เจาะลึกประวัติ Cyberpunk 2077 จากเกมกระดาน สู่วิดีโอเกมที่ถูกจับตามองที่สุดในปี 2020

by mheevariety
2 December 2020 - 06:40

พูดถึงเกม Cyberpunk 2077 ในปี 2020 เกมเมอร์น้อยคนที่ไม่รู้จักเกมนี้ แถมส่วนหนึ่งอาจอกหักจากการพรีออเดอร์เกมแล้วต้องคอยเก้อ จากการเลื่อนวางจำหน่ายเกมมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ก่อนมาจบในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ ซึ่งทุกคนก็หวังว่าจะไม่เลื่อนอีก แต่น้อยคนนักที่รู้ว่าเกมแฟรนไชส์ Cyberpunk เป็นเกมสวมบทบาทแบบเล่นบนกระดาษ (Pen & Paper RPG) หรือเรียกง่ายๆ ภาษาบ้านเราว่า “เกมกระดานหรือบอร์ดเกม” มาก่อน

เกม Cyberpunk วางจำหน่ายในรูปแบบเกมกระดานครั้งแรกในปี 1988 ในชื่อ Cyberpunkออกแบบเกม และดีไซน์อาร์ตโดยบริษัท R. Talsorian Games ที่ก่อตั้งในปี 1985 โดย Mike Pondsmith กราฟฟิกดีไซเนอร์หนุ่มชาวอเมริกัน เพราะเขาชอบเกมสวมบทบาทที่เล่นบนกระดาษ แต่ไม่ชอบเซ็ตติ้งของเกม RPG ที่เป็นแนวแฟนตาซียุคนั้นอย่างในเกม Dungeons & Dragon เท่าไร และตัวเองเป็นแฟนโลกแนวไซไฟมากกว่า

เมื่อ Mike Pondsmith ลาออกจากงานประจำในบริษัทเกมคอมพิวเตอร์เพราะบริษัทที่ทำอยู่ประสบปัญหาทางการเงิน และมาทำงานออกแบบการพิมพ์ เขาใช้เวลาไปกับงานอดิเรก พัฒนาระบบเกมกระดานในเซ็ตติ้งที่เขาชื่นชอบในช่วงยุคต้นปี 80 เขาคงไม่ทันคาดคิดว่าต่อมา เกมแฟรนไชส์ที่เขาสร้างอย่าง Cyberpunk จะกลายมาเป็นวิดีโอเกมที่ฮิตติดตลาดตั้งแต่ยังไม่วางจำหน่าย และเป็นเกมที่มีคนรอเล่นมากที่สุดในปี 2020

Mike Pondsmith

“อยากได้ต้องทำเอง”

เกมแรกที่ Mike Pondsmith ออกแบบ หลังออกจากงานประจำ คือ Mekton เกมแนวต่อสู้หุ่นยนต์ที่พัฒนาไปเป็นเกมสวมบทบาท (RPG) ที่ประสบความสำเร็จพอสมควรในปี 1984 โดย Mekton เป็นเกมในเซ็ตติ้งไซไฟแบบที่ Mike ชอบ แหวกขนบของเกมแนวสวมบทบาทในยุคนั้นที่มักมีเซ็ตติ้งเป็นโลกแฟนตาซี

Mekton เวอร์ชั่นแรก เป็นเพียงเกมต่อสู้หุ่นรบแบบเล่นบนกระดาษ ที่ดีไซน์หุ่นได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือการ์ตูน Gundam (ที่ Mike อ่านไม่ออก แต่ชอบภาพประกอบ) ก่อนพัฒนาระบบมาเป็นเกมสวมบทบาท และนับเป็นเกมสวมบทบาทเกมแรกในอเมริกาที่ได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูนญี่ปุ่นหรืออนิเมะอีกด้วย

เกม Mekton ประสบความสำเร็จพอสมควรในวงการนักเล่นเกมแนวสวมบทบาทบนกระดาษ ทำให้ Mike ตัดสินใจเปิดบริษัทสร้างเกม R. Talsorian Games แบบจริงจังในปี 1985 และเริ่มออกแบบเกมอื่นต่อไป

ภาพปกเกม Mekton ภาคแรก

หลังจากนั้นในปี 1988 บริษัท R. Talsorian Games เปิดตัว Cyberpunk: The Roleplaying Game of the Dark Future ที่มีเซ็ตติ้งอยู่ในโลกอนาคตที่มืดมนในปี 2013 (25 ปีในอนาคต นับจากในปีที่เกมออก) ถือเป็นเกมสวมบทบาทแบบเล่นบนกระดาษภาคแรกในจักรวาลเกม Cyberpunk

“Cyberpunk คืออะไร?”

