ศึกล้างตระกูลปาล์ม: เมื่อไมโครซอฟท์ทำศึกยึดตลาดมือถือและพีดีเอ

by putchonguth
30 May 2009 - 18:50

หลังจากปล่อยบทความเรื่อง ไมโครซอฟท์ออฟฟิศพิชิตโลก แล้วมีคนอยากอ่านแบบไตรภาคสตาร์วอร์ วันนี้เลยขอปล่อยเรื่อง ศึกล้างตระกูลปาล์มบ้าง ลองมาดูว่าทำไมโลกของมือถือแบบพีดีเอถึงถูกไมโครซอฟท์ยึดไปได้ครับ ตอนนี้แอนดรอยกำลังจะเริ่มออกตัว เผื่อจะได้เทียบกันดู

ที่จริงแล้วอุปกรณ์แบบพีดีเอเป็นความฝันของมนุษย์มานาน หนังบางเรื่องเช่น สตาร์เทรค ก็แสดงอุปกรณ์บางอย่างที่คล้ายๆ กันมาตั้งแต่ปี 1960 กว่าๆ แต่บริษัทที่เรียกได้ว่าทำพีดีเอออกมาขายจริงเจ้าแรกคือแอปเปิล โดยออกอุปกรณ์ที่เรียกว่า "นิวตัน"

นิวตันนับว่ามีจุดเด่นล้ำยุคหลายเรื่อง แต่แอปเปิลเล็งผลเลิศกับเทคโนโลยีวิเคราะห์ลายมือเขียนมากเกินไป ฮาร์ดแวร์สมัยนั้นยังทำงานช้าและซอฟต์แวร์ด้านนี้ยังไม่ก้าวหน้าพอ (สังเกตุว่าขนาดไอโฟนยังหันมาพัฒนาเทคโนโลยีมือกดคีย์บอร์ดแทนเลยครับ) ทำให้นิวตันสวยแต่แพงมากๆ และช้าจึงไม่ได้รับความนิยม

ปาล์มแก้ปัญหานี้โดยการใช้อักษรแบบย่อที่เรียกว่า กราฟฟิติ (Graffiti) ซึ่งเป็นการจัดสมดุลย์ระหว่างความง่ายในการเขียนและความซับซ้อนของซอฟต์แวร์ ทำให้เราเรียนรู้นิดหน่อยก็สามารถเขียนให้เครื่องอ่านได้ ผมเคยใช้ Palm Pilot กับเครื่องสุดสวย Sony Clie อยู่พัก ใช้สนุกดีมากเลยครับ เครื่องเหล่านี้แทบจะก้าวเข้ามายึดโลกในชั่วข้ามคืน

เมื่อพีดีเอเริ่มเป็นสินค้าขายดี ทางไมโครซอฟท์ก็เริ่มเข้ามาร่วมวง ส่งเครื่องวินโดวส์โมบาย รุ่นแรกๆ อ้วนใหญ่ ช้าและแพงมากเมื่อเทียบกับปาล์ม โชคดีที่ทาง Compaq ได้ทำเครื่อง iPAQ ออกมาได้ดี ตลาดนี้จึงพอไปได้ แต่ยังแข่งกับปาล์มแทบไม่ได้เพราะแพงมาก

จุดเปลี่ยนอยู่ตรงไหนครับ

ผมว่ามีอยู่สามสี่เรื่องด้วยกันครับ

หนึ่ง

ไมโครซอฟท์ใช้ความได้เปรียบจากการใช้วินโดวส์เป็นฐาน มีจุดอ่อนตอนแรก แต่เด่นทีหลัง เนื่องจากวินโดวส์เป็นการพัฒนาจาก top down มาจะกินทรัพยากรฮาร์ดแวร์มากกว่าปาล์มโอเอส แต่การรองรับเครือข่ายไร้สาย มัลติมีเดียจะทำได้ง่ายและดีกว่าเพราะเอามาจากวินโดวส์

ส่วนปาล์มเป็นแบบ bottom up พัฒนาปาล์มโอเอสที่ทำงานกับฮาร์ดแวร์เบาๆ ได้ดีกว่า ทำให้ในช่วงแรก ปาล์มได้เปรียบด้านความเร็วและราคาที่ถูก แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านฮาร์ดแวร์และวิธีการใช้งานทำให้ข้อได้เปรียบนี้หมดลง เมื่อฮาร์ดแวร์เร็วและประหยัดไฟเรื่อยๆ

เมื่อฮาร์ดแวร์พัฒนาจนเร็วในระดับหนึ่งที่สัก 300-400 MHZ จะไม่มีความแตกต่างด้านความเร็วที่เห็นได้ชัด อีกอย่าง ระบบเครือข่ายเริ่มซับซ้อน ต้องใส่ Wi-Fi และฟังก์ชันโทรศัพท์ เมื่อต้องการระบบโอเอสที่ซับซ้อน วินโดวส์จะได้เปรียบกว่าปาล์มมาก

