เทียบบริการคลาวด์เกมมิ่ง Luna, Stadia, Xbox Game Pass Ultimate, GeForce Now และ PS Now

by mheevariety
30 September 2020 - 09:37

คลาวด์เกมมิ่งถูกคาดหมายว่าเป็นอนาคตของวงการเกมหลังยุคเกมแบบดิจิทัล ทำให้หลายเจ้าต่างกระโดดเข้ามาสมรภูมินี้ รายล่าสุดก็เป็น Amazon ที่เพิ่งเปิดตัว Luna บริการคลาวด์เกมของตัวเองที่เล่นผ่านเว็บแอปได้ ส่วน Microsoft ก็รวมบริการ xCloud มาใน Xbox Game Pass Ultimate และ GeForce Now ก็ออกจากเบต้าไปเมื่อต้นปีนี้ ส่วน PS Now ก็กำลังเร่งพัฒนาตามมา

บริการเหล่านี้ มีโมเดลการจ่ายเงินและประเภทของเกมแตกต่างกันออกไป แม้บ้านเราจะยังใช้บริการส่วนใหญ่ไม่ได้ แต่วันนี้ผมจะลองเปรียบเทียบข้อมูลเบื้องต้นในปัจจุบันของแต่ละบริการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในอนาคตของผู้อ่าน หรืออาจจะเป็นข้อมูลในการเลือกฝั่งในการซื้อคอนโซล หรือพีซี เพื่อรองรับบริการเหล่านี้ในอนาคตก็ได้

Amazon Luna

Amazon Luna ใช้โมเดลจ่ายเงินแบบเลือกช่อง (channel) ในแต่ละช่องจะมีเกมแตกต่างกันไป ในปัจจุบันมีช่องให้เลือกเพียงช่องเดียว คือ Luna+ (พลัสอีกแล้ว) ซึ่งมีเกมจากหลายค่ายรวมกัน ทั้งจากค่ายใหญ่และเกมอินดี้ เช่น Resident Evil 7, Control, Yooka-Laylee, GRID, และ Brothers: A Tale of Two Sons ในราคา 5.99 เหรียญต่อเดือน (ราว 190 บาท) มีจอยของตัวเองแยกขายในราคา 49.99 เหรียญ ที่ต่อตรงเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อลด latency แต่ก็รองรับจอย Xbox One, Dualshock 4, และเมาส์/คีย์บอร์ดด้วยเช่นกัน

ส่วนอีกช่องที่จะมาเร็วๆ นี้ คือช่องของ Ubisoft ที่ยังไม่กำหนดราคา ทั้งสองช่องจะมีเกมรวมกันประมาณ 50 เกม แม้การเพิ่มเกมในอนาคตจะทำได้ไม่ยาก เพราะ Luna รันบนเซิร์ฟเวอร์ระบบปฏิบัติการ Windows และใช้จีพียู NVIDIA ที่เป็นมาตรฐานของวงการเกม แต่ก็ยังไม่แน่ว่า Amazon จะสามารถดีลกับนักพัฒนาเกมเจ้าอื่นนำเกมมาลง Luna ได้หรือไม่

ส่วนประเด็นเรื่องเกมเอ็กซ์คลูซีฟ แม้ Amazon จะมีสตูดิโอเกมเป็นของตัวเอง แต่เกมที่สร้างก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

Amazon Luna ยังไม่เปิดให้เลือกซื้อเกมเองเป็นรายเกม แถมแต่ละช่องก็มีเงื่อนไขต่างกันไป เช่นช่องของ Ubisoft สามารถเล่นเกมได้ทีละเครื่อง ในขณะที่ Luna+ เล่นพร้อมกันได้หลายเครื่องบนบัญชีเดียว

การเล่นเกมของ Luna เล่นได้ทั้งบน PC, Mac, Fire TV, และ iOS (ผ่านแว็บแอป) มีฟีเจอร์เชื่อมต่อกับ Twitch ให้คนดูสามารถกดเล่นเกมที่กำลังรับชมสตรีมอยู่ได้ทันที แต่ยังไม่เปิดเผยว่าจะใช้งานได้เมื่อไร

Luna รองรับการเล่นเกมที่ 1080p ที่ 60 เฟรมต่อวินาที และจะรองรับ 4K ในอนาคต ผู้ใช้ต้องมีอินเทอร์เน็ตระดับ 10Mbps สำหรับการเล่นเกม 1080p และ 35Mbps สำหรับ 4K สถานะปัจจุบัน คือเพิ่งเปิดให้เข้าร่วมทดลองแบบ Early Access ในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว

Google Stadia

Stadia บริการคลาวด์เกมมิ่งจาก Google เปิดตัวช่วงพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยเป็นการสตรีมเกมจากเซิร์ฟเวอร์ของ Google ที่ใช้ฮาร์ดแวร์เฉพาะรันลินุกซ์ ผู้พัฒนาเกมจึงจำเป็นต้องพอร์ตเกมมาลงลินุกซ์ก่อน ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ผู้พัฒนาเกมอาจไม่อยากลงทุนเพิ่ม แถมเกมเวอร์ชั่น Stadia ยังเล่นออนไลน์เพื่อนบนเครื่องอื่นไม่ได้