Cyberpunk คือ Genre ย่อยแขนงหนึ่งของนิยายและภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ ที่มีต้นกำเนิดมาจากนิยายวิทยาศาสตร์แบบ New Wave ในยุค 60-70 ประกอบด้วยโลกที่มีเทคโนโลยีล้ำๆ ควบคู่ไปกับชีวิตคนที่ตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำสูงทางเศรษฐกิจสูง

นิยายเรื่อง Do Android Dream of Electric Sheep? ของ Phillip K. Dick ในปี 1968 เป็นเรื่องแรกๆ ที่มีเซ็ตติ้งเป็นโลกในสไตล์ Cyberpunk อย่างชัดเจน (แม้ศัพท์คำนี้ยังไม่ถูกบัญญัติขึ้นในเวลานั้น) ก่อนถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชื่อดัง Blade Runner โดยผู้กำกับ Ridley Scott ในปี 1982 ที่ฉายภาพความไฮเทค + ความเหลื่อมล้ำบนจอภาพยนตร์เป็นครั้งแรกๆ

หลังจากนั้น นักเขียนนามว่า Bruce Bethke เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า Cyberpunk ในเรื่องสั้นชื่อเดียวกันที่ตีพิมพ์ในปี 1983 เพื่อเรียกภาพโลกอนาคตที่ไฮเทคแต่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ (low life, high tech) ให้เป็น genre ชัดเจนยิ่งขึ้น

ทั้ง Bladerunner ที่เป็นภาพยนตร์โปรดของ Mike Pondsmith และเรื่องสั้น Cyberpunk นี่เอง ที่ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจ และต้นแบบของโลกเกม Cyberpunk ในปี 1988

อาร์ตเวิร์คจากภาพยนตร์ Bladerunner ภาคแรก

“โลกเกม Cyberpunk เวอร์ชั่นกระดาน”

ตัวเกม Cyberpunk แบบเกมกระดานเวอร์ชั่นแรก มาพร้อมหนังสือกฎการต่อสู้ Friday Night Firefight หนา 20 หน้า, หนังสือคู่มือตัวละคร View from the Edge หนา 44 หน้า และหนังสือเนื้อเรื่อง Welcome to Night City หนา 38 หน้า กระดาษจดรายละเอียดตัวละคร 4 แผ่น และลูกเต๋าสิบด้านสองลูก ก่อนจะมีหนังสือขยายรายละเอียดอาชีพต่างๆ เช่น Rockerboy หรือ Solo และเนื้อเรื่องเสริมอื่นๆ ตามมาทีหลัง

เนื้อเรื่องของโลก Cyberpunk เริ่มแตกต่างจากโลกของเราตั้งแต่ช่วงปี 1990 โดยเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้รัฐบาลประเทศมหาอำนาจเริ่มล่มสลายในปลายยุค 90 และกลุ่มบริษัทที่เรียกว่า Megacorporations ก้าวขึ้นมามีอำนาจเหนือประเทศต่างๆ ในช่วงยุคปี 2000

ปัญหาในโลกลากยาวไปจนเกิดสงครามระหว่างบริษัทที่เรียกว่า Corporate War สองครั้ง ในปี 2004 และ 2007 ที่ทำให้โลกอยู่ในสภาวะไร้กฎหมาย ความเหลื่อมล้ำพุ่งสูง และทุกสิ่งถูกควบคุมโดยบริษัทยักษ์ใหญ่โดยสิ้นเชิง แต่ก็ยังมีกลุ่มต่อต้าน เช่นกลุ่ม rockerboy ที่มีสมาชิกในตำนานอย่าง Johnny Silverhand (มีบทบาทใน Cyberpunk 2077 และรับบทโดยคีอานู รีฟส์) อยู่

ตัวเกมภาคแรกมีมหานคร Night City เมืองใหญ่ที่ถูกปกครองโดยบริษัทและกลุ่มแก๊งต่างๆ ในปี 2013 เป็นศูนย์กลาง ผู้เล่นสามารถสร้างตัวละคร โดยเลือกแนวทาง ค่าสกิล และอาชีพได้เอง เช่นอาชีพ นักดนตรีหัวขบถ 'rockerboy’ ทหารรับจ้างแห่งอนาคต ‘solo’ แฮกเกอร์ ‘netrunner’ หรือแม้แต่นักข่าวหรือ ‘media’ ก็มีให้เลือกเช่นกัน ขณะเดียวกันก็จะมีคนทำหน้าที่เป็น Game Master หรือผู้คุมเกม สำหรับการออกแบบกฎระเบียบและแคมเปญที่จะให้คนอื่นเล่น