สอง

ไมโครซอฟท์รู้จักใช้ความได้เปรียบที่ตัวเองเป็นคนคุมชิ้นส่วนสำคัญของโลกไอที เช่น วินโดวส์ ออฟฟิศ ทำให้การใช้งานวินโดวส์โมบายร่วมกับพีซีทำได้ราบรื่น และการนำมาใช้งานภายในบริษัทก็ทำได้ดี ที่จริงแล้วตลาดองค์กรช่วยทำให้วินโดวส์โมบายรอดอยู่ได้ในช่วงที่เครื่องยังแพง ตามหลักยุทธศาสตร์แล้ว การเลือกสนามรบในเขตที่ถนัดทำให้ได้เปรียบครับ

ในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง พม่ายกมาเก้าทัพ ไทยเราแทนที่จะรอพม่ามาถึงกรุงเทพแล้วตั้งรับ เรากลับพลิกกลยุทธ์ส่งกรมพระราชวังบวรสุรสีหนาท ออกไปตั้งรับที่ลาดหญ้า เลือกสมรภูมิที่ทัพใหญ่พม่าถูกยันติดในช่องเขาใช้กำลังไม่ออก ทำให้ทัพไทยที่เล็กกว่ามากได้เปรียบและตีทัพพม่าแตกไปได้ การเลือกสนามรบที่ดีที่คุมทุกอย่างได้จึงเป็นความได้เปรียบอย่างมาก

สาม

ไมโครซอฟท์ไม่ทำเครื่องเองแต่สร้างสภาพแวดล้อมสำหรับพันธมิตรได้ดี ช่วยให้คนทำเครื่องออกมาให้ใช้เป็นจำนวนมากและหลากหลาย ทั้งเจ้าเก่าอย่าง HP เจ้าใหม่ เช่น ASUS และ HTC กลยุทธ์นี้ช่วยกระจายความเสี่ยงและสร้างความหลากหลายมากขึ้น เมื่อนั้นคนก็เริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์มาให้ใช้กัน

สี่

ไมโครซอฟท์มีความมุ่งมั่นและพลังการเงินสูง แม้ว่าในช่วงแรก ผลิตภัณฑ์ยังไม่ทำกำไรเขาก็ยังผลักดันต่อตามวิสัยทัศน์แห่งอนาคตของเขา ค่อยๆ ยึดดินแดนแผ่อาณาจักรไปเรื่อย ตอนนี้แม้กูเกิลครองโลกการค้นข้อมูลอยู่ ไม่ได้หมายความว่าทางไมโครซอฟท์จะเลิกสู้ เขาก็ยังออกอะไรใหม่ๆ มาเรื่อยเพราะทรัพยากรเขาพอ เขาจะจ้องพลิกสถานะการณ์ไปอีกหลายปี ลองดู เรื่อง MSN เรื่องเบราว์เซอร์ครับ จะเห็นข้อนี้ชัด

จุดเปลี่ยนรุนแรงมาถึงเมื่อเข้ายุค PDA Phone ทำให้ตลาดขยายตัวออกอย่างเร็วมาก คนที่ใช้ PDA Phone ก็เริ่มหันออกมาใช้วินโดวส์โมบายมากกว่าปาล์มอย่างรวดเร็ว สุดท้ายปาล์มโอเอสก็ตาย โชคดีที่ปาล์มกลับลำมาทำ Palm Trio ซึ่งทำให้รอดได้ในตลาดสำเร็จ ไม่ตายเลยเหมือน Netscape ครับ
เรื่องนี้สอนเราว่าอย่างไร

สอนว่าในโลกไอทีวิสัยทัศน์และความสามารถบริหารการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเทคโนโลยีกับความต้องการของผู้ใช้นั้นเปลี่ยนทุกวัน ต้องทำนายอนาคตและไปอยู่ที่จุดนั้นให้ได้เลย

ในโลกการประดิษฐ์ มีคนคิดผลิตภัณ์แห่งอนาคตแล้วล่มสลายมามาก เช่น ห้องปฏิบัติการซีร็อกซ์ เป็นคนคิดระบบติดต่อกับผู้ใช้แบบกราฟิแต่แอปเปิลกลับเป็นคนทำมาขายแทน ดังนั้นทรัพยากรและความมุ่งมั่นที่จะผลักดันผลิตภัณ์แห่งอนาคตเหล่านี้ให้เกิดได้ก็สำคัญครับ

ก่อนจบขอยกคำพูดของนโปเลียนมาใช้หน่อยครับ

The battlefield is a scene of constant chaos. The winner will be the one who controls that chaos, both his own and the enemies.

สนามรบคือฉากแห่งความสับสนวุ่นวายอย่างต่อเนื่อง ผู้ชนะคือคนที่ควบคุมความสับสนวุ่นวายทั้งของเขาและศัตรูไว้ได้

ใช้กับข้อ หนึ่ง สอง สาม

Victory belongs to the most persevering.

ชัยชนะเป็นของผู้ที่อดทนได้มากที่สุด

ใช้อธิบายข้อสี่ครับ

Blognone Jobs Premium