ทีมงานแอพหมอชนะแจง ไม่ใช้ Apple/Google API เพราะอยากได้พิกัด GPS, เก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ตลอดเวลา

by BlackMiracle
7 January 2021 - 12:43

หลังการระบาดรอบใหม่ของโรค COVID-19 ในประเทศไทย ภาครัฐได้ย้ำให้ประชาชนติดตั้งแอพหมอชนะเพื่อติดตามตำแหน่งของผู้ใช้และแจ้งเตือนหากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง โดยในการระบาดรอบนี้ได้มีผู้ใช้จำนวนมากตั้งคำถามว่าเพราะอะไรแอพหมอชนะจึงไม่เลือกใช้ Apple/Google Exposure Notification API ซึ่งเป็น API ที่ Apple กับ Google จับมือกันพัฒนาออกมาให้รัฐบาลทุกประเทศใช้

Apple/Google Exposure Notification API ทำงานโดยการสุ่มเลขประจำตัวชั่วคราวขึ้นมาและประกาศเลขนี้ออกไปทางบลูทูธ ซึ่งสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ก็จะได้รับเลขสุ่มนี้ หากเจ้าของสมาร์ทโฟนเครื่องใดป่วยเป็น COVID-19 ขึ้นมา ก็จะสามารถส่งการแจ้งเตือนไปหาสมาร์ทโฟนทุกเครื่องที่เคยเข้าใกล้สมาร์ทโฟนของผู้ป่วยได้ทันที โดยแอพที่จะเข้าใช้งาน API นี้ได้ ต้องเป็นแอพจากรัฐบาลเท่านั้น ทำให้แอพหมอชนะ ซึ่งเป็นแอพลักษณะเดียวกันนี้เข้าข่ายที่ควรนำ API ดังกล่าวมาใช้งานที่สุด แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการใช้งานแต่อย่างใด

เมื่อช่วงก่อนสิ้นปี 2020 นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการกลุ่มงานเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หนึ่งในทีมงานพัฒนาแอพหมอชนะ ได้เขียนบล็อกเล่าถึงเหตุผลที่ทีมงานตัดสินใจไม่ใช้ Exposure Notification API

นายฉัตรชัย ระบุว่าตั้งแต่แอพหมอชนะถูกปล่อยให้ดาวน์โหลดผ่าน App Store และ Play Store ก็ได้หารือกับตัวแทนของ Apple และ Google ถึงการนำ Exposure Notification API เข้ามาใช้งาน โดยหลังจากทีมงานได้อ่านข้อตกลงการใช้งาน API ดังกล่าว พบว่าเงื่อนไขการใช้งานคือแอพห้ามเก็บตำแหน่งของผู้ใช้ รวมถึงห้ามใช้บลูทูธ ยกเว้นว่าจะใช้งานผ่าน API ดังกล่าวเท่านั้น รวมถึงห้ามเข้าถึงข้อมูลที่ระบุตัวตนของผู้ใช้ได้ด้วย

ภาพอีเมลการพูดคุยกับตัวแทนของแอปเปิล

ต่อมาเขาระบุว่าประชาชนที่ใช้สมาร์ทโฟนของ Huawei ที่ไม่มี Google Mobile Services (GMS) ก็จะไม่สามารถเข้าถึง API นี้ได้ แม้ Huawei Mobile Services (HMS) จะออกอัพเดตมาพร้อมยืนยันว่าทำงานร่วมกับโซลูชันด้าน COVID-19 ชั้นนำอื่นๆ ได้ แต่ Huawei ก็ไม่ได้บอกตรงๆ ว่าหมายถึง Exposure Notification API หรือไม่

HMS มีอัพเดตโดยระบุว่ามี Contact Shield API

นายฉัตรชัย เขียนถึงข้อกังวลที่ทีมงานแอพหมอชนะมีต่อ Exposure Notification API ว่าการเก็บตำแหน่งของผู้ใช้นั้นจำเป็นมาก เพราะบางครั้งผู้ป่วย COVID-19 อาจทิ้งเชื้อไวรัสไว้ในสถานที่รวมถึงสิ่งของต่างๆ เช่นราวบันได และลูกบิดประตู และหากมีผู้ใช้คนอื่นเข้ามาที่สถานที่นั้นๆ ทีหลัง ก็อาจได้รับเชื้อแต่ไม่ได้รับการแจ้งเตือน เพราะสมาร์ทโฟนของทั้งสองคนไม่ได้เชื่อมถึงกันตรงๆ

นอกจากนี้ข้อกังวลบางข้อยังฟังดูแปลกๆ เช่นกังวลว่าผู้ใช้บางรายอาจไม่ยินยอมให้ประกาศเลขสุ่มประจำเครื่อง ทำให้ประชาชนไม่อยากติดตั้งแอพ ทั้งที่ปัจจุบันเราก็เห็นกันอยู่แล้วว่าผู้ติดเชื้อจำนวนมากต้องออกมาประกาศไทม์ไลน์ของตัวเองกันเองอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ใกล้ชิดรีบตรวจสอบและตรวจหาเชื้อ

ข้อสังเกตที่สำคัญอีกข้อ คือ Exposure Notification API จะไม่มีการเก็บข้อมูลเลขสุ่มของแต่ละเครื่องไว้บนเซิร์ฟเวอร์ แต่จะเก็บไว้ในสมาร์ทโฟนเฉยๆ โดยข้อมูลเลขสุ่มจะถูกอัพโหลดขึ้นเซิร์ฟเวอร์ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยกดอัพโหลดข้อมูลเพื่อให้แจ้งเตือนคนอื่นเท่านั้น และจะถูกลบทิ้งภายใน 14 วัน แต่การทำงานของแอพหมอชนะจะเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้บนเซิร์ฟเวอร์ตลอดเวลาที่ยังมีวิกฤติโรคระบาดอยู่

ภาพจากเอกสาร Exposure Notification API FAQ (PDF)

สุดท้ายเขาระบุว่าประเทศอินเดียก็ไม่ใช้ Exposure Notification API ด้วยเหตุผลเรื่องตำแหน่งของผู้ใช้เช่นกัน รวมถึงในสหรัฐอเมริกาเองก็มีเพียง 19 จาก 50 รัฐที่ใช้งาน API ดังกล่าว (และมีอีก 2 รัฐระบุว่ากำลังจะใช้) อย่างไรก็ตาม นายฉัตรชัยระบุว่าหาก Apple และ Google เปลี่ยนข้อบังคับ หรือเงื่อนไขของสถานการณ์เปลี่ยนไปก็พร้อมพิจารณาใช้ API ทันที

ที่มา - Chatchai Khunpitiluck - Medium

Blognone Jobs Premium