พาไปดูเทคโนโลยี AI ที่ซีพีใช้ ตรวจสอบคุณภาพการผลิตหน้ากากอนามัย สู้โควิด-19

by advertorial
8 February 2021 - 03:00

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตขาดแคลนหน้ากากอนามัยใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือซีพี ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกจ่ายฟรีแก่ แพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เป็นด่านหน้าที่ต้องรับมือกับวิกฤตโควิด-19 อย่างเร่งด่วน รวมทั้งประชาชนที่ขาดโอกาส เพื่อเร่งบรรเทาวิกฤตการขาดแคลนหน้ากากอนามัย

จึงได้ก่อตั้ง บริษัท ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ จำกัด ขึ้นมาดูแลเปิดโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยซีพีใช้เวลาก่อสร้างด้วยความรวดเร็วภายใน 5 สัปดาห์ ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการผลิตตั้งแต่การออกแบบห้องคลีนรูม (Clean Room) นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตและเชื่อมต่อกับระบบ AI ที่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพการผลิตและการบรรจุ ซึ่งในทุกขั้นตอนเชื่อมต่อเป็นระบบอัตโนมัติและใช้กำลังคนน้อยที่สุดเพื่อให้หน้ากากอนามัยที่ผลิตปลอดเชื้อเป็นไปตามมาตรฐานสากล

Blognone พาไปดูโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี ศึกษาวิธีการผลิตและพูดคุยกับ คุณศักดิ์ชัย บัวมูล ผู้รับผิดชอบสายงานด้านวิศวกรรมและการออกแบบกระบวนการผลิตโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี และคุณสรสิช กมลชัยวานิช หนึ่งในทีมวิศวกร ถึงวิธีการทำงานของ AI ว่ามีหลักในการคัดกรองคุณภาพหน้ากากอย่างไร ให้ได้หน้ากากที่ดีที่สุด

AI ช่วยตรวจสอบคุณภาพหน้ากากอนามัยได้ทุกจุดพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณศักดิ์ชัย เล่าที่มาและแนวคิดการพัฒนา AI ที่ใช้งานในโรงงานหน้ากากอนามัยซีพีให้ฟังว่า การออกแบบการผลิตสินค้าในเครือซีพี ต้องคิดถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว เมื่อเราได้รับภารกิจให้สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เราต้องคิดกันก่อนว่า งานส่วนไหนที่ระบบอัตโนมัติ และ AI จะเข้ามาช่วยได้ดีที่สุด

คุณศักดิ์ชัย บัวมูล ผู้รับผิดชอบ ด้านวิศวกรรมและการออกแบบกระบวนการผลิตโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี

ในโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย มีหลายจุดที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่จุดที่เหมาะกับงาน AI มากที่สุดคือ การตรวจสอบคุณภาพหน้ากากอนามัย เพราะต้องอาศัยความละเอียดและต้องใช้เวลามาก เราจึงเริ่มต้นจากการสอน AI ให้รู้จักหน้ากากอนามัยที่ทั้งดีและไม่ดี เพื่อที่จะคัดกรองสินค้าออกไปได้

นอกจาก AI ที่คัดกรองคุณภาพหน้ากากอนามัยเป็นด่านสุดท้ายแล้ว ในส่วนงานอื่นยังมีการใช้เทคโนโลยีหลากหลาย เช่น Image Processing ซอฟต์แวร์พร้อมกล้องเพื่อตรวจสอบม้วนผ้าทั้งสามชั้น ประกอบด้วย ชั้นแรก เป็นนอนวูฟเวนชนิดสปันบอนด์ (สีเขียว) เคลือบสารไฮโดรโฟบิก มีคุณสมบัติป้องกันน้ำ ชั้นต่อมา เป็นนอนวูฟเวนชนิดเมลต์โบลน (สีขาว) ใช้ป้องกันเชื้อโรค และชั้นสุดท้าย เป็นนอนวูฟเวนชนิดสปันบอนด์ส (สีขาว) โดยต้องให้อยู่ในแนวเดียวกันทั้งสามชั้น ไม่ให้ชั้นใดชั้นหนึ่งเอียงออกมา

คุณสรสิช หนึ่งในทีมงานวิศวกรที่ทำงานใกล้ชิดกับ AI ในโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยซีพีตั้งแต่ต้น ได้พูดถึงวิธีการสอน AI ให้รู้จักการตรวจสอบแยกแยะคุณภาพของหน้ากากอนามัยว่า ทางทีมวิศวกรนำรูปภาพหน้ากากอนามัยในสภาวะที่แตกต่างกันเป็นพันๆ รูป ให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ ตัวอย่างรูปภาพเช่น หน้ากากอนามัยเบี้ยว เอียง มีสภาวะปนเปื้อน เป็นต้น เพื่อให้ AI รู้ว่า หน้ากากจำพวกนี้ ไม่ควรปล่อยออกมาใช้งานจริง

