Adobe ถือเป็นบริษัท Software as a Service (SaaS) ที่ประสบความสำเร็จ ทำรายได้สูงสุดทุกแทบทุกไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวครั้งสำคัญ เปลี่ยนโมเดลจากขายขาดโปรแกรมมาเป็นขาย Subscription มุ่งสู่บริษัท Cloud-based SaaS เต็มตัวมาตั้งแต่ยุคปี 2000 ต้นๆ ก่อนที่คลาวด์จะได้รับความนิยมในวงกว้างมากเท่าทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปยังจดจำภาพของ Adobe ในฐานะผู้สร้างโปรแกรมสายศิลปะ เจาะกลุ่มผู้ใช้งานฝั่งครีเอทีฟ แต่ Adobe ยุคปัจจุบันไปไกลกว่านั้นมากแล้ว ฉีกตัวเองออกมาสร้างโปรแกรมเจาะกลุ่มผู้ใช้งานฝั่งธุรกิจองค์กรด้วย คือการตลาด-บริการลูกค้า (Experience Cloud) และงานเอกสาร (Document Cloud) มาได้พักใหญ่แล้ว
บทความนี้ เรามาเจาะดูธุรกิจทั้งสามขาของ Adobe กัน
Adobe แบ่งธุรกิจหลักของตัวเองเป็น 3 ส่วน โดยใช้ชื่อว่า Cloud ทั้งหมด ได้แก่ Creative Cloud (CC), Document Cloud (DC), Experience Cloud (ไม่มีตัวย่อ)
Creative Cloud
ทุกคนรู้จักโปรแกรมของ Adobe ในฝั่ง Creative Cloud จำพวก Photoshop, Illustrator, Premier Pro, Lightroom, InDesign ฯลฯ อยู่แล้ว โปรแกรมกลุ่มนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้งานบนพีซี แต่ในระยะหลัง Adobe ขยายการใช้งานจากบนพีซีไปยังมือถือและแท็บเล็ตด้วย รวมถึงขยายขอบเขตไปยังโปรแกรมชนิดใหม่ๆ ตามยุคสมัย กรณีสำคัญเช่น
จุดเด่นของโปรแกรมในชุด Creative Cloud คือการใช้ AI หรือที่ Adobe เรียกชื่อทางการค้าว่า Sensei ช่วยให้การทำงานเล็กๆ น้อยๆ ฉลาดขึ้น ทำได้เร็วขึ้น ลดเวลาการทำงานซ้ำซากของนักออกแบบ เช่น ไดคัท, แยกวัตถุออกจากพื้นหลัง, การแก้ไขเวกเตอร์ เป็นต้น
นอกจากขายโปรแกรมแล้ว Adobe ยังมีธุรกิจเสริมเป็นการขาย Assets ที่นักออกแบบสามารถนำไปใช้เพื่อการออกแบบได้ทันที คือ Adobe Stock เป็นบริการขาย subscription แยกรวมรูป, วิดีโอ, ไฟล์เสียง, เวกเตอร์, เทมเพลต,โลโก้ ฯลฯ ที่นักออกแบบสามารถเอาไปใช้ และยังเชื่อมต่อกับโปรแกรมออกแบบ Photoshop, Illustrator, Premier Pro, Lightroom, InDesign ได้ด้วย
และยังมี Adobe Behance พื้นที่ปล่อยของนักออกแบบ หรือเป็นเสมือนโซเชียลมีเดียของชุมชนนักออกแบบ ที่สามารถอัพโหลดผลงานตัวเองขึ้นบนเว็บไซต์ สร้างโปรไฟล์ให้คนอื่นกดติดตามได้ คอมเม้นผลงานและกดไลค์ได้ และยังมีช่องทางไลฟ์ให้นักออกแบบ แชร์เทคนิคและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ระหว่างกัน
เรียกได้ว่า Adobe พยายามทำตัวเป็น One Stop Services ของคนสายครีเอทีฟเลย
Document Cloud
Document Cloud เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2015 เป็นการรวมเอา Adobe Reader โปรแกรมอ่านเอกสาร PDF, Adobe Scan ตัวสแกนเอกสาร, Adobe Sign โปรแกรมเซ็นชื่อแบบดิจิทัลเข้าถึงได้จากทุกอุปกรณ์ โดยมีแกนกลางสำคัญคือ Acrobat DC สำหรับสร้างเอกสาร PDF และซิงค์ทุกอย่างบนคลาวด์
จุดเด่นของ Document Cloud ช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงเอกสารในองค์กร ลดความยุ่งยากของการจัดเอกสารในรูปแบบกระดาษ และอำนวยความสะดวกเรื่องขั้นตอนเอกสาร (workflow) ที่ต้องอนุมัติกันเป็นลำดับขั้น ไม่ต้องมารอคอยลายเซ็นบนกระดาษเหมือนสมัยก่อน
Document Cloud เป็นบริการ subscription ที่ผนวกพื้นที่ซิงก์ข้อมูลบนคลาวด์มาให้เลย สำหรับลูกค้าทั่วไป มีให้เลือกสามระดับแพ็กเกจ ยิ่งแพงก็ยิ่งได้ความจุเยอะ และทำอะไรได้เยอะ เช่น แพ็กเกจสูงสุดได้สตอเรจ 100GB, แก้ไข PDF ได้, สร้างรหัสผ่านเพื่อป้องกันการเข้าถึง PDF ได้ เป็นต้น ส่วนลูกค้าองค์กรก็มีแพ็กเกจเฉพาะต่างหากที่มีฟีเจอร์ระดับองค์กรด้วย
Experience Cloud
Experience Cloud เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์จับตลาดมาร์เกตติ้งเน้นการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าแก่กลุ่มองค์กร โดยในบรรดา 3 ธุรกิจหลักของ Adobe กลุ่มนี้ถือเป็นน้องใหม่ที่สุด ความท้าทายคือมาจับตลาดมาร์เกตติ้งทั้งๆ ที่มีคู่แข่งเต็มไปหมด แต่ถึงมาช้าก็กลับทำได้ดี มีรายได้ในแต่ละไตรมาสทะลุ 800 ล้านดอลลาร์
