Oversight Board หรือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบอำนาจการใช้นโยบายของ Facebook เริ่มดำเนินการตรวจสอบนโยบายต่างๆ ที่ผู้ใช้งานร้องเรียน Facebook มาแล้ว และท่ามกลางกว่า 20,000 กรณี มี 6 กรณีที่ Oversight Board เลือกมารีวิว โดยเลือกจากกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อผู้ใช้งานในวงกว้าง ดังนี้
- ผู้ใช้รายหนึ่งโพสต์ภาพหน้าจอ Twitter ของอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย Mahathir Mohamad เขาโพสต์ว่า "ชาวมุสลิมมีสิทธิที่จะโกรธและฆ่าชาวฝรั่งเศสหลายล้านคนเนื่องจากการสังหารหมู่ในอดีต ซึ่งตามกฎหมายแล้วชาวมุสลิมทำไม่ได้ ดังนั้นชาวฝรั่งเศสควรสอนคนของตนให้เคารพความรู้สึกของผู้อื่น" ภาพหน้าจอนี้ถูกลบ เนื่องจากละเมิดกฎความรุนแรงของ Facebook แต่ความตั้งใจของผู้โพสต์ต้องการให้ชาวโลกรับรู้และตระหนักถึงคำพูดที่น่ากลัวของ Mahathir Mohamad
- ผู้ใช้งานโพสต์ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ เป็นโบสถ์แห่งหนึ่งใน Baku, Azerbaijan พร้อมข้อความที่ระบุว่าสถานที่แห่งนี้สร้างโดยชาวอาร์เมเนีย แล้วปัจจุบันหายไปไหน ผู้ใช้ระบุด้วยว่า "т.а.з.и.к.и" กำลังทำลายโบสถ์และไม่มีประวัติบันทึกไว้ ผู้ใช้ระบุว่าพวกเขาต่อต้าน "การรุกรานของอาเซอร์ไบจัน" และ "ความป่าเถื่อน" ผลคือ Facebook ลบโพสต์นี้เนื่องจากเข้าข่าย ข้อความแสดงความเกลียดชัง โดยผู้ใช้งานรายนี้อุทธรณ์ว่าเจตนาที่แท้จริงคือ การแสดงให้เห็นถึงการทำลายอนุสรณ์สถานทางวัฒนธรรมและศาสนา
- ผู้ใช้รายหนึ่งในบราซิลโพสต์ Instagram มีข้อความสร้างความตระหนักถึงสัญญาณมะเร็งเต้านม พร้อมรูปภาพแสดงอาการของมะเร็งเต้านม ซึ่งมีบางรูปเห็นหัวนม แต่ Facebook ลบรูปเนื่องจากละเมิดกฎภาพนู้ด
- ผู้ใช้งานในสหรัฐฯ แชร์โพสต์ในอดีตที่แจ้งเตือนมาผ่านฟังก์ชั่น "On This Day" เขียนแคปชั่นด้วยคำพูดของ Joseph Goebbels รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อสมัยนาซี Facebook ลบโพสต์นี้ ซึ่งผู้ใช้ร้องเรียนมาว่าเจตนาคือต้องการสะท้อนถึง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯต่างหาก
- Facebook ลบวิดีโอของผู้ใช้งานในฝรั่งเศส เนื้อหาวิจารณ์การทำงานของหน่วยงานสุขภาพในการรับมือ COVID-19 ด้วยเหตุผลเพราะเกรงจะเป็นการเผบแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับ COVID-19
- Facebook ลบภาพถ่ายของเด็กที่เสียชีวิตแล้วสวมเสื้อผ้าอย่างมิดชิดมีข้อความเป็นภาษาเมียนมาร์ ถามว่าเหตุใดจึงไม่มีการตอบโต้จีนที่ปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์
เหล่านี้เป็น 6 กรณีแรกที่ Oversight Board ตรวจสอบ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปแสดงความเห็นในแต่ละกรณีด้วย สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่นี่
Facebook Oversight Board ก่อตั้งขึ้นในปี 2019 มีจุดประสงค์เพื่อคานอำนาจ Facebook ในการใช้นโยบายบนแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นพันๆ ล้านคนทั่วโลก เข้ามาช่วยกำหนดขอบเขต Facebook ว่าสามารถทำได้มากขนาดไหนในการจัดการเนื้อหา รวมถึงเพิ่มอำนาจให้ผู้ใช้งานในการร้องเรียนมายัง Oversight Board หากไม่เห็นด้วยกับนโยบาย Facebook
สมาชิกคณะกรรมเป็นผู้เชี่ยวชาญมาจากหลายสาขา ทั้งด้านสื่อ, สิทธิมนุษยชน, ชาติพันธุ์, ศาสตร์การแสดงความคิดเห็น เพื่อความหลากหลายและความเห็นที่รอบด้านของคณะกรรมการ
ที่มา - Facebook