เหตุที่ Amazon ทำเกมเท่าไรก็ไม่บูม มาจากผู้บริหารขาดประสบการณ์ และวัฒนธรรมองค์กร

by mheevariety
2 February 2021 - 09:49

Jeff Bezos เริ่มพยายามบุกตลาดเกมตั้งแต่ปี 2012 ด้วยการตั้งบริษัทลูก Amazon Games ขึ้นมาโดยมี Mike Frazzini เป็นหัวหอกและนั่งตำแหน่งรองประธานสตูดิโอ Amazon Games Studio มาจนถึงปัจจุบัน วิสัยทัศน์ของ Jeff คือจะใช้เกมเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มสมาชิก Amazon Prime รวมถึงโชว์ความสามารถของระบบคลาวด์ของ Amazon

ปัจจุบันผ่านมา 8 ปี Amazon Games Studios แทบไม่มีเกมที่ประสบความสำเร็จเลย ซึ่ง Jason Schreier นักข่าวสายสืบสวนอันดับต้นๆ ของวงการเกม ร่วมกับ Priya Anand เขียนบทความตีแผ่การทำงานภายใน Amazon Games ลง Bloomberg โดยอาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ทีมงานและอดีตทีมงานกว่า 30 คนที่ไม่เปิดเผยตัวตน ว่าสาเหตุหลัก ๆ มาจากการขาดประสบการณ์ของ Frazzini และวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเกม

ประวัติสั้น ๆ ของ Mike Frazzini คือเขาไต่เต้ามาจากฝั่งขายหนังสือของ Amazon ช่วงแรกของการทำ Amazon Games Studio เขาตั้งเป้าว่าจะทำเกมเล็กๆ ลง Amazon Appstore และมือถือ Android โดยเปิดตัวเกมแรกคือ Living Classics บน Facebook ในปี 2012 ก่อนจะมุ่งเป้ามายังเกมพีซีและคอนโซลในปี 2014 โดย Frazzini เป็นหัวหอกผลักดันให้ Amazon เข้าซื้อกิจการ Twitch.tv เว็บสตรีมเกมชื่อดังมาอยู่ภายใต้ Amazon Games

Frazzini จ้างบุคลากรคุณภาพจากวงการเกมมากมายเข้ามาร่วมงาน ทั้ง Louis Castle ผู้ก่อตั้ง Westwood Studios ที่ให้กำเนิดเกม Command & Conquer, Kim Swift ผู้ออกแบบปริศนาในเกม Portal, Clint Hocking ผู้กำกับเกม Far Cry 2, ทีมสร้างเกมอเมริกันฟุตบอล Madden อย่าง Richard Hilleman และ John Smedley ผู้ก่อตั้ง Daybreak Studios ทีมสร้างเกม EverQuest แต่ปัจจุบันเหลือเพียง John Smedley เท่านั้น ที่ยังทำงานกับ Amazon อยู่

ปัญหาของ Frazzini ที่พนักงานระบุ คือเขาไม่ค่อยฟังคำแนะนำใคร และคาดหวังจะให้พนักงานทุกคนที่จ้างมา ปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของ Amazon ให้ได้ที่ทุกสิ่งต้องวัดได้ด้วยตัวเลขและสถิติ ทำให้ทีมงานหลายๆ คนที่เคยอยู่วงการเกมมาก่อน และบางครั้งใช้มาตรวัดที่เป็นความรู้สึกอย่าง “ความสนุก” ไม่พอใจนัก และรู้สึกอึดอัด เมื่อเข้ามาร่วมกับ Amazon แม้เงินเดือนจะดีกว่าที่อื่นก็ตาม

เวลา Frazzini รีวิวเกมจากทีมพัฒนา ตามธรรมเนียมการพัฒนาเกมที่ต้องให้ผู้บริหารลองเล่นก่อน Frazzini ก็มีคำถามเดิมๆ เช่น “ทำไมไอ้นี่เป็นสีนี้” “เกมจะเสร็จเมื่อไร” หรือ “ดูน่าสนุกดีนะ” เท่านั้น แถมในบางครั้ง เขายังแยกไม่ออกระหว่างวิดีโอพรีเรนเดอร์ที่เป็นตัวอย่างเกม กับเกมเพลย์จริง แสดงถึงความขาดประสบการณ์ในวงการเกมของเขา

พนักงานยังเล่าอีกว่าเขาไม่เป็นที่รักของทีมงานเลย และหลังจากเกม Crucible ถูกแคนเซิล ทีมงานที่โดนไล่ออกแล้วกลับมาเก็บของ ก็ยังพบมีคนเขียนบนกระดานไวท์บอร์ดไว้ว่า “Fraz is cancer” พร้อมมีทีมงานอีกมากมายมาเขียน +1 ไว้ด้วยปากกาหลากสี

