ในงาน dtac เล่าสู่กันฟัง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร dtac เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาของ dtac ระบุ แม้ยอดผู้ใช้ลดลง แต่ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยว และแรงงานต่างชาติในไทยที่ลดลงเพราะโรค COVID-19 และยังยืนยันว่าตัวเลขผู้ใช้งานที่เป็น active-user และมีการใช้งานโทรศัพท์ต่อเนื่อง ไม่ลดลงมากนัก
นอกจากนี้ยังเปิดเผยเทรนด์การใช้งานว่าในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ผู้ใช้มือถืออาจยืดเวลาการเปลี่ยนมือถือไปถึง 36 เดือน และการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือ เริ่มกระจายตัวออกไปนอกเขตธุรกิจ และนอกกรุงเทพมหานครฯ มากขึ้น เนื่องมาจากการทำงานจากบ้าน และการย้ายกลับต่างจังหวัดของพนักงานหรือลูกจ้างในกรุงเทพ ที่มีตำแหน่งงานน้อยลง โดยมียอดการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือในต่างจังหวัดมากขึ้นถึง 5 เท่า และปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือ ช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ปี 2563 สูงขึ้นถึง 44% จากปีที่แล้ว
dtac เตรียมโฟกัสที่การพัฒนาระบบโครงข่าย 4G เดิม โดยการพัฒนาโครงข่าย Massive MIMO และเร่งขยายเสาสัญญาณ 4G แบบ TDD (Time Division Duplex) เป็นมากกว่า 20,000 เสาทั่วประเทศภายในปีนี้ และจะพัฒนาโครงข่าย 5G เป็นลำดับต่อไป โดยจะเปิดให้ใช้งานช่วงคลื่น 26GHz ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ (ล่าช้าจากกำหนดการเดิม ไตรมาสที่ 2 เนื่องจากการระบาดของ COVID-19) สำหรับใช้งานในโซนอุตสาหกรรม เช่น ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก่อนจะเริ่มเปิดให้ใช้งานคลื่น 700 MHz สำหรับผู้บริโภคทั่วไป ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ส่วนในด้านคลื่น 2300 MHz ยังอยู่ในช่วงหารือกับ TOT และ กสทช.
ที่มา - งานแถลงข่าว “dtac เล่าสู่กันฟัง”