เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทางบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ที่เป็นบริษัทในกลุ่มทรูที่เน้นบริการสำหรับองค์กร ได้เปิดบริการ True Digital RoboCore บริการหุ่นยนต์ที่ใช้งานเป็นบริการ (robot as a service - RaaS) คุณเอกราช ปัญจวีณิน กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัลโซลูชันส์ของบริษัทก็ได้เล่าถึงแนวทางการใช้งานตอนนี้ในอนาคตผ่านการสัมภาษณ์ออนไลน์ โดยระบุว่าการใช้บริการตอนนี้มักเป็นบริการแนะนำหรือต้อนรับลูกค้า หรือขยายไปยังบริการด้านความปลอดภัยตรวจสอบความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบการสวมอนากากอนามัยไปจนถึงพบผู้ประสบอุบัติเหตุล้มลง หรือตรวจสอบความหนาแน่นในอาคาร แต่การใช้งานในอนาคตเร็วๆ นี้น่าจะได้เห็นการใช้งานเพื่อส่งของกันมากขึ้น
การส่งของนับเป็นแนวทางที่บริษัทหุ่นยนต์หลายแห่งเริ่มนำมาสาธิตกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ที่หลายบริษัทนำหุ่นยนต์ไปสาธิตการส่งยาในโรงพยาบาล คุณเอกราชระบุว่าการใช้งานอาจจะไม่ได้ใช้ทั้งอาคารแต่เป็นการใช้งานในวอร์ดเฉพาะที่ต้องส่งของไปมาบ่อยกว่าปกติ หรืออาจจะต้องการสื่อสารกับผู้ป่วยระหว่างการส่งยา อย่างไรก็ดีแนวทางการใช้หุ่นยนต์ส่งของนั้นมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทางทรู ดิจิทัล กำลังทำงานร่วมกับคอนโดสองแห่งเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการใช้หุ่นยนต์เป็นบริการส่งของขั้นสุดท้ายไปยังห้องผู้พักอาศัยโดยไม่ต้องให้นิติบุคคลจัดการแจกจ่ายของแบบเดิมอีก
คุณเอกราชเล่าถึงอุปสรรคการใช้หุ่นยนต์เพื่อการส่งของในอาคารก่อนหน้านี้ว่าการทำงานร่วมกับลิฟต์เป็นเงื่อนไขสำคัญ โดยก่อนหน้านี้การที่หุ่นยนต์จะสั่งงานลิฟต์ได้ต้องดัดแปลงลิฟต์จนมีต้นทุนที่แพงขึ้นมาก แต่ในช่วงหลังมีตัวแปลงอินฟราเรดทำให้หุ่นยนต์สามารถสั่งงานลิฟต์ได้ง่ายขึ้นมาก เปิดทางที่จะใช้หุ่นยนต์ในการเดินทางไปทั่วทั้งอาคาร อย่างไรก็ดีความยากของการประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนในการใช้งานหุ่นยนต์มาใช้งานยังคงมีปัจจัยหลายอย่างทั้งอัตราการใช้งานของแต่ละอาคารที่ไม่เท่ากัน ไปจนถึงระดับการบริการว่าของต้องไปถึงปลายทางในระยะเวลาเท่าใด