การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล กับการวิเคราะห์ข้อมูลดูเป็นแนวคิดที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง และต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งเท่านั้น หากเลือกปกป้องข้อมูลด้วยการเข้ารหัส (encryption) ก็จะไม่สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ได้จนกว่าจะถอดรหัสออกมาทั้งหมด
ในทางเทคนิคแล้วมีแนวคิดที่เรียกว่า Fully Homomorphic Encryption (FHE) เป็นวิธีการเข้ารหัสแบบใหม่ ที่สามารถนำข้อมูลไปวิเคราห์-ประมวลผลต่อได้ (ทั้งๆ ที่ยังถูกเข้ารหัสอยู่และไม่รู้ว่าข้อมูลข้างในคืออะไร)
FHE เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นนานแล้ว แต่ไม่ถูกนำมาใช้งานจริง เพราะต้องใช้พลังประมวลผลมหาศาล งานที่ใช้เวลาเพียงมิลลิวินาทีบนคอมพิวเตอร์ทั่วไป อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หากเข้ารหัสแบบ FHE
แต่เมื่อ FHE คือแนวทางแก้ปัญหาความเป็นส่วนตัวในระยะยาว ล่าสุด DARPA หน่วยงานวิจัยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (หน่วยเดียวกับที่คิดค้นอินเทอร์เน็ต) จึงเปิดตัวโครงการ Data Protection in Virtual Environments (DPRIVE) เพื่อหาวิธีประมวลผล FHE ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยใช้โซลูชันฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ทำงานด้วยกัน
โครงการ DPRIVE เลือกทีมวิจัยมา 4 ทีม ได้แก่ Duality Technologies, Galois, SRI International, Intel เพื่อพัฒนาโซลูชันระยะยาว ให้การประมวลผล FHE มีความเร็วใกล้เคียงกับ plaintext ในปัจจุบัน
บริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดย่อมเป็นอินเทล ที่ดึงไมโครซอฟท์เข้ามาเป็นพันธมิตรด้านคลาวด์ ทดสอบโซลูชันนี้บน Azure ด้วย โดยทีมนักวิจัยของอินเทลจะพัฒนาชิปเฉพาะทาง ASIC ขึ้นมาใช้แทนซีพียูปกติ ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่องานแบบ FHE
DARPA ไม่ได้ระบุระยะเวลาของโครงการ DPRIVE แต่ข้อมูลของอินเทลบอกว่าเป็นโครงการนานหลายปี (multiyear) และแบ่งงานออกเป็นหลายเฟส