Stadia มีรูปแบบการบริการทั้งแบบเช่าเครื่องฟรี แต่ต้องซื้อเกมแยกเอง เล่นได้ที่ความละเอียดสูงสุด 1080p หรือจะจ่ายรายเดือนกับ Stadia Pro ในราคา 9.99 เหรียญ (ราว 320 บาท) เพื่อเล่นเกมที่ซื้อบนความละเอียด 4K และเลือกเก็บเกมฟรีที่เล่นได้แค่ตอนยังจ่ายค่าสมาชิกอยู่ และมีเกมมาเพิ่มทุกเดือนได้ (คล้ายเกมฟรีบน PS+) ในอนาคตจะสามารถกดเข้าเล่นเกมผ่านวิดีโอบน Youtube ที่ดูอยู่ได้ทันที และเปิดให้บริการแล้ว ใน 14 ประเทศทั่วโลก

ปัจจุบันเกมบน Stadia มีประมาณ 88 เกม แม้ก่อนหน้านี้มีข่าวจากฝั่งนักพัฒนาว่า Google ยังไม่กล้าทุ่มเงินซื้อเกมมาลงบนแพลตฟอร์ม แต่ก็กำลังพัฒนาเกมจากสตูดิโอของตัวเองอยู่

หากเล่นบนทีวีผ่าน Chromecast Ultra จะรองรับจอย Stadia Controller ที่ราคา 69 เหรียญ (ราว 2,190 บาท) เท่านั้น แต่บนมือถือ หรือเวอร์ชั่น Google Chrome บนพีซี จะรองรับจอย Xbox 360, Xbox One, Dualshock 4 ไปจนถึงจอย Pro ของเครื่อง Switch

Xbox Game Pass Ultimate

บริการเกมสตรีมมิ่งจากฝั่ง Microsoft ที่ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่าโปรเจกต์ xCloud ตอนนี้ถูกรวมอยู่ใน Xbox Game Pass Ultimate ราคา 14.99 เหรียญต่อเดือนแล้ว (ราว 475 บาท) โดยสมาชิกจะได้ทั้งเกมที่โหลดมาเล่นได้จาก Game Pass และบริการสตรีมมิ่งผ่านคลาวด์ ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วใน 22 ประเทศ

ข้อจำกัดของ Game Pass Ultimate ตอนนี้ คือการเล่นเกมแบบสตรีมมิ่งยังทำได้แค่บนมือถือหรือแท็บเล็ตแอนดรอยด์เท่านั้น (บน PC จะตามมาในอนาคต) มีเกมที่รองรับประมาณ 150 เกม

แม้เครื่องเซิร์ฟเวอร์ปัจจุบันยังเป็น Xbox One S และรองรับความละเอียด 720p ที่รีเฟรชเรต 60Hz อยู่ แต่ Microsoft ก็มีแผนอัปเกรดเครื่องเป็น Xbox Series X ในปีหน้า และการใช้ฮาร์ดแวร์ของ Xbox ก็ได้เปรียบในด้านการนำเกมที่มีบนแพลตฟอร์มอยู่แล้วมาเพิ่มลงในบริการแบบคลาวด์ได้ทันที

Game Pass Ultimate มีข้อได้เปรียบคือ Microsoft จะเพิ่มเกมที่เป็นเฟิร์สปาร์ตี้เข้ามาใน Game Pass Ultimate ตั้งแต่วันแรกที่วางจำหน่าย และเกมที่เพิ่มมาบน Game Pass Ultimate จะสามารถนำมาให้เล่นบนระบบสตรีมมิ่งได้เลย นักพัฒนาแค่ต้องเลือกจะว่าจะนำเกมลงระบบคลาวด์ด้วยหรือไม่

เมื่อบวกกับที่ Microsoft กำลังซื้อสตูดิโอเกมต่างๆ มาอยู่ในสังกัด เช่น Bethesda และดีลกับ EA ให้สมาชิกเล่นเกมจาก EA Play ได้โดยไม่เสียเงินเพิ่ม ทำให้ Game Pass และ xCloud มีจุดแข็งเรื่องจำนวนเกมดังๆ อย่างมากในระยะยาว

GeForce Now

GeForce Now เป็นบริการเล่นเกมผ่านคลาวด์ของ NVIDIA ที่ผู้เล่นจะสามารถเล่นเกมที่ตัวเองมีอยู่แล้ว โดยจะเชื่อมกับ Steam, Epic Games Store, Battle.net, และ Uplay เพื่อเพิ่มเกมที่ผู้เล่นมีลงในไลบรารีโดยอัตโนมัติ เล่นเกมได้ฟรีครั้งละ 1 ชั่วโมง (ตัดแล้วเข้าเล่นใหม่ได้) ถ้าจ่ายเงิน 4.99 เหรียญ (ราว 160 บาท) เพื่อเป็นสมาชิกระดับ Founders จะสามารถเล่นเกมได้แบบต่อเนื่องไม่จำกัดเวลา บนเครื่องที่จีพียูรองรับ ray-tracing ให้พร้อมสรรพ GeForce Now จึงเปรียบเสมือนจ่ายเงินเช่าเครื่องคอมแรงๆ ไว้เล่นเกมผ่านคลาวด์

