วัคซีน COVID-19 ของ AstraZeneca ต่างจากผู้ผลิตรายอื่นเนื่องจากทางบริษัทพยายามจับมือกับพันธมิตรทั่วโลกเพื่อร่วมผลิตวัคซีนกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ โดยมีเป้าหมายถึง 3,000 ล้านโดสต่อปี สัปดาห์นี้ทาง CSL Behring ผู้ผลิตจากออสเตรเลียออกมาเปิดเผยกระบวนการผลิตอย่างละเอียดกับสำนักข่าว ABC ทำให้เรารู้ว่ากว่าจะเป็นวัคซีนจาก AstraZeneca นั้นต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง และความยากของการผลิตวัคซีนตัวนี้เป็นอย่างไร
Adenovirus เป้าหมายของการผลิตวัคซีน
ภาพตัวอย่างวัคซีนของ AstraZeneca จากมหาวิทยาลัย Oxford
วัคซีน ChAdOx1 nCoV-2019 พัฒนาโดย Oxford นั้นเป็นวัคซีนชีวภาพทำให้กระบวนการผลิตต้องอาศัยเซลล์มีชีวิตจริงเพื่อผลิตตัววัคซีนออกมา ทาง AstraZeneca ผลิตวัคซีนโดยใช้เซลล์ไตของเอ็มบริโอมนุษย์ (human embryo kidney) ที่ชื่อว่า HEK 293 ที่ดัดแปลงมาเฉพาะเพื่อการผลิตวัคซีน ร่วมกับไวรัส adenovirus ที่ดัดแปลงมาเพื่อผลิตวัคซีนเช่นกัน โดยไวรัสที่ดัดแปลงมานี้ไม่สามารถแพร่พันธุ์ในเซลล์มนุษย์ปกติได้ ต้องอาศัยเซลล์ HEK ดัดแปลงนี้เท่านั้น
แผนที่กำลังผลิตของพันธมิตร AstraZeneca แถบเอเชียแปซิฟิก
ทาง AstraZeneca ส่งมอบเซลล์ HEK 293 ให้กับโรงงานผู้ผลิตคือ CSL Behring ประมาณ 1 มิลลิลิตรเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากนั้นทางโรงงานจึงนำเซลล์มาเพาะจากหลอดทดลองขนาด 10 มิลลิลิตรและค่อยๆ ขยายขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงการเพาะในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ (bioreactor) ขนาด 2,000 ลิตร
เมื่อได้เซลล์ HEK จนเต็มเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพแล้ว ทางโรงงานจะเติม adenovirus ที่ AstraZeneca ส่งมอบให้ลงไป แล้วรออีก 6 วันเพื่อให้ adenovirus แพร่ไปยังเซลล์ HEK ที่มีอยู่เต็มเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ เมื่อครบเวลาที่กำหนดแล้วโรงงานจะแยก adenovirus ออกจากสารอื่นๆ ในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพด้วยเทคนิค capture chromatography ทำให้ได้ไวรัสในของเหลวออกมา เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตวัคซีนนำไปแช่แข็งไว้
เครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ Biostat STR (นำมาประกอบเป็นตัวอย่าง)
หลังจากนั้นโรงงานบรรจุจะนำวัคซีนแช่แข็งออกมาละลายกับสาร buffer เพื่อรักษาระดับค่ากรดด่าง แบ่งบรรจุขวดทีละ 6.5 มิลลิลิตร (10 โดส) เมื่อปิดขวดปิดฉลากแล้วเป็นอันเสร็จได้วัคซีน
กระบวนการแต่ละขั้นถูกตรวจสอบอย่างหนัก ตั้งแต่การรับวัตถุดิบต่างๆ เช่น เคมีสำหรับเลี้ยงเซลล์ HEK คุณภาพและความบริสุทธิ์ของผลการผลิตในขั้นตอนต่างๆ แม้กระทั่งเมื่อบรรจุขวดเรียบร้อยแล้ว ขวดวัคซีนก็ต้องผ่านการตรวจสอบสุดท้ายอีกครั้ง ซึ่งอาจจะมีวัคซีนถูกทำลายในขั้นตอนสุดท้าย 2-5% ทีเดียว
ทางโรงงาน CSL นั้นมีกำลังผลิตเต็มที่อยู่ที่ 53.8 ล้านโดสต่อปี แต่หลังจากผลิตวัคซีนได้สองรอบ (batch) แล้วทางโรงงานยอมรับว่าวัคซีนที่ได้รับจริง (yield) นั้นต่ำกว่าที่คาดแต่กำลังเร่งกำลังผลิตเต็มที่ ปัญหาเช่นนี้เหมือนกับในยุโรปที่โรงงานมีกำลังผลิตถึง 400 ล้านโดสต่อปี แต่กลับได้ผลผลิตต่ำจนกระทั่งเกิดปัญหาส่งมอบล่าช้า
ตามรายงานของ AstraZeneca ทางบริษัทยังไม่ระบุกำลังผลิตที่ชัดเจน แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขของไทยจะยืนยันว่ามีกำลังผลิต 200 ล้านโดสต่อปีก็ตาม
ที่มา - ABC