คุณสรสิช กมลชัยวานิช (วิศวกร)

เมื่อ AI ทำงานได้สมบูรณ์แล้ว จะช่วยให้โรงงานสามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้ในอัตราความเร็วจำนวนมากเท่าที่ต้องการได้ AI ยังสามารถตรวจสอบคุณภาพหน้ากากอนามัยได้ทุกจุดพร้อมกันในหลักวินาทีต่อชิ้น ส่งผลให้ที่โรงงานตอนนี้ มีกำลังผลิต 1 แสนชิ้นต่อวัน

ซึ่งหากเทียบกับการไม่ใช้ AI ในโรงงานเลย จะทำให้มีความเสี่ยงกว่ามาก ทั้งเสี่ยงต่อการผลิตไม่ทัน และเสี่ยงต่อการที่สินค้าไม่ได้คุณภาพ หรือมีสภาวะปนเปื้อนออกไปถึงมือผู้ใช้งาน

หน้ากากอนามัยแบบใด ที่ AI ให้ผ่านการคัดกรอง

คุณศักดิ์ชัยระบุว่า หน้ากากอนามัยที่โรงงานผลิตมีชนิดเดียว คือ หน้ากากอนามัยที่ใช้ในการแพทย์ ที่เรียกว่า Surgical Mask จัดอยู่ในกลุ่มของอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ AI จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบส่วนประกอบของการผลิตหน้ากากอนามัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ คือ

  • 1. สายคล้องหู ต้องใช้วัสดุที่มีความแข็งแรง ไม่ขาดหลุดง่าย และมีการเย็บติดเข้ากับตัวหน้ากากอย่างแน่นหนา
  • 2. โครงลวด ต้องใช้โครงลวดที่มีขนาดตามมาตรฐาน และมีการปะยึดลวดไม่ให้หลุดระหว่างการใช้งาน
  • 3. ตัวล็อคโครงลวด มีความสำคัญในการช่วยยึดลวดให้ไม่เลื่อนหลุดจากตัวหน้ากาก ซึ่งอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของหน้ากาก ทำให้ผู้ใช้ได้รับอันตราย รวมถึงเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรค
  • 4. ตัวแผ่นหน้ากาก จะต้องมีความหนาแน่นของเส้นใยที่ได้มาตรฐาน แผ่นหน้ากากชั้นนอกและชั้นในใช้เส้นใยชนิดเดียวกัน มีรูพรุนขนาด 3 ไมครอน ในขณะที่ชั้นกลางซึ่งเป็นชั้นที่ใช้ป้องกันไวรัส จะต้องมีรูพรุนสูงประมาณ 1 ไมครอนหรือต่ำกว่า และมีความหนาแน่นของเส้นใยสูง เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัส

นอกจากนี้ หน้ากากอนามัยของซีพี ออกแบบให้มีขนาดพอดีกับทุกคน สามารถใช้งานได้ทั่วไป ใส่แล้วพอดีกับขนาดใบหน้า ไม่เกิดรูโหว่เมื่อสวมใส่ สายคล้องยืดหยุ่น ไม่หลวมและไม่รัดจนเกินไป

งาน AI ของซีพีจะไม่หยุดแค่การผลิตหน้ากากอนามัย

ซีพีมีการนำระบบ AI มาใช้ในการผลิตสินค้าหลายจุด ไม่จำกัดเฉพาะหน้ากากอนามัย แต่ยังคงใช้งานในหลักการเดียวกันคือ ตรวจสอบคุณภาพสินค้าโดยเฉพาะอาหาร ก้าวต่อไปคือ การนำ AI เข้ามาใช้ควบคุมการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร

คุณศักดิ์ชัย ให้ภาพรวมว่า วัตถุดิบทางการเกษตรมีความหลากหลาย และมีความไม่แน่นอนสูง เช่นความหนาของใบผัก ขนาดของผักผลไม้ที่แตกต่างกัน เราจึงต้องกำหนดเงื่อนไขที่ซับซ้อนมากกว่าหน้ากากอนามัยให้ AI เรียนรู้ ซึ่งถ้า AI สามารถคัดกรองหน้ากากอนามัยได้ ก็มั่นใจว่าจะสามารถคัดกรองวัตถุดิบการเกษตรได้ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน หน้ากากอนามัยจากโรงงานผลิตของซีพีไม่มีวางขายทั่วไป แต่เป็นการผลิตมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และกลุ่มเปราะบางเท่านั้น โดยมีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นผู้ประสานงานด้านคำสั่งการผลิตและการกำหนดการแจกจ่าย

Blognone Jobs Premium