอฟท์ก็ contribute ให้กับสถานการณ์นี้เหมือนกัน ลองคิดดูว่า บริษัทฮาร์ดแวร์ที่ผลิตฮาร์ดแวร์แล้ว incompatible กับวินโดวส์จะเกิดอะไรขึ้น (ฮาร์ดแวร์ในที่นี้ รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ในตัวเครื่อง และบรรดา gadget ต่างๆ อย่างกล้องถ่ายรูป เครื่องเล่นเพลง ฯลฯ) ถ้าอุปกรณ์ใช้กับวินโดวส์ไม่ได้ มีแนวโน้มที่อุปกรณ์จะผิด (มีช่วงแรกๆ ของ Vista ที่มีปัญหาเรื่องเข้ากันไม่ได้แล้วทำให้คนไม่ใช้วิสตา แต่ยาวๆ แล้วอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องออกมา certify เรื่อง Vista compatability) แล้วกับคนใช้ลินุกซ์ล่ะ? ตัวอย่างหนึ่งที่เจอกับตัวเองคือ คอมพิวเตอร์โตชิบาของผมเปิด Bluetooth ไม่ได้ เพราะมันปิดอยู่ และต้องใช้โปรแกรมของโตชิบาเปิด ซึ่งแน่นอนว่า โตชิบาซัพพอร์ตแต่วินโดวส์

  • ความเข้ากันได้กับเอกสารของคนอื่นๆ แน่นอนว่า ในด้านเอกสารแล้ว ไฟล์ออฟฟิศของไมโครซอฟท์ ไม่ว่าจะเป็น .doc .xls .ppt นั้นเปรียบเสมือนเป็นมาตรฐานแบบ de facto อยู่แล้ว ดังนั้นคนที่จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนไฟล์เหล่านี้กับคนอื่นที่ใช้ MS Office ก็โดนบังคับกลายๆ ให้ใช้ MS Office ไปด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ว ในสถานการณ์ที่ทำงานเองคนเดียว คนเหล่านี้อาจไม่เลือกใช้โปรแกรมนี้ก็ได้ อย่างที่บอกไปว่า ชุดออฟฟิศของไมโครซอฟท์เรียกได้ว่าดี แต่หลายคนก็ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้งานอะไรลึกมากมาย หรือฟังก์ชันที่ดีกว่าเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่คุ้มกับราคาที่แพงกว่าก็ได้ รุ่นน้องคนหนึ่งของผมตัดสินใจซื้อ Microsoft Office 2007 เขาบอกผมว่า เขาทนใช้ OpenOffice(.org) ไม่ได้ ทีแรกผมเข้าใจว่า อาจจะจัดงานออกมาได้ไม่ดีเท่า หรือการใช้งานไม่คุ้นชินทำให้ productivity ต่ำ แต่เขาขยายความทีหลังว่า เรื่อง interoperability มันยังไม่สมบูรณ์ (แต่ในกรณีนี้ ยังไงเขาก็คงใช้วินโดวส์อยู่แล้ว ได้ OEM มาด้วย)

  • มี Internet Explorer ไว้เปิดเว็บไซต์เจ้าปัญหาต่างๆ ผมเชื่อว่า ถ้าแต่ละ OS มีส่วนแบ่งผู้ใช้ใกล้ๆ กันแล้ว ยังไงเว็บไซต์ต่างๆ ก็ต้องแคร์กันมากกว่านี้ครับ (ถึงการเขียนให้วินโดวส์อาจจะมากกว่า แต่มูลค่าตลาดที่สูงขึ้นย่อมทำให้การเขียนให้ OS อื่นคุ้มค่ามากขึ้น)

เราจะเห็นได้ว่า อันที่เลือกมายกตัวอย่างมานี้ เกิดขึ้นจากเครือข่าย พูดง่ายๆ คือ ยิ่งคนใช้เยอะ มูลค่ามันก็ยิ่งสูงตาม

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องที่เคยได้ยินมา เป็นเรื่องของ network economics ครับ ผมเองก็เพิ่งเคยได้ยินมาไม่นานนัก และยังไม่เคยได้ศึกษาอะไรเท่าไร แต่ก็พอจะอธิบายได้ว่า network effect ทำให้มูลค่าของสินค้ามันมากขึ้น ตัวอย่างของ network effect ก็อย่างเช่น โทรศัพท์ ถ้าทั้งโลกมีคนใช้โทรศัพท์อยู่คนเดียว มูลค่าของโทรศัพท์ก็คงต่ำเตี้ยติดดิน

ถ้ามาดูบริการออนไลน์ ซึ่งจะมีแบบ ระบบใครระบบมัน อย่าง instant messaging ก็จะเป็นเรื่องของ network effect เด็กๆ ที่เริ่มใช้ Windows Live Messenger ตอนนี้ ก็คงไม่เลือกเพราะ WLM มันดีกว่า GTalk, AIM, Yahoo! หรือ Skype แต่เลือกเพราะคนอื่นๆ ใช้ระบบของ WLM (อย่าง Skype ที่ว่าดีมาก เราก็ไม่ได้ออนกันแบบ regular basis เหมือน Windows Live) เว็บไซต์จำพวก social network ก็น่าเข้าข่ายนี้ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Hi5, Twitter

ถ้าให้ลองวิเคราะห์ดูเล่นๆ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นฝ่ายรอง จะมีโอกาสตีกลับขึ้นมาได้ ก็คงจำเป็นที่จะต้องทำให้เห็นว่า สินค้าหรือบริการของตัวเองนั้นดีกว่ามากๆ อย่างคนไทยหันมาใช้ Facebook มากขึ้นในช่วงหลังทั้งที่ Hi5 ครองตลาดเมืองไทยอยู่เดิม น่าจะเกิดจากการที่ Facebook มีระบบที่เสถียรกว่า มี application ดีกว่า (แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของเครือข่ายด้วย เพราะ Facebook มีเครือข่ายของคนใช้ทั่วโลกสูงมาก ซึ่งคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาติก็มีแนวโน้มจะใช้ Facebook ซึ่งก็ดึงคนอื่นๆ มาใช้กันมากขึ้น เรื่องของ app ก็เกี่ยวกับเครือข่ายด้วยเหมือนกัน)

ดังนั้นการที่ระบบปฏิบัติการอื่นจะมีบทบาทมากขึ้น ส่วนที่ยากที่สุดคงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะต้องดึงให้คนหันมาใช้ ซึ่งยิ่งคนหันออกจากวินโดวส์มากขึ้น มูลค่าที่เกิดจากเครือข่ายตรงนี้ก็จะยิ่งมีน้อยลง และดึงให้คนหันออกมาได้มากขึ้นอีก ซึ่งสิ่งนี้คงไม่ใช่งานง่ายแน่นอน เพราะจะต้องพัฒนาสินค้าให้ดีจนเอาชนะทั้งผลจากเครือข่าย และผลจากต้นทุนการเปลี่ยนแปลงให้ได้

Blognone Jobs Premium