ศาลตัดสินใจไม่รับคำร้องของ Epic Games ที่ต้องการให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองการแบนเกม Fortnite ออกจาก App Store โดยให้เหตุผลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นสิ่งที่ทาง Epic Games เลือกเอง การผิดสัญญาย่อมนำมาสู่การตอบโต้กลับโดยคู่สัญญา และโดยปกติแล้วศาลแขวงแห่งรัฐบาลกลาง (Federal District Court) จะไม่ออกคำสั่งศาลในคดีข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการละเมิดสัญญา เว้นเสียแต่จะเป็นกรณีร้ายแรงถึงขั้นทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องต้องเลิกกิจการ อีกทั้งศาลยังเห็นว่า Epic Games สามารถนำ Fortnite กลับขึ้นไปบน App Store ได้เสมอ เพียงแค่กลับไปทำตามข้อตกลงที่เคยทำไว้กับ Apple เท่านั้น อย่างน้อยก็จนกว่ากระบวนการพิจารณาคดีจะถึงที่สุด
สัดส่วนผู้เล่นเกมคือตัวเลขที่มีนัยยะ ทาง Epic Games อ้างว่า 63% ของผู้เล่นเกม Fortnite บน iOS เล่นเกมนี้เฉพาะบน iOS เท่านั้น ตัวเลขนี้บ่งชี้ว่าหลายคนอาจจะไม่มีเครื่องเล่นเกมอื่น ๆ ที่สามารถเล่น Fortnite ได้ และในหลาย ๆ สถานการณ์การเล่นเกมบนโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องจำเป็น เช่น บนรถไฟฟ้า เป็นต้น อย่างไรก็ตามทาง Apple โต้แย้งว่าจำนวนผู้เล่นเกม Fortnite ต่อวันบน iOS คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้นเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เล่น Fortnite ต่อวันทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ Apple จะมีอำนาจเหนือตลาดผูกขาดเกมนี้จนถึงขั้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจของ Epic Games
ระบบการซื้อสินค้าภายในแอพ (In-App Purchase System) ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ Epic Games มองว่าการบังคับซื้อสินค้าภายในแอพเป็นการผูกขาดรูปแบบหนึ่ง Apple ควรจะอนุญาตให้นักพัฒนามีโอกาสได้ใช้ระบบของตัวเองในการซื้อขายสินค้าภายในแอพเหล่านี้ ในขณะที่ทาง Apple แย้งว่าสินค้าที่ซื้อภายในแอพนั้นย่อมต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของแอพด้วย ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะการดูแลความปลอดภัยและการตรวจสอบควบคุมเนื้อหาภายในแอพนั้นเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งกรณีนี้ผู้พิพากษา Yvonne Gonzalez Rogers คล้อยตามกับเหตุผลของทาง Apple มากกว่าและกล่าวว่าทาง Epic Games นั้นพยายามหาทางเลี่ยงที่จะจ่ายเงินค่าส่วนแบ่ง 30%
แม้ว่าทาง Epic Games จะยืนยันว่าการที่ Apple มีสิทธิ์ในควบคุม App Store แต่เพียงผู้เดียวนั้นถือเป็นการผูกขาดที่ผิดกฎหมาย แต่สุดท้ายแล้วมันก็เป็นเรื่องยากที่จะตีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างความเป็นเจ้าของ platform กับการผูกขาด เพราะเมื่อมองในระดับภาพรวมที่กว้างขึ้นแล้ว (ในกรณีนี้คือตลาดเกม) Apple มีคู่แข่งมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Android, Steam, GOG และอื่น ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เก็บค่าส่วนแบ่ง 30% ทั้งสิ้น จึงอาจมองได้ว่า Apple ก็เป็นเพียงเจ้าของ platform รายหนึ่งเท่านั้น มีอำนาจในขอบเขตของตนเอง แต่ไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาดแต่อย่างใด ซึ่งทางผู้พิพากษาเองก็ดูจะเห็นด้วยกับมุมมองลักษณะนี้ เธอได้กล่าวเสริมด้วยว่าระบบปิดนั้นมีมานานหลายสิบปีแล้ว Nintendo, SONY, Microsoft ก็ล้วนแล้วแต่มีระบบปิดเป็นของตัวเอง เธอจึงเห็นว่าสิ่งที่ Apple ทำนั้นไม่ต่างกับสิ่งที่ผู้เล่นรายอื่นในอุตสาหกรรมทำสักเท่าไร
ผู้พิพากษา Rogers ได้กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจไว้ว่า “คดีความนี้สมควรที่จะถูกตัดสินโดยคณะลุกขุน มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะรับฟังว่าประชาชนทั่วไปคิดเห็นอย่างไร ความรู้ความเชี่ยวชาญและความคิดเห็นที่หลากหลายของคณะลูกขุนจะมีส่วนสำคัญต่อการพิจารณาคดีนี้”
อนึ่งการพิจารณาคำร้องครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น คดีความระหว่าง Epic Games กับ Apple ยังคงต้องดำเนินต่อไปอีกเป็นระยะเวลานานจนกว่าจะได้ข้อสรุปว่าแท้จริงแล้ว Apple นั้นผูกขาดตลาดรองภายใต้ platform ของตัวเองที่เรียกว่า App Store หรือไม่
ที่มา - Arstechnica