ในด้านเทคนิค Amazon ยังพยายามบังคับให้ทีมงานใช้เอนจิ้นพัฒนาเกมของตัวเอง ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจาก Crytek ก่อนจะนำมาดัดแปลงเป็นเอนจิ้นชื่อ Lumberyard ที่เปิดให้ใช้ฟรี แต่ทีมงานก็บ่นว่าเอนจิ้นเฉพาะนี้ทำงานด้วยยากมาก แถมยังคอมไพล์โค้ดช้าจนบางครั้งหลบไปดูซีรีส์ หรือนั่งเล่น Halo รอยังได้

ภาพหน้าจอการทำงานของเอนจิ้น Lumberyard

นอกจากนี้ เป้าหมายในการสร้างเกมของ Amazon ก็ขัดกันไปมา ทั้งความต้องการให้เกมเป็นเกมระดับร้อยล้านพันล้านแบบ Call of Duty ที่มีผู้เล่นเล่นพร้อมกันได้หลัก 10,000 คน แต่ก็ต้องสนุกด้วยเมื่อเล่นคนเดียว แถมยังพยายามไล่ตามเทรนด์เกมดังๆ เช่น League of Legends, Fortnite และ Overwatch ก่อนจะออกมาเป็นเกม Nova ที่แคนเซิลไปในปี 2017, Intensity แคนเซิลไปในปี 2019 และ Crucible ที่แคนเซิลไปในปีก่อน ตามลำดับ

ภาพจากเกม Crucible

ในแง่การให้รางวัลพนักงาน ก็ไม่ได้เหมือนกับธรรมเนียมของวงการพัฒนาเกมทั่วไป ที่มักจะให้โบนัส หากเกมได้คะแนน Metacritic เกิน 85-90 คะแนน แต่จะอยู่ในรูปของเงินที่เพิ่มตามอายุการทำงานเท่านั้น ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ไม่กล้าออกความเห็นขัดใจเจ้านาย เพราะอยากทำงานไปนานๆ มากกว่า และทำเกมดีๆ ไปก็ไม่ได้อะไร

นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากพนักงานผู้หญิง ที่ระบุว่า Amazon มี “bro culture” หรือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ค่อนข้างเข้มข้น และประสบปัญหาในการทำงาน ทั้งไม่มีใครฟังความเห็น ถูกกลั่นแกล้งไม่ให้ก้าวหน้า เพราะไปขัดความเห็นหัวหน้าที่เป็นผู้ชาย และอื่นๆ อีกมาก จนพนักงานหญิงหลายคนบอกว่าประสบการณ์ toxic ที่สุดในชีวิตการทำงาน ก็ตอนอยู่ที่ Amazon Game นี่แหละ

แม้ Amazon Game Studios จะได้ตัว Christoph Hartmann จาก Take-Two Studios ผู้จัดจำหน่ายเกมดังๆ อย่าง Bioshock และ Mafia มาในปี 2018 และเขาเริ่มลดข้อบังคับในการใช้เอนจิ้น Lumberyard ลง ก่อนจะสร้างเกมขับรถที่อิงจากรายการรถยนต์ในอังกฤษอย่าง The Grand Tour มาลง PS4 และ Xbox One ในปี 2019 แต่เวอร์ชั่น PS4 ก็ได้คะแนนไปเพียง 52 คะแนน บน Metacritic เท่านั้น

เกมแข่งรถ The Grand Tour

ปัจจุบันทีมงานจาก Crucible บางส่วน ย้ายมาทำเกม New World เกมออนไลน์ที่ให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นนักล่าอาณานิคม และมีศัตรูเป็นชนเผ่าที่คล้ายคลึงกับชาวอเมริกันพื้นเมือง ซึ่งน่าจะเสี่ยงดราม่าพอสมควร และทีมงานก็พยายามแจ้ง Patrick Gilmore ผู้ช่วยของ Frazzini ในประเด็นนี้ ซึ่งเขาก็ไม่เชื่อเท่าไร แต่ก็มีการจ้างที่ปรึกษาชาวอเมริกันพื้นเมืองให้มาตรวจสอบตัวเกม และถอดเนื้อหาส่วนนี้ออกไป หลังที่ปรึกษาที่จ้างมาพบว่าเกมมีประเด็นเหยียดเชื้อชาติจริง

ภาพจากเกม New World

New World เลื่อนกำหนดเปิดตัวจากปีที่แล้วมาเป็นต้นปีนี้ หลัง Crucible ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร คงต้องติดตามต่อไปว่าเกมนี้จะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน และ Amazon จะปรับระบบองค์กรจนประสบความสำเร็จกับวงการเกมด้วยการลองผิดลองถูก เหมือนตอน Prime Video ที่ล้มลุกคลุกคลานในช่วงแรกไม่ต่างกันได้หรือไม่ อนาคตเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์

ที่มา - Bloomberg

Blognone Jobs Premium