Experience Cloud ชื่อเดิมคือ Marketing Cloud เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2012 แล้วมารีแบรนด์ใหม่ในปี 2017 ขยายกลุ่มโซลูชั่นให้กว้างขึ้น
กลุ่มบริการ Experience Cloud มาจากการเข้าซื้อบริษัทอื่นอย่างหนักหน่วงของ Adobe ตั้งแต่การเข้าซื้อ Omniture บริษัทวิเคราะห์การตลาดด้วยเงิน 1.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2009 และ TubeMogul ทำโฆษณาแบบวิดีโอ มูลค่ากว่า 540 ล้านดอลลาร์ในปี 2016, การเข้าซื้อ Magento ในราคา 1.68 พันล้านดอลลาร์ เพื่อคุณสมบัติด้านอีคอมเมิร์ซ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อเสนอโซลูชั่นด้านการตลาดให้ครอบคลุม โดยตอนนี้ กลุ่ม Experience Cloud มี 4 ผลิตภัณฑ์แยกย่อยคือ
จากรูปภาพด้านบนจะเห็นภาพรวมของ Experience Cloud ที่มี 4 ผลิตภัณฑ์หลัก แต่ละแอปพลิเคชั่นแตกย่อยออกไปอีกในบรรทัดที่สอง โดยมี Adobe Sensei ปัญญาประดิษฐ์เป็นแกนกลางสำคัญในการจัดการแอปพลิเคชั่น และช่วยจัดการประสบการณ์การทำงานของฝ่ายการตลาดให้จัดการข้อมูลลูกค้ามีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น
ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Adobe ขึ้นอยู่บนกับดิจิทัลและคลาวด์อยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อบริษัทต้อง WFH กะทันหัน Adobe จึงไม่ต้องปรับตัวอะไรเยอะ
จากปัจจัยโรคระบาดกระทบและคงอยู่นานแทบจะทั้งปี 2020 ทำให้หลายบริษัทพิจารณานโยบาย WFH ถาวร เป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้ธุรกิจของ Adobe เติบโตขึ้นมาก อย่าง Document Cloud ถึงกับทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสล่าสุดด้วย
ในรายงานประกอบการไตรมาส 2/2020 Adobe อธิบายว่าการเปลี่ยนไปทำงานระยะไกลหรือ WFH นั้นทำให้ความต้องการเอกสารดิจิทัลเพิ่มขึ้น
จากตารางข้างต้น จะเห็นว่ารายได้ที่พุ่งเร็วสุด ยังคงเป็นฝั่งธุรกิจ Creative Cloud และ Document Cloud มีการเติบโตคงที่และเริ่มโตเร็วในไตรมาสที่ 3 ส่วนฝั่ง Experience Cloud แผ่วลง อาจเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจช่วงโรคระบาด ทำให้บริษัทลดงบการจัดการด้านการตลาดและพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า แต่ในภาพรวมแล้ว Adobe ยังโตสูง ทำรายได้ new high ทุกไตรมาส แม้อยู่ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ
จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด จะเห็นภาพรวมว่า Adobe ผสานทุกแอปพลิเคชั่นในสามบริการหลัก + สามารถด้าน AI (Adobe Sensei) + Content + Data และทั้งหมดตั้งอยู่บนคลาวด์ โดยตั้งอยู่บน 4 แผนการหลักซึ่ง CTO Adobe ระบุไว้ในส่วนหนึ่งของรายงานผลประกอบการในปี 2019 แต่ก็สะท้อนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ Adobe จะยึดไว้เป็นหลักในหารดำเนินธุรกิจต่อไปอีกในอนาคตคือ
การสร้างบริการบนคลาวด์ผ่านโมเดล subscription, การขยายตัวเองไปบริการอื่นนอกเหนือจากธุรกิจออกแบบ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Adobe โตและยังแข็งแกร่งท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังช่วยส่งให้ Adobe มีพลังอำนาจในการเข้าซื้อกิจการอื่นๆ มาต่อยอดบริการของตัวเองออกไปเรื่อยๆ กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นคือ เข้าซื้อกิจการ Workfront ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านบริหารจัดการสำหรับงานด้านการตลาด ด้วยมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ และในอนาคตก็มีโอกาสสูงที่เราจะได้เห็น Adobe ไล่ซื้อกิจการใหม่ๆ เพื่อนำมาต่อยอดของเดิม และพัฒนา Sensei ให้ดีขึ้นไปอีก