หลัง AMD วางขายซีพียูตระกูล Ryzen 5000 คอร์ Zen 3 ที่ยังใช้กับเมนบอร์ดชิปเซ็ต X470 และ B450 ได้อยู่ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็เริ่มมีผลการทดสอบของ Ryzen 9 5900X ซีพียู 12 คอร์ 24 เธรด ราคา 549 เหรียญ (ราว 16,800 บาท) กับ 5950X ที่มี 16 คอร์ 32 เธรด ราคา 799 เหรียญ (ราว 24,500 บาท) ออกมาแล้ว
ในการทดสอบของ Anandtech ฝั่ง Ryzen 9 5950X และ 5900X ทำคะแนนเป็นอันดับหนึ่งและสอง เอาชนะ Core i9-10900K ที่มี 10 คอร์ 20 เธรดได้เกือบทุกการทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบเรนเดอร์ใน Blender และ Cinebench R20 การเข้ารหัสไฟล์วิดีโอใน Handbrake, การทดสอบสังเคราะห์ด้วย Geekbench ไปจนถึงการทดสอบเล่นเกม
ส่วนในการทดสอบเล่นเกม Ryzen 9 5950X และ 5900 ก็เหมาอันดับหนึ่งและสอง ทั้งในเกม Civilization 6, Far Cry 5, Red Dead Redemption 2 และอื่นๆ โดยยังมีแพ้ Core i9-10900K บ้างในเกม F1 2019 กับ Gears Tactics แต่ถือเป็นส่วนน้อย 2 เกม จาก 13 เกมที่ AnandTech ทำการทดสอบ
ในการทดสอบของ Tom’s Hardware ผลส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับของ Anandtech แม้ฝั่ง Intel จะมี Core i9-10980XE มาร่วมทดสอบด้วย แต่ Ryzen 5950X และ 5900X ก็ยังครองสองอันดับแรกเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นการทดสอบซีพียูที่โอเวอร์คล็อคแล้ว คือ Ryzen 9 5950X กับ 5900X ที่เปิด PBO (Precision Boost Overdrive เทคโนโลยีโอเวอร์คล็อกอัตโนมัติของ AMD) แพ้ให้กับ Core i9-10900K ที่โอเวอร์คล็อกให้วิ่ง 5.1Ghz ในการเล่นเกม 8 เกมโดยเฉลี่ย บนความละเอียด 2560x1440 พิกเซล
อีกการทดสอบที่ Intel ยังสามารถนำหน้า Ryzen 9 5950X และ 5900X ได้ คือการทดสอบ Render Node บน Adobe After Effects เพราะเป็นการทดสอบที่เน้นหนักด้านหน่วยความจำ และ Intel ยังได้เปรียบในเรื่องแบนด์วิธหน่วยความจำต่อคอร์อยู่
ในการทดสอบด้านการใช้พลังงาน ฝั่ง AMD ที่ใช้กระบวนการผลิตในระดับ 7nm ของ TSMC กินไฟน้อยกว่า Intel ที่ใช้กระบวนการผลิต 14nm อยู่พอสมควร ในการทดสอบประมวลผล (Power under load) แต่ Core i9-10850K, Core i9-10900K, Core i9-10700K ยังกินไฟในตอนซีพียู idle น้อยกว่าอยู่เล็กน้อย
ในด้านการทดสอบการกินไฟสูงสุด (Peak Power) Ryzen 9 5950X และ 5900 กินไฟสูงสุดที่ประมาณ 142W ในขณะที่ Core i9-10900K นั้น กินไฟ Peak Power สูงถึง 250W กว่าๆ คงต้องรอ Intel ประสบความสำเร็จในการลดขนาดกระบวนการผลิตในซีพียูเดสก์ท็อปกันต่อไป
สาเหตุ Peak Power ที่น้อยกว่าของ Ryzen มาจากการยังใช้ซ็อคเก็ต AM4 ที่จำกัดกำลังไฟที่ 142 วัตต์อยู่ แต่ IPC (Instructions per cycle) ที่เพิ่มขึ้นของสถาปัตยกรรม Zen 3 ทำให้ฝั่ง Ryzen มีประสิทธิภาพสูงกว่าใน TDP เท่าเดิมได้ แม้ในหลายๆ การทดสอบ Power Under Load ต่างๆ Ryzen 9 5900X และ 5950X อาจกินไฟมากกว่า Ryzen 9 3950X และ 3900X เจ็นก่อนเล็กน้อย แต่เมื่อดูประสิทธิภาพการเร็นเดอร์ต่อวันต่อวัตต์ (Render per day per watt) ใน Handbrake ก็จะสังเกตได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเช่นกัน
สรุป
Ryzen 9 5950X และ 5900 มีประสิทธิภาพสูงกว่ารุ่นท็อปของ Intel อย่าง Core i9-10900K ในการทดสอบส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบทำงาน การทดสอบสังเคราะห์ หรือการเล่นเกมก็ตาม แถมยังกินไฟน้อยกว่าและใช้พลังงานคุ้มค่ากว่า
แต่สิ่งที่แลกคือราคารุ่นท็อปทั้งสองรุ่นของฝั่ง AMD อย่าง Ryzen 9 5950X ที่ 799 เหรียญ (ราว 24,500 บาท) และ 5900X ที่ 549 เหรียญสหรัฐ (ราว 16,800 บาท) จะแพงกว่า Core i9-10900K ที่ราคา 488 เหรียญ (ราว 14,900 บาท) อยู่พอสมควร
หากต้องการซีพียูเดสก์ท็อประดับผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพสูง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องราคา Ryzen 9 5950X และ 5900X น่าจะเป็นตัวเลือกดีที่สุดในตอนนี้ และคงต้องรอดูต่อไปว่า Intel จะกลับมาสู้ต่อได้หรือไม่ ในเจ็นเนอเรชั่นต่อไป
รีวิวฉบับเต็มจากสื่อเจ้าต่างๆ