ข้อได้เปรียบของ GeForce Now คือรองรับเกมมากสุดในปัจจุบัน มากกว่า 2,000 เกม แม้ Activision Blizzard, Bethesda และ 2K Games จะถอนเกมของตัวเองออกไปจากบริการนี้แล้ว แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนจาก Epic Ubisoft, Bungie, และ Bundai Namco รวมถึงจะมี Cyberpunk 2077 ให้เล่นในวันวางจำหน่ายเลยด้วย

ปัจจุบัน GeForce Now ใช้งานได้บน PC, Mac, Android, Nvidia Shield, Chromebooks บางรุ่น รองรับ Gamepad แบบบลูทูธบนแอนดรอยด์ รองรับ Dualshock 4, Logitech F310/F510 และจอย Xbox 360 / Xbox One บนพีซี (ผ่านสาย USB) รองรับความละเอียดสูงสุดที่ 1080p 60fps และเปิดให้บริการแล้ว ในกว่า 80 ประเทศ (ยังไม่มีไทยอยู่ดี)

PlayStation Now

PlayStation Now บริการสตรีมมิ่งจาก Sony ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2014 ปัจจุบันใช้งานได้ทั้งบน PS4 และ PC มีเกมให้เล่นได้กว่ามากกว่า 800 เกมโดยจะเป็นเกมตั้งแต่ PS2-PS4 ในราคา 9.99 เหรียญต่อเดือน (ราว 320 บาท มีทดลองใช้ฟรี 7 วัน) และหากเล่นบนเครื่อง PS4 จะสามารถดาวน์โหลดเกม PS2 กับ PS4 เก็บไว้เล่นบนเครื่องได้แบบออฟไลน์ด้วย

จุดยืนหนึ่งที่ทำให้ PlayStation Now อาจจะดึงดูดใจน้อยกว่าคู่แข่ง คือ SONY ยืนยันว่าจะไม่นำเกมใหม่มาลง แน่นอน เพราะอยากให้การเปิดตัวของเกมเหล่านั้นยังพิเศษอยู่ ทำให้เกมที่เล่นได้อาจเก่าไปบ้าง และยังรองรับการเล่นเกมแบบ 720p เท่านั้น รวมถึงรองรับระบบเสียงแค่ Stereo

ในยุคเปิดตัว มีข่าวว่า SONY ใช้ฮาร์ดแวร์ PS3 แบบคัสตอม 8 เครื่องต่อหนึ่งเมนบอร์ด แต่ปัจจุบันไม่มีข้อมูลฮาร์ดแวร์ นอกจากนี้ SONY ดูจะไม่ทำการตลาด PS Now เท่าที่ควร แม้เปิดมานานกว่าใคร แต่ปัจจุบันยังเปิดเพียงใน 12 ประเทศ แต่การมาถึงของ PlayStation 5 Digital Edition อาจทำให้ SONY เน้นบริการดิจิทัลมากขึ้น รวมถึง PS Now ด้วยเช่นกัน

สรุป

คลาวด์เกมมิ่ง เป็นอีกหนึ่งสมรภูมิที่น่าจับตาในอนาคต ว่าจะเป็นเส้นทางที่วงการเกมมุ่งไปจริงหรือไม่ แต่จากการที่บริษัทยักษ์ที่ไม่เชี่ยวชาญในด้านเกมอย่าง Google และ Amazon โดดลงมาเล่นในสนามนี้ด้วย อาจแปลว่าบริษัทเหล่านั้นมองเห็นโอกาสในการเติบโตของคลาวด์เกมมิ่ง

ถ้านับแค่ในด้านบริการ ฝั่ง Xbox ที่มี Game Pass Ultimate จ่ายทีเดียว ได้รวมทุกอย่าง น่าจะทำคะแนนนำอยู่ ในขณะที่ GeForce Now ที่ใช้โมเดลต่างออกไป เป็นเหมือนการเช่าเครื่องเล่นเกม หากมีเกมจำนวนมากที่ซื้อไว้แล้ว (เช่น บน Steam) ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน

ส่วนในบ้านเรา แม้ยังไม่มีบริการคลาวด์เกมมิ่งรายใดเปิดให้ใช้งาน แต่ก็เริ่มกลายเป็นปัจจัยในการพิจารณาซื้อเครื่องคอนโซลยุคต่อไปแล้ว โดยเฉพาะเครื่องคอนโซลเน็กซ์เจ็นที่ไม่มีช่องใส่แผ่น

แต่ไม่ว่าจะเป็นชาวคอนโซลหรือพีซี ก็คงต้องอดใจรอบริการต่างๆ มาเปิดกันต่อไป และต้องมาลุ้นผลกันอีกครั้ง ว่าคลาวด์เกมมิ่งจะเล่นได้แค่ไหน บนอินเทอร์เน็ตในบ้านเรา

Blognone Jobs Premium