คนที่ตามข่าวชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์หรือชอบประกอบคอมในไทยน่าเคยบ่นหรือเห็นคนบ่นว่า ราคาของซีพียู AMD ในไทยมักสูงกว่าราคาเปิดตัวในสหรัฐอยู่ราว 20%-30%
ผมมีโอกาสได้พูดถึงคุยกับคุณจิระวัฒน์ นันทปราโมทย์ ตำแหน่ง Channel Sales Manager, AMD ประเทศไทยถึงประเด็นเรื่องการกำหนดราคาและต้นทุนส่วนอื่น ๆ ที่กลายเป็นมาราคาขายปลีกของซีพียู AMD ในไทย ที่น่าจะช่วยตอบคำถามข้างต้นครับ
คำตอบสั้น ๆ ว่าทำไมบ้านเราแพงกว่า ก็คือว่า ค่าซีพียูบ้านเราจำเป็นต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (ไม่มีภาษีนำเข้า) ต้นทุนค่าขนส่งและเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเข้าไปจากราคาเปิดตัวด้วย
แต่คุณจิระวัฒน์ก็ยืนยันว่าราคาของซีพียูที่ขายในประเทศไทยพยายามจะทำให้ใกล้เคียงกับราคาที่ขายในสหรัฐมากที่สุดแล้ว ประเด็นคือราคาเปิดตัวอย่าง Ryzen 3 3300X ที่ 120 ดอลลาร์ เป็นราคากลางที่ยังไม่มีการบวกภาษีในแต่ละมลรัฐของสหรัฐเข้าไป (ประมาณ 10%)
นอกจากนี้ผู้ที่กำหนดราคาขายปลีกในประเทศไทยคือตัวแทนจำหน่ายที่เป็นคนนำเข้ามาเป็นหลัก ทาง AMD ประเทศไทยมีหน้าที่กำหนดราคากลางให้เท่านั้น โดยอิงจากราคาซีพียูแต่ละรุ่นบวกค่าขนส่ง (FOB) บวก VAT 7% และอัตราแลกเปลี่ยนที่บวกเอาไว้เล็กน้อย เผื่อความผันผวน เช่นอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่สินค้าชิปเข้ามาไทยอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ ทาง AMD จะคำนวนให้คร่าว ๆ ที่ 31.5 บาท เป็นต้น
คุณจิระวัฒน์บอกว่าหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ใช้โมเดลราคาแบบนี้ และก็ได้รับผลกระทบเรื่องการเปรียบเทียบเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งชี้แจงว่าหากเราสั่งซีพียู AMD จาก Amazon ที่ราคาตั้งต้นถูกกว่าในไทย แต่หากรวมค่าขนส่งและภาษีนำเข้าที่เราอาจจะต้องจ่ายให้ศุลกากร ราคาสุทธิอาจแตกต่างจากราคาขายปลีกในไทยไม่มาก อาจถูกกว่าไม่กี่พัน แต่สิ่งที่เราจะไม่ได้คือประกันนั่นเอง
ส่วนประเด็นในช่วงก่อนหน้านี้ที่มีข่าวว่าซีพียู AMD ในสหรัฐลดราคาลงมาเพื่อชนกับ Intel 10th Gen คุณจิระวัฒน์ยืนยันจากการตรวจสอบว่า ราคาที่ลดเป็นราคาโปรโมชันจากมาร์เก็ตเพลซอย่าง Amazon ไม่ใช่เป็นการลดราคาจาก AMD ลักษณะเดียวกับการจัดโปรโมชันโดย Lazada, Shopee ในบ้านเราที่ทำให้ผู้ขายบน 2 แพลตฟอร์มนี้สามารถขายซีพียูได้ในราคาที่ถูกกว่าตัวแทนจำหน่ายเจ้าอื่น ๆ
นอกจากนี้ผมยังถามด้วยว่าช่วงโควิดที่ผ่านมา AMD ได้รับผลกระทบเรื่องซัพพลายเชนจากผู้ผลิตจาก TSMC มากน้อยแค่ไหนเพราะแทบไม่มีข่าวเลย คุณจิระวัฒน์ก็บอกว่าซัพพลายเชนแทบไม่มีผลกระทบ แถมดีมานด์ยังสูงกว่าปกติด้วย เพราะเป็นช่วง work from home ความต้องการพีซีกลับเพิ่มมากขึ้น (Q2 สูงกว่า Q1 ราว 30%) ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ก่อนหน้าที่คิดกันไว้ว่ายอดจะตก แต่ปัญหาของ AMD ช่วงโควิดมีแค่เรื่องการขนส่งเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาของขาดในหลายประเทศ