รัฐบาลอินเดียประกาศแข่งขันออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ฝังตัวเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไอทีในประเทศ แต่จุดน่าสนใจคือการแข่งขันครั้งนี้บังคับว่าต้องใช้ซีพียู RISC-V ในการแข่งขันเท่านั้น โดยใช้ซีพียูได้สองตระกูลได้แก่ Shakti และ Vega ที่เป็นซีพียูโอเพนซอร์สทั้งคู่สามารถอิมพลีเมนต์บนชิป FPGA ได้
RISC-V เป็นชุดคำสั่งแบบโอเพนซอร์สที่เปิดให้บริษัทต่างๆ ใช้งานได้ฟรี ทำให้ไม่ต้องเสียค่าไลเซนส์สำหรับการผลิตเพิ่มเติม ขณะที่ชุดคำสั่งอย่าง x86 หรือ ARM นั้นมีบริษัทถือสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้บริษัทออกแบบซีพียูต้องไปซื้อสิทธิ์ในการออกแบบชิปตามชุดคำสั่งมา อย่างไรก็ดีซีพียูที่ออกแบบตามชุดคำสั่ง RISC-V เองไม่จำเป็นต้องเป็นซีพียูโอเพนซอร์สเสมอไป ในกรณีการแข่งขันครั้งนี้ทั้ง Shakti และ Vega เป็นซีพียูโอเพนซอร์สทั้งคู่ทำให้ผู้แข่งขันสามารถนำโค้ดมาสร้างซีพียูใน FPGA ด้วยตัวเองได้ ในสองตระกูลนี้ Shakti มีความก้าวหน้าในการผลิตมากกว่าจากการผลิตชิปทดสอบไปแล้วด้วยเทคโนโลยี 180 นาโนเมตรและ 22 นาโนเมตร
การแข่งขันการออกแบบคอมพิวเตอร์นี้จะทำให้มี "ซอฟต์แวร์" ที่รันบนซีพียูทั้งสองตระกูลได้มารอใช้งานเมื่อชิปทั้งสองตระกูลพร้อมสำหรับการผลิตจริงในอนาคต แนวทางการใช้งานที่รัฐบาลอินเดียเปิดแข่งขันไม่ได้ซับซ้อนมากนัก เช่นระบบ IoT ควบคุมไฟฟ้า, ประปา, เปิดปิดประตู บางระบบที่ซับซ้อนขึ้นอาจจะมีการจดจำใบหน้าไปจนถึงการควบคุมโดรน
การแข่งขันเริ่มเปิดรับใบสมัคร และจะใช้เวลาแข่งขันถึง 10 เดือน รางวัลที่ 1 มีเงินรางวัลลงทุนสตาร์ตอัพ 23 ล้านรูปีหรือประมาณ 10 ล้านบาท มี 10 รางวัล
ที่มา - The Register