KBTG เปิดตัว Tech Kampus ร่วมพัฒนาหลักสูตรในมหาวิทยาลัย เตรียมความพร้อม นศ. สู่ตลาดจริง

by advertorial
5 April 2021 - 07:26

หนึ่งในปัญหาใหญ่ของวงการไอทีคือ ขาดแคลนบุคลากร นักพัฒนาซอฟต์แวร์, วิศวกร, คนทำ AI, คนทำงานด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ล้วนแล้วแต่เป็นตำแหน่งที่ตลาดงานต้องการสูง แต่การเตรียมความพร้อมบุคลากรยังไม่สามารถป้อนตลาดงานได้ทัน

KBTG บริษัทเทคโนโลยีในเครือธนาคารกสิกรไทยเห็นปัญหานี้ ได้เปิดตัวโครงการ Tech Kampus เพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย สร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่เปี่ยมศักยภาพ โดย KBTG จะเข้าไปร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาหลักสูตร ยกระดับคุณภาพการศึกษาในสาขา Data Science และ Artificial Intelligence (AI) รวมทั้งต่อยอดและผลิตงานวิจัยใหม่ๆ ทางด้านเทคโนโลยี

ในโครงการ Tech Kampus นั้น KBTG ร่วมมือกับ 2 องค์การภาครัฐ คือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT)

ด้าน 7 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากร่วมพัฒนาหลักสูตรแล้ว KBTG ยังเปิดรับนิสิตนักศึกษาเข้ามาเรียนรู้และเข้ามาฝึกงานกับทาง KBTG วิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ และเตรียมความพร้อมสู่โลกทำงาน เพื่อทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานด้านไอทีมาใช้งานจริง

เมื่อการร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและเอกชน คือสิ่งจำเป็น

ในงานเปิดตัวโครงการ Tech Kampus มีเสวนาจากคณาจารย์ เรื่องความสำคัญของการจัดทำหลักสูตรการศึกษาด้าน Data Science/AI ระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยและพูดถึงภาพรวมความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ได้มุมมองที่น่าสนใจ ดังนี้

ดร. อักฤทธิ์ สังข์เพชร ผู้อำนวยการหลักสูตรคาร์เนกีเมลลอน มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) บอกว่าที่ผ่านมา ทางสถาบันดำเนินการเรียนการสอนด้วยการร่วมมือกับเอกชนเสมอ เพื่อให้นักศึกษาได้มีที่ปล่อยของ หนึ่งในหลักสูตรที่พัฒนาคือ Computer Engineering นำผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศมาตีโจทย์และแก้ไขปัญหาประเทศด้วยกัน ซึ่งทางสถาบันจะขยายหลักสูตรนี้ไปยังปริญญาตรีด้วย

ผศ.ดร. รัชฎา คงคะจันทร์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้แง่คิดว่า อาจารย์ผู้สอน มีความพยายามตั้งใจสอนอย่างดีที่สุด เปรียบเหมือนช่างตัดเสื้อที่พยายามตัดให้เนี้ยบที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน คนตัดเสื้อก็ต้องดูเทรนด์แฟชั่นในขณะนั้น การมีเอกชนเข้ามาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจะช่วยให้เรารู้ว่าเทรนด์เป็นอย่างไรบ้าง

อ.สมโชค เรืองอิทธินันท์ รองหัวหน้าภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และประธานหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยอมรับว่า อนาคต มหาวิทยาลัยไม่พ้นต้องปรับตัว ซึ่งภาคเอกชนเขาปรับตัวอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ทางมหาวิทยาลัยต้องผลักดันนโยบายร่วมมือกับเอกชนอย่างจริงจัง การ reskill ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ควรนำมาพิจารณา เนื่องจากหลักสูตรเก่าๆ หลักสิบปีไม่ตอบโจทย์ตลาดงานปัจจุบันแล้ว คนที่เรียนจบไปนานควรกลับมาพึ่งมหาวิทยาลัยได้เมื่อต้องการ reskill ใหม่

ผศ.ดร. ฆนัท ตั้งวงศ์ศานต์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า การร่วมมือกับเอกชนช่วยให้นักศึกษารู้ตัวได้เร็วขึ้นว่าตัวเองอยากทำอะไร และคณาจารย์จะได้มีโอกาสทำงานวิจัยที่ออกไปใช้งานจริงได้มากขึ้น

ศ.ดร. ธนารักษณ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย บอกว่า แต่ละสถาบันการศึกษามีแนวโน้มปรับตัวอยู่แล้ว การที่ KBTG เข้ามาร่วมมือตรงๆ จะกลายเป็นโครงการนำร่องและนโยบายนี้จะสามารถขยายไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ต่อไป

สรุป

เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน KBTG ระบุว่า เป้าหมายระยะยาวของธนาคารกสิกรไทยคือ One of the World Digital Bank ซึ่งทางธนาคารไม่สามารถไปได้ด้วยตัวคนเดียวได้ เราต้องร่วมกับหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา เพื่อขอแรงมาช่วยให้บริษัทขับเคลื่อนต่อไปได้

Tech Kampus ถือเป็นอีกก้าวสำคัญ และไม่ได้มีมีเป้าหมายเพียงหาบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญกับการศึกษาและเศรษฐกิจของประเทