4 ประเด็นความเป็นส่วนตัวควรรู้กับการเล่นแอป Clubhouse

by lew
16 February 2021 - 18:35

สัปดาห์นี้แอป Clubhouse กลายเป็นแอปยอดฮิตของประเทศไทย โดยวันนี้ห้องที่ตั้งโดยนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการไทยผู้ตั้งกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส มีคนเข้าฟังเต็มความจุ 6,000 คนถึงสองห้อง และช่วงค่ำห้องที่ตั้งโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ก็มีผู้เข้าฟังจนเต็มและมีการเปิดห้องเพิ่มเติมอีกเช่นกัน

แต่ขณะที่ความนิยมในตัวแอปกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนหลายคนอาจจะตัดสินใจหาซื้ออุปกรณ์ iOS เพื่อมาใช้งานแอปนี้โดยเฉพาะ เราควรตระหนักว่าแอป Clubhouse มีแนวทางความเป็นส่วนตัวที่ต่างจากแอปอื่นๆ พอสมควร ผมแนะนำ 4 ประเด็นความเป็นส่วนตัวสำหรับการใช้งาน Clubhouse ที่ควรตระหนัก

บังคับใช้หมายเลขโทรศัพท์ พยายามดึงหมายเลขติดต่อ

Clubhouse ใช้หมายเลขโทรศัพท์มากกว่าบริการสื่อสังคมออนไลน์อย่างอื่นมาก การลงทะเบียนต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น เทียบกับทวิตเตอร์ที่สามารถอีเมลได้ (หากใช้งาน Gmail ยังสามารถใช้ alias ได้ด้วย)

สิ่งที่ทำให้ Clubhouse ต่างจากแอปอื่นอย่างชัดเจนคือระบบการชวนเพื่อนในช่วงนี้ ผู้ที่จะชวนเพื่อนให้เข้าไปใช้งาน Clubhouse ได้จะต้องส่งรายชื่อติดต่อ (contact) ทั้งหมดให้กับ Clubhouse และทาง Clubhouse จะใช้หมายเลขติดต่อนี้แนะนำคนอื่นๆ ที่เข้ามาใช้งานให้เราไป follow อย่างต่อเนื่อง

เปิดเผยการนั่งฟังเฉยๆ

โดยทั่วไปแล้วแพลตฟอร์มต่างๆ มักแนะนำคอนเทนต์ให้เพื่อนหรือผู้ติดตามของเราต่อเมื่อเรา "กระทำ" กับคอนเทนต์ในแพลตฟอร์ม เช่นการกดรีทวีตหรือกดไลค์บนทวิตเตอร์, การคอมเมนต์หรือกดไลค์บนเฟซบุ๊ก หรือ YouTube Live ที่จะรู้ว่าใครดูวิดีโอใดต่อเมื่อแชตในระบบเท่านั้น แต่กรณีของ Clubhouse นั้น การกดเข้าไปร่วมฟังในห้องหนึ่งๆ จะเป็นการเปิดเผยว่าเรากำลังฟังทันที ผู้ที่ follow เราอยู่บน Clubhouse จะเห็นว่าเราอยู่ในห้องใดบน timeline ของแอป รวมถึงผู้ร่วมห้องจะเห็นรายชื่อของผู้ที่ฟังในห้องอยู่ทั้งหมด

ไม่เข้ารหัสหมายเลขผู้ใช้ และหมายเลขห้อง ทำให้อาจถูกดักฟังว่าฟังหรือพูดในห้องใดอยู่

ตัวแอป Clubhouse ใช้แพลตฟอร์ม Agora เพื่อกระจายเสียงไปยังผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้เข้าห้องในแอป ตัวแอปจะเชื่อมต่อตรงไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ Agora เช่น qos-america.agoralab.co โดยแพ็กเก็ตที่เชื่อมต่อนั้นไม่เข้ารหัสข้อมูลการเชื่อมต่อ (metadata) ทำให้ผู้ที่สามารถดักฟังการเชื่อมต่อจะเห็นหมายเลขประจำตัวผู้ใช้ และหมายเลขห้องในแอปได้

ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด หากผู้ดักฟังสามารถเข้าฟังห้องเดียวกับเหยื่อที่ถูกดักฟังได้ก็จะรู้ว่าหมายเลขไอพีต้นทางของผู้พูดคือชื่อผู้ใช้ใดในแอป

มีการอัดเสียงเก็บไว้

Clubhouse ประกาศในนโยบายความเป็นส่วนตัวระบุว่าบริษัทจะเก็บเสียงของแต่ละห้องไว้ชั่วคราว เพื่อสอบสวนในกรณีที่มีการร้องเรียน โดยทั่วไปแล้วไฟล์เสียงของแต่ละห้องจะถูกลบเมื่อห้องปิดตัวลงและไม่มีการร้องเรียนใดๆ แต่หากมีการร้องเรียนในห้อง ทางแอปก็จะเก็บไฟล์เสียงไว้จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น

ข้อจำกัดเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับคนจำนวนมาก (หลายคนอาจจะอัพโหลดรายชื่อติดต่อในทุกแอปแชตอยู่แล้ว) แต่ก็ควรตระหนักว่าแอปยังไม่มีตัวเลือกความเป็นส่วนตัวที่ละเอียดเท่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ในกรณีที่มีการพูดคุยในเรื่องอ่อนไหวก็ควรตระหนักว่าแพลตฟอร์มยังมีประเด็นความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่ควรปรับปรุงอีกหลายจุด

Blognone Jobs Premium