รีวิวบอร์ด FriendlyARM Mini2440

by lew
18 June 2009 - 12:38

ช่วงหลังๆ นี้แฟชั่นของการพัฒนาซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กกินพลังงานต่ำคงเป็นกระแสที่นักพัฒนาเริ่มเห็นกันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่ามันกำลังมาแทนที่โลกคอมพิวเตอร์ฝังตัวไปเรื่อยๆ ล่าสุดผมได้มีโอกาสที่จะลองเล่นบอร์ด ARM9 ที่ผลิตในจีนชื่อว่า Mini2440 จาก FriendlyARM ที่มีจุดเด่นที่ราคาต่ำกว่า 5,000 บาท แต่แพลตฟอร์มมีความเปิดทำให้สามารถพัฒนาได้อย่างไม่จำกัด

ที่มาภาพ - ThaiEasyElec

บอร์ดที่ว่านี้มีขายในเมืองไทยอย่างน้อยสองที่คือ Electronic Source และ Thai Easy Elec โดยทั้งสองที่วางขายอยู่ที่ราคา 4,700 บาท รวม VAT เบ็ดเสร็จแล้วก็จะเกินห้าพันบาทไปเล็กน้อย ส่วนถ้าใครมีความสามารถในการนำเข้ามาเอง ต่างประเทศนั้นขายกันในราคาสามพันกว่าบาทถึงสี่พันบาทนิดๆ เท่านั้น

การบูตจนถึง GUI ขึ้นใช้งานได้นั้นอยู่ที่ประมาณ 5-10 วินาทีนับเร็วพอสมควร เข้าใจว่าเป็นความดีของ Qt Extended รุ่นพิเศษที่บูตครั้งแรกมาเป็นภาษาจีนต้องเดาๆ ปุ่มกันพอสมควรจึงจะเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษได้

หน้าจอต่างๆ ค่อนข้างครบถ้วน โดยตัวธีมเว็บนั้นพยายามทำเลียนแบบวินโดวส์พอสมควร แต่ซอฟต์แวร์ที่ให้มานั้นครบถ้วนมาก รวมถึง shell แบบ root access ที่ไม่ต้อง jailbreak เหมือน iPhone และ Android นอกจากนี้ยังรวมถึงซอฟต์แวร์เช่น VNC ทำให้เราอาจจะใช้เครื่อง Mini2440 นี้มาควบคุมเครื่องจากระยะไกลได้ (แบบลำบากๆ หน่อย)

ที่ชอบมากอย่างหนึ่งคือ USB ที่ให้มานั้นรองรับได้ทั้ง Slave และ Master นั่นหมายถึงเราสามารถเสียบคีย์บอร์ดขนาดเต็มใช้งานได้ทันที!!! ส่วน I/O อื่นๆ นั้นก็มีเช่นหน้าจอสัมผัสแบบ resistive, Ethernet, RS-232, SD, นอกจากนี้ยังมี A/D และไมโครโฟนให้ในตัว

สำหรับการกินพลังงานนั้นผมยังไม่ได้วัดอย่างจริงจัง แต่พบว่าตัวแปลงไฟนั้นเป็นแบบ 5V 2A ทำให้เราคงเดาได้ว่ามันจะกินไฟไม่เกิน 10 วัตต์ (รวมจอภาพ) ทำให้นำไปต่อกับแบตเตอรี่ก็คงไม่น่าเกลียดเกินไปนัก โดยทั่วไปแล้วผมพบว่าเครื่อง Atom นั้นกินไปรวมๆ ทั้งระบบประมาณ 40 วัตต์ (ไม่รวมจอ) ความต่างที่เกิดขึ้นจะเป็นประมาณ 263 ยูนิตต่อปีเป็นอย่างน้อย และน่าจะดีกว่านี้หากเราพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ดีพอ หากเรานำไปใช้งานที่ต้องเปิดทั้งวันเช่นการตรวจสภาพแวดล้อมประเด็นพลังงานก็น่าจะนำมาพิจารณาอยู่พอควร

บทสรุป ก่อนอื่นต้องออกตัวว่าผมตื่นเต้นกับเจ้า Mini2440 นี้ในฐานะ "นักพัฒนา" ที่ชอบเอาเครื่องมาแกะเล่นเพื่อให้มันมีความสามารถตามที่ต้องการ สำหรับใครที่จะทำโปรเจคหรือต้องการพัฒนาสินค้า ตลอดจนต้องการคอมพิวเตอร์ฝังตัวที่ทำงานได้ง่ายกว่า microcontroller และยังประหยัดไฟอยู่พอสมควร ส่วนถ้าใครที่ต้องการคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กมาใช้นั้น netbook น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับคนทั่วไป

ขอขอบคุณห้องปฎิบัตการวิจัยเครือข่ายไร้สายอัจริยะ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม. เกษตรศาสตร์ ให้ยืมอุปกรณ์ครับ

Blognone Jobs Premium