เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา Elon Musk ได้ทวีตว่าจะบริจาคเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 พันล้านบาทสำหรับการแข่งขันดักจับคาร์บอน
การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon capture and storage - CCS) เป็นกระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จุดกำเนิดก๊าซและกักเก็บไม่ให้รั่วไหลออกสู่บรรยากาศ มีจุดประสงค์เพื่อชะลอหรือลดภาวะโลกร้อน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร รวมถึงมีราคาสูงจนไม่คุ้มที่จะทำ
ล่าสุดมีรายละเอียดการแข่งขันออกมาแล้ว การแข่งขันนี้จะจัดโดย XPRIZE องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการแข่งขันด้านเทคโนโลยีเพื่อมนุษยชาติ โดยเงื่อนไขคือทีมที่เข้าร่วมต้องสาธิตโมเดลการดักจับคาร์บอนในสเกลขนาดใหญ่ระดับกิกะตัน ซึ่งเป้าหมายคือการกักเก็บคาร์บอนได้ปีละ 10 กิกะตันภายในปี 2050 เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปรับสมดุลของคาร์บอนในโลก
ทีมที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินจะต้องสาธิตระบบต้นแบบที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้อย่างน้อยวันละ 1 ตัน และสามารถสเกลให้ขึ้นสู่ระดับกิกะตันได้ รวมถึงจะมีการพิจารณาต้นทุนการกักเก็บคาร์บอนต่อตัน และต้องกักเก็บคาร์บอนไว้ได้อย่างน้อย 100 ปี
ด้าน Elon Musk ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า "เราต้องการทีมที่สร้างระบบของจริงที่วัดผลได้จริงในระดับกิกะตัน แม้ว่าจะใช้ความพยายามแค่ไหนก็ตาม จะไม่มีเวลาแล้ว"
งานนี้มีเงินรางวัล 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีระยะเวลาแข่งขันนาน 4 ปี โดยหลังเริ่มการแข่งขันได้ 18 เดือน 15 ทีมแรกที่ผ่านเข้ารอบจะได้รับเงินทีมละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (30 ล้านบาท) เพื่อนำไปต่อยอดโครงการที่จะกลับมาเป็นระบบในสเกลใหญ่ และทีมที่ชนะเลิศจะได้รางวัล 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,500 ล้านบาท), รองชนะเลิศได้ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (600 ล้านบาท) และที่สามได้ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (300 ล้านบาท) นอกจากนี้หากมีทีมที่เป็นนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมไม่เกิน 25 ทีม ก็จะได้เงินทีมละ 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ (6 ล้านบาท) ด้วย
รายละเอียดแบบเต็มๆ พร้อมการเปิดรับสมัครจะถูกเปิดเผยในวันที่ 22 เมษายนนี้ ตรงกับวันคุ้มครองโลก (Earth Day 2021) และจะจบการแข่งขันในวันคุ้มครองโลก 2025
ที่มา - Electrek, XPRIZE
ภาพโดย XPRIZE