กล่อง และหนังสือรายละเอียด Cyberpunk ภาคแรก

แต่ละอาชีพมีสกิลต่างๆ กัน เพื่อใช้ในการทำภารกิจที่ Game Master ออกแบบให้สำเร็จ หรือจะอิงแคมเปญจากหนังสือที่มีตัวอย่างมาให้ก็ได้ การสร้างตัวละคร และการทำภารกิจที่มีตัวเลือกเปิดกว้าง ก็ไม่ต่างจากเกมสวมบทบาทบนคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนัก

หลังจาก R. Talsorian Games เปิดตัวเกม Cyberpunk ภาคแรกไป Mike และทีมงานก็พัฒนาระบบ เนื้อเรื่อง ตัวละคร และอาชีพใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาในภาคใหม่ทั้ง Cyberpunk 2020 ที่ออกในปี 1990, Cyberpunk 3.0 ในปี 2005 และ Cyberpunk RED เกม Cyberpunk บนกระดานภาคล่าสุด ทำหน้าที่เชื่อมต่อโลกเกมกระดานภาคเก่าเข้ากับกับ Cyberpunk 2077

Cyberpunk RED เกมกระดานภาคล่าสุด เพิ่งเปิดตัวเวอร์ชั่น “Jumpstart Kit” ไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2019 ในกล่องมาพร้อมอุปกรณ์ประกอบการเล่น และหนังสือความยาว 51 หน้า อัพเดตโลกของเกมช่วงปี 2021 และพูดถึงสงครามบริษัทครั้งที่ 4 (4th Corporate War) ก่อนจะออกหนังสือรายละเอียดเกมตัวเต็มที่มีความยาวกว่า 456 หน้า และมีอาร์ตเวิร์คใหม่อีกกว่า 143 ภาพ ตามมา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน

Cyberpunk Red Jumpstart Kit

เกม Cyberpunk ในรูปแบบเกมกระดาน ประสบความสำเร็จพอสมควร ทำให้ Mike Pondsmith ได้ร่วมงานกับ Microsoft ในช่วงสั้นๆ โดย Microsoft เสนองานออกแบบคอนเซ็ปต์เกมใหม่ๆ ให้กับเขา โดยทำควบคู่ไปกับบริหารงาน R. Talsorian Games ซึ่งเกมที่เขามีส่วนร่วมมีทั้งเกม Crimson Skies, Blood Wake รวมไปถึงเกมตระกูล Flight Sim

ส่วน Cyberpunk เองก็มีกลุ่มผู้เล่นมากมายทั่วโลก และติดอันดับ 10 ใน บทความ “50 เกมกระดานแนวสวมบทบาทยอดนิยมตลอดกาล” โดยนิตยสารเกมกระดาน Arcane Magazine และหนึ่งในแฟนตัวยงของเกมนี้ คือทีมงานของบริษัท CD Projekt Red (ต่อไปขอใช้ตัวย่อว่า CDPR) ผู้สร้างเกม The Witcher นั่นเอง

“สู่โลกดิจิทัล”

ในการสัมภาษณ์กับ Eurogamer Mike เล่าว่า CDPR โทรหาเขาในปี 2012 เพื่อบอกว่าทีมงานอยากนำ Cyberpunk มาทำเป็นวิดีโอเกม

หลังจากนั้น CDPR ก็ส่งเกม The Witcher 2: Assassins of Kings ไปให้ Mike ลองเล่น รวมถึงพา Mike บินมาคุยงานที่โปแลนด์ ซึ่ง CDPR ทำให้ Mike ตะลึง โดยโชว์ความเป็นแฟนตัวยง ที่รู้รายละเอียดในเกมบางอย่างที่แม้แต่ Mike เองยังลืมไปแล้ว และ CDPR ยังบอกกับ Mike อีกว่า ชีวิตพวกเขาในโปแลนด์สมัยก่อน (ซึ่งเคยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์) มีแค่ “ลัทธิคอมมิวนิสต์กับ Cyberpunk” เท่านั้น Mike จึงตกลงเริ่มคุยดีลกับ CDPR ทันที

Mike กับ CDPR ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนเพื่อปิดดีล และมอบลิขสิทธิ์ Cyberpunk ให้กับ CDPR โดยสาระสำคัญคือ เนื้อเรื่องในเกมตั้งแต่ปี 2077 เป็นต้นไป จะเป็นกรรมสิทธิ์ของ CDPR แต่เนื้อเรื่องช่วงก่อนหน้า จะยังเป็นของ R. Talsorian Games และ Mike Pondsmith อยู่ นอกจากนี้ CDPR จะให้ Mike มานั่งเป็นที่ปรึกษาสำหรับทำเกม Cyberpunk 2077 และเขาจะพากย์เสียงเป็นตัวละครหนึ่งในเกมที่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดอีกด้วย

