สำนักข่าว Nikkei รายงานถึงโรงงานของ PlayStation 4 ที่ไม่ค่อยมีใครรู้นักว่าผลิตยังไง โดยประเด็นน่าสนใจคือโรงงานแห่งนี้อยู่ห่างจากโตเกียวไม่มากนัก และใช้หุ่นยนต์แทบทั้งหมด ในสายการผลิตมีคนงานสองคนสำหรับวาง motherboard เปล่าๆ บนสายพาน กับอีกสองคนเพื่อใส่เครื่องลงกล่อง และสามารถผลิต PS4 ได้ 1 เครื่อง ทุกๆ 30 วินาที โดยสายการผลิตยาว 31.4 เมตร มีหุ่นยนต์ทำงานอยู่ถึง 32 ตัว
โรงงานนี้บริหารโดย Sony Global Manufacturing & Operations (SGMO) ฝ่ายผลิตของ Sony และหนึ่งในความสามารถที่เหนือกว่าโรงงานอื่นคือการใช้หุ่นยนต์เชื่อมวางชิ้นส่วนที่ไม่แข็งเกร็งลงบนตัวเครื่อง เช่น สายไฟ, เทป, และชิ้นส่วนที่อ่อนตัวอื่น เช่นสายไฟแบบริบบอน (สายไฟลักษณะแบนที่ค่อนข้างบอบบาง) เพราะเป็นงานที่ละเอียดอ่อน และต้องใช้แรงพอเหมาะในการเสียบสายที่โดยปกติมักใช้คนประกอบได้ง่ายกว่า
PlayStation ถูกออกแบบให้ผลิตได้ง่ายมาตั้งแต่รุ่นแรก ที่ Teiyu Goto ผู้ออกแบบ ตั้งใจจะให้เป็นคอนโซลที่สามารถผลิตเป็นจำนวนมากได้ง่าย และเป็นผู้ผลักดันให้โรงงานที่ Kisarazu ปรับปรุงสายพานและเทคโนโลยีการผลิต ก่อนจะส่งต่อให้กับบริษัทที่เป็นคู่สัญญาในการผลิตของ Sony และการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตนี้ ก็เป็นส่วนสำคัญในการทำกำไร ในช่วงท้ายของคอนโซลที่ยอดขายมักลดลง
ยังไม่มีข้อมูลว่า PS5 จะผลิตที่โรงงานเดียวกันนี้ หรือมีสายพานการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากเท่ากับ หรือมากกว่า PS4 หรือไม่ แต่เทคโนโลยีสายพานการผลิตที่ล้ำหน้า ก็อาจเป็นอาวุธลับเพิ่มกำไรให้กับ PS5 ได้ แม้ต้องกดราคาให้ต่ำเพื่อแข่งกับ Xbox Series X
ส่วนผู้บริโภคอย่างเรา ก็คงต้องรอติดตามวันที่ทั้ง Sony และ Microsoft พร้อมจะเปิดราคาจำหน่ายให้โลกรู้ต่อไป ว่าเครื่องไหนจะคุ้มค่า และตอบโจทย์ด้านราคา ในเศรษฐกิจโลกยุคหลัง COVID-19 กว่ากัน
ที่มา - Nikkei Asian Review