รู้จัก Fedora Silverblue กับแนวคิด OS แก้ไขไม่ได้ (Immutable OS) ที่ใช้ในเดสก์ท็อป

by mk
1 June 2020 - 00:39

Immutable OS เป็นแนวคิดใหม่ของวงการระบบปฏิบัติการ ที่พยายามสร้าง OS แบบอัพเดตแยกส่วนไม่ได้ (ป้องกันอัพเดตบางส่วนแล้วพัง) แต่หันมาใช้ระบบอัพเดตทั้งอิมเมจแทน (แล้วสลับอิมเมจเอา) หากอัพเดตแล้วมีปัญหาก็สามารถสลับคืนไปอิมเมจเก่าได้ทันที

ตัวอย่างของ OS กลุ่มนี้คือ CoreOS ซึ่งมักใช้ในงานเซิร์ฟเวอร์-คอนเทนเนอร์ หรือ Android/Chrome OS ก็ใช้แนวทางการอัพเดตตัวระบบปฏิบัติการหลักแบบนี้เช่นกัน

Fedora Silverblue (ชื่อเดิมคือ Fedora Atomic Workstation) เป็นโครงการย่อยของ Fedora ที่นำแนวคิด Immutable OS มาใช้กับงานเดสก์ท็อป-เวิร์คสเตชัน หลักการของมันคือตัว root filesystem เป็นแบบอ่านได้อย่างเดียว (read-only) เพื่อป้องกันการแก้ไข จากทั้งมัลแวร์ที่ตั้งใจประสงค์ร้าย และความผิดพลาดของผู้ใช้

Fedora Silverblue ใช้ระบบแพ็กเกจแบบ RPM/Flatpak เช่นเดียวกับ Fedora รุ่นปติ แต่เพิ่มเลเยอร์ของ OSTree ที่มองระบบปฏิบัติการเป็นต้นไม้ (tree) โดยดึงแพ็กเกจซอฟต์แวร์ต่างๆ เข้ามาประกอบร่างกันเป็นอิมเมจ (นั่นแปลว่าถ้าต้องการเพิ่มแพ็กเกจซอฟต์แวร์บางตัว ต้องสร้างอิมเมจใหม่ทั้งหมด)

ปัจจุบัน Fedora Silverblue มีรอบการออกทุก 6 เดือนเหมือน Fedora รุ่นปกติ ทีมงานของ Silverblue ยอมรับว่าแนวคิด Immutable OS ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างในการใช้งานแบบเวิร์คสเตชัน เช่น การติดตั้งไดรเวอร์บางตัว หรือ การติดตั้งฟอนต์เพิ่มเติมในภายหลัง

ที่มา - Fedora

Blognone Jobs Premium