ความนิยมของ Telegram ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายวันที่ผ่านมา และเมื่อมีเอกสารระบุว่ารัฐบาลกำลังพยายามบล็อค Telegram โดยระบุหมายเลขไอพี 4 ไอพี ทำให้หลายคนอาจจะแชร์ข่าวต่อๆ กันว่าแม้แต่ในรัสเซียและจีนก็ไม่สามารถบล็อค Telegram ได้ ความเชื่อนี้ไม่ตรงกับข้อมูลจาก Pavel Durov ผู้ร่วมก่อตั้ง Telegram
รัสเซียสั่งบล็อค Telegram มาในปี 2018 ทั้งที่เป็นแอปแชตยอดนิยม มีผู้ใช้ถึง 30 ล้านคนจากรัสเซีย อย่างไรก็ดีหลังจากรัสเซียสั่งบล็อคแล้วปริมาณผู้ใช้ Telegram จากรัสเซียกลับไม่ลดลงนัก ตัว Durov ระบุเหตุผลว่าชาวรัสเซียพากันใช้ VPN และ sock5 proxy เจาะหลบบล็อคของทางการรัสเซียอย่างหนัก จนแทบไม่มีผล โดยที่ตัว Durov เองประกาศสนับสนุนการใช้ VPN และ proxy ด้วยการบริจาคเงินนับล้านดอลลาร์ให้ชุมชน นอกจากนี้ช่วงที่ Telegram ถูกบล็อคและใช้งานได้บ้างไม่ได้บ้าง Telegram ยังโปรโมท channel ให้กับผู้ที่ตั้ง proxy ให้บริการฟรี (proxy ใช้ต่อบริการอื่นไม่ได้) ทำให้เจ้าของ channel พากันสร้าง proxy มาช่วยหลบบล็อค
ตัวแอป Telegram รองรับ proxy ในตัวเมื่อเปิด URL ในรูปแบบ tg://[proxy]?[arguments]
และโครงการ MTProxy เป็นโครงการโอเพนซอร์สพร้อมใช้ให้ทุกคนดาวน์โหลดไปติดตั้งได้
แม้ชาวรัสเซียจะใช้ VPN/Proxy หลบบล็อคอย่างต่อเนื่อง แต่ทางการรัสเซียก็ยังเดินหน้าบล็อคตามหมายเลขไอพีต่อไป แต่หมายเลขไอพีที่ Telegram ให้บริการในรัสเซียกลับเป็นหมายเลขไอพีของ AWS และ Google Cloud การบล็อคอย่างต่อเนื่อง (ไม่มีข้อมูลว่า Telegram จงใจสลับหมายเลขไอพีหลบบล็อคของทางรัสเซียหรือไม่) ทำให้ผู้ให้บริการอื่นที่มาใช้ไอพีต่อจาก Telegram ถูกบล็อคบริการไปด้วย ทำเอาบริการแชต Viber, บริการคลาวด์ของ Volvo, และบริการกล้องวงจรปิดของ Xiaomi ใช้งานในรัสเซียไม่ได้
ทางการรัสเซียพยายามทดสอบเทคโนโลยี Deep Packet Inspection (DPI) เพื่อตรวจสอบ แต่ DPI ก็ไม่แม่นเพียงพอ จนกระทั่งทางรัสเซียเลิกบล็อคไปในที่สุด
ดังนั้นหากใครคาดว่าจะมีการบล็อคอย่างจริงจังก็อาจจะได้เวลาหาทางหลบบล็อคกันได้
ที่มา - TechCrunch, Reuters