CDPR ปล่อยทีเซอร์แรกของ Cyberpunk 2077 ในรูปแบบภาพยนตร์แอนิเมชั่นสั้นๆ ในปี 2013 หรือก่อน The Witcher 3 จะเปิดตัวในงาน E3 ปีนั้นด้วยซ้ำ ซึ่ง CDPR ในตอนนั้นก็ไม่ใช่บริษัทโนเนม เพราะ The Witcher 2 ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากแฟนเกมแนวสวมบทบาท

ตัวอย่างสั้นๆ นี้ ทำให้ทั้งแฟนๆ ของ CDPR ตื่นเต้นที่จะได้เห็นเกมแนวเซ็ตติ้งโลกอนาคต และแฟนเกม Cyberpunk 2077 แบบเล่นบนกระดาน ก็ตื่นเต้นเต้นที่จะได้เล่นเกมนี้บนคอมพิวเตอร์

ยิ่งเมื่อ The Witcher 3 วางจำหน่ายในปี 2015 แล้วกวาดรางวัลแทบทุกเวที และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเกม RPG ที่ดีที่สุดตลอดกาล ยิ่งทำให้แฟนๆ แทบจะทนรอเล่น Cyberpunk 2077 แทบไม่ไหว แม้ทีมงานจะยืนยันว่าขอโฟกัสคอนเทนต์ The Witcher 3 ก่อน และตัวเกม Cyberpunk 2077 จะ “ออกเมื่อมันเสร็จ”

ตัวอย่างแรกอย่างเป็นทางการของ Cyberpunk 2077 ถูกเปิดในงาน E3 ปี 2018 ก่อนทีมงานจะเริ่มเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งบอกว่าตัวเกมจะเป็นมุมมองบุคคลที่หนึ่งทั้งเกม ทำให้มีผู้ที่ไม่พอใจพอสมควร เพราะจะไม่ได้เห็นตัวละครที่สร้าง หรือตั้งใจแต่งตัวได้แบบใน The Witcher 3 แต่เสียงวิจารณ์ก็เงียบลง หลังจากที่แฟนเกมได้เห็นเกมเพลย์ของจริงและยอมรับว่าน่าจะเหมาะกับมุมมองบุคคลที่หนึ่งมากกว่า

หลังจากนั้น CDPR เปิดเผยวันวางจำหน่ายรอบแรก ในงาน E3 ปี 2019 ว่าจะวางจำหน่าย วันที่ 16 เมษายน ปี 2020 แต่สุดท้ายมีการเลื่อนวางจำหน่ายอยู่หลายรอบ จาก 16 เมษายน มาเป็น 17 กันยายน มาเป็น 19 พฤศจิกายน และรอบสุดท้าย เลื่อนมาเป็น 10 ธันวาคม รวมถึงมีดราม่าประปรายรายทาง ทั้งเรื่องการยกเลิกการทำงานล่วงเวลาของพนักงานที่ CDPR เคยสัญญาไว้แต่ทำไม่ได้ ไปจนถึงการที่มีแฟนเกมขู่ฆ่าทีมงานตอนเลื่อนวางจำหน่ายเกมรอบสุดท้าย

“กระแสพุ่งกระฉูด เหลือแค่รอพิสูจน์ตัวเกมจริง”

หลังจากผ่านการเลื่อนมา 3 รอบ ดราม่าอีกนับไม่ถ้วน และเป็นเวลากว่า 7 ปี หลังเปิดตัวตัวอย่างแรก แต่ CDPR ก็สามารถเลี้ยงกระแส Cyberpunk 2077 ให้ยังคงร้อนแรงอยู่ได้ โดยมีทั้งสินค้าโปรโมตมากมายที่ CD Projekt ฝั่งผู้วางจำหน่ายของเกมนี้ (ฝั่งพัฒนาเกมคือ CD Projekt Red) ได้พูดถึงในพรีเซ็นเทชั่นรายได้ประจำไตรมาส ว่าพาร์ทเนอร์ไปแล้วกว่า 20 แบรนด์ ละจะมีมาอีกในอนาคต

รวมถึงตัวเกมยังครองแชมป์เกมขายดีอันดับ 1 บน Steam ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงวันที่ 24 พฤศจิกายนแล้วอีกด้วย ตอนนี้คงเหลือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือคุณภาพของตัวเกมจริง ว่าจะดีสมชื่อชั้นของ CDPR หรือไม่ ซึ่งวิธีที่จะรู้ได้ คงมีเพียงแค่รอให้วันที่ 10 ธันวาคมนี้มาถึงโดยเร็ว และลองสัมผัสตัวเกมดูด้วยตนเองเท่านั้นเอง

ที่มา - Obsidian Portal: Interview with a Game Designer: Mike Pondsmith, R Talsorian Games, Cyberpunk Bibliography for GURPS, R Talsorian Games: Cyberpunk, Eurogamer, Polygon, Polygon, The Verge, The Verge

Blognone Jobs Premium