MacBook Pro, MacBook Air และ Mac Mini ที่รันด้วยชิป Apple M1 เริ่มมีการปล่อยรีวิวชุดแรกจากสื่อเมืองนอกออกมาแล้ว
ถึงแม้ตอนนี้แอปที่สามารถรันบน ARM แบบเนทีฟจะยังมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นแอปของแอปเปิลเอง ซึ่งก็พอจะคาดเดาได้ว่าประสิทธิภาพดีกว่าเดิม แต่ที่น่าสนใจคือแอปหลายตัวอย่างของ Adobe ที่ยังเป็น x86 และรันผ่าน Rosetta 2 กลับมีประสิทธิภาพการใช้งานออกมาดีกว่า MacBook หรือแม้แต่แล็บท็อปที่ใช้ชิป Intel หลายรุ่นด้วยซ้ำไป โดยสรุปรีวิวนี้ผมจะเน้นไปที่ประสิทธิภาพชิป Apple M1 เป็นหลัก
หลาย ๆ สื่อนำเอาชิป M1 มาทดสอบเบนช์มาร์คแบบสังเคราะห์ผ่าน GeekBench 5 (มีเวอร์ชัน 5.3 ที่เนทีฟ Arm), Cinebench R23 ที่รองรับ Arm, และ Handbrake ผลออกมาอาจแตกต่างกันไปตามแค่ซีพียูที่นำมาจับคู่ทดสอบ แต่ในภาพรวมคือ M1 อยู่ในระดับท็อปของแทบทุกผลการทดสอบ โดย M1 ส่วนใหญ่มีผลคะแนนเบนช์มาร์คที่เหนือกว่าโปรเซสเซอร์แบบประหยัดพลังงานที่ใช้บนแล็บท็อปแบบคอร์เดียว แต่ก็แพ้ให้กับโปรเซสเซอร์ระดับเดสก์ท็อปในบางการทดสอบ ไปจนถึงการเบนช์มาร์กแบบหลายคอร์
แต่ที่น่าสนใจคือการทดสอบ Cinebench 5 ของ ArsTechnica และ Anandtech ออกมาเหมือนกันคือชิป M1 ได้คะแนนการทดสอบแบบเธรดเดียวสูงที่สุด
ขณะที่การทดสอบบีบอัดด้วยไฟล์ gzip เพื่อวัดพลังซีพียูจากการใช้งานจริง ในการทดสอบแบบคอนฟิกให้รันโพรเซสเท่าจำนวนคอร์ ตัวชิป M1 ทำได้ใกล้เคียง Ryzen 7 4700U ที่เป็น 8 คอร์แบบ high-performance (M1 มี high-performance และ high-efficiency อย่างละ 4)
ขณะที่เมื่อคอนฟิกให้บีบอัดไฟล์เฉพาะ 4 คอร์ high-performance ชิป M1 ทำความเร็วออกมาให้ใกล้เคียง Ryzen 9 5950X และเมื่อบีบอัดแบบคอร์เดียว M1 ทำความเร็วได้มากกว่า 5950X เล็กน้อย ซึ่ง ArsTechnica สรุปสั้น ๆ ว่า Apple M1 เป็นชิปที่มีพลังประมวลผลแบบเธรดเดียวแรงที่สุดในโลก (แบบไม่ใช่ก็ใกล้เคียง)
ขณะที่การใช้งานจริง ผลออกมาไม่ได้แตกต่างจากผลเบนช์มาร์คมากนัก โดยตอนนี้แอปสำหรับคนทำงานระดับโปรที่เป็นเนทีฟมีเพียง 2 แอปหลัก ๆ ซึ่งเป็นของแอปเปิลล้วนคือ XCode และ Final Cut Pro
ผลการคอมไพล์โค้ดบน XCode ที่ Dave Lee ทดสอบด้วย M1 (8 คอร์ / แรม 16GB) เทียบกับ Mac รุ่นอื่น ๆ หลายรุ่นที่ผ่านมา ผลคือเวลาคอมไพล์ทั้งบิลด์ใหม่และ incremental build ใช้เวลาไปแค่ราว 41-45 วินาทีและ 16 วินาทีตามลำดับซึ่งเร็วที่สุด เทียบเท่าเครื่อง Hackintosh ที่ใช้ Ryzen 9 3950X 16 คอร์ แรม 64GB และใกล้เคียงกับ MacBook Pro 16 (2019) ที่ใช้ Core i9
ขณะที่ Final Cut Pro เรนเดอร์ความละเอียด 5K จากกล้อง Red Scarlet-W ความยาว 10 นาที ชิป M1 ทำเวลาไปราว ๆ 6 นาทีครึ่ง ใกล้เคียงกับ MacBook Pro 16 (2019) Core i9
นอกจากเรื่องประสิทธิภาพแล้ว ในแง่ประสบการณ์ใช้งานแอปเนทีฟ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุดคือเวลากดเปิดแอป แอปจะถูกเปิดขึ้นมาแทบจะทันที แม้จะเปิดติด ๆ กัน 6-7 แอปก็ตามที
แอปส่วนนี้น่าจะเป็นส่วนที่ใครหลาย ๆ คนหรือแม้แต่สื่อเมืองนอกเองไม่ได้ตั้งความคาดหวังเอาไว้มากนัก เพราะต้องรันผ่าน Rosetta 2 เพื่อแปลงโค้ดไบนารีจากชุดคำสั่ง x86-64 ให้มาเป็น ARM64 ซึ่งก็น่าจะมีปัญหาหรือความผิดพลาดอยู่บ้าง เพราะสถาปัตยกรรมชุดคำสั่งคนละชุด ไม่น่าสามารถแปลงแล้วใช้งานได้ 100%
Rosetta 2 แปลงโค้ดแบบ AOT (ahead-of-time) ระหว่างกระบวนการติดตั้งแอป ซึ่งจะทำงานอยู่เบื้องหลัง ไม่มีส่วนติดต่อผู้ใช้หรือหน้าจอบ่งบอกใด ๆ เมื่อผู้ใช้เปิดแอปที่เป็น x86-64 ขึ้นมา กระบวนการแปลงโค้ดเท่ากับเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตามเมื่อใช้งานจริง ผลการทดสอบค่อนข้างน่าประทับใจกว่าที่คาด (ติดภาพ Windows on Arm กันล่ะสิ) อย่าง Dave Lee ทดสอบเรนเดอร์ Premier Pro เรนเดอร์ความละเอียด 5K จากกล้อง Red Scarlet-W ความยาว 10 นาที MacBook ทั้ง 2 รุ่นใช้เวลาไปราว 24 นาทีครึ่ง Mac Mini 21 นาที เทียบกับ MacBook Pro 13 (2019) ที่ 33 นาที แพ้ก็แค่ MacBook Pro 16 (2019) เท่านั้น
มีแค่ The Verge ที่ระบุว่าเจอบั๊กตอนเรนเดอร์ Premier Pro แล้วบิทเรทตอนเรนเดอร์ต่ำกว่าที่ตั้งเอาไว้
ขณะที่การทดสอบประสิทธิภาพจีพียู ของ M1 ถ้าเทียบกับชิป ARM บนสมาร์ทโฟนหรือซีพียู Intel ที่มีจีพียูในตัว (integrated graphic) ประสิทธิภาพของ M1 กินขาด แต่แน่นอนว่ายังสู้เครื่องที่รันด้วยการ์ดจอแยกไม่ได้
ความแตกต่างของ MacBook Air และ MacBook Pro รอบนี้ถือว่าน้อยมาก ๆ ได้แก่ความสว่างหน้าจอ, คุณภาพไมโครโฟน, TouchBar, ลำโพง, แบตเตอรี่และระบบระบายความร้อนชิปเซ็ตที่มีพัดลมและไม่มีพัดลม ซึ่งส่วนที่ถูกพูดถึงเยอะคือ 2 ประเด็นหลังสุด
อย่างที่ทราบกันสเปคภายในของ MacBook Air และ Pro เหมือนกันทุกประการ ผลการทดสอบออกมาก็แทบจะเหมือนกัน หลายสื่ออย่างเช่น MKBHD ตั้งข้อสังเกตว่าเวลาทดสอบเรนเดอร์หรือเบนช์มาร์ค ที่ไม่ได้ใช้เวลานานมาก แทบไม่ได้ยินเสียงพัดลมของ MacBook Pro
พัดลมระบายความร้อนชิปเซ็ตจะเข้ามามีบทบาทเมื่อเรนเดอร์หรือรันเบนช์มาร์คต่อเนื่องนาน ๆ โดย Dave Lee ตั้งข้อสังเกตุเอาไว้ว่าเมื่อทดสอบรันเบนช์มาร์คต่อเนื่องที่ราว 8-9 นาที MacBook Air จึงจะเริ่มเจอปัญหา Thermal Throttling และลดประสิทธิภาพชิปเซ็ตลง
ดังนั้นความแตกต่างที่อาจเป็นจุดช่วยตัดสินใจว่าจะซื้อ MacBook Pro หรือ Air ก็น่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมการใช้งานซีพียูเป็นหลัก ว่าจำเป็นจะต้องเค้นประสิทธิภาพซีพียูอย่างต่อเนื่องเกิน 10 นาทีมากน้อยแค่ไหน กับจำนวนเงินที่แตกต่างกันราว 10,000 บาท
Dieter Bohn แห่ง The Verge บอกว่า MacBook Pro ก็เหมือน iPhone 12 Pro ที่คุณจ่ายเพิ่มขึ้นแลกกับความดีงามขึ้นเล็กน้อยบนพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว (a nicer version of default)
ส่วนแบตเตอรี่ เป็นอีกหนึ่งจุดที่ได้รับคำชมไปในทางเดียวกันว่าอึดขึ้น ใช้งานได้นานขึ้นและใกล้เคียงที่แอปเปิลโฆษณาเอาไว้ตอนเปิดตัว อย่าง Pro ดูวิดีโอต่อเนื่องได้เกือบ 20 ชม.และ Air ที่ 18 ชม. ส่วนการใช้งานจริง (บนแอป x86 เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ Chrome ที่ก็ยังคงกินแบตเหมือนเดิม) แม้จะพยายามรีดแบตเตอรี่แค่ไหน ก็สามารถใช้งานได้ราว ๆ 8 - 12 ชม. และหากแอปสำคัญ ๆ ออกเวอร์ชันเนทีฟ ก็น่าจะยิ่งประหยัดแบตเตอรี่ไปมากกว่านี้
ปัญหาบน MacBook Pro และ Air ใหม่ไม่ใช่ว่าจะไม่มี หลัก ๆ คือกล้องเว็บแคมที่ยังคงความละเอียด 720p คุณภาพห่วยแตกเช่นเดิม โดยเฉพาะบนรุ่น Pro ที่แพงกว่า แม้ M1 จะมีชิปประมวลสัญญาณภาพใหม่ ที่ทำให้ภาพออกมาดีกว่าตอนใช้ Intel ก็ตาม (The Verge ถึงกับตัดคะแนนจากที่จะให้ 10/10 เหลือ 9/10 เพราะกล้องเว็บแคม)
อีกประเด็นคือการใช้งานแอป iOS ที่ยังมีปัญหาทั้ง UI/UX และบั๊กต่าง ๆ ซึ่งหลายสื่อพูดไปในทางเดียวกันว่าแอปเปิล ช่วยออก MacBook ที่มีทัชสกรีนทีเถอะ ทำมาถึงขนาดนี้แล้ว
ซื้อ!!!!
ที่มา - The Verge (1, 2), Dave Lee, Anandtech, ArsTechnica, MacWorld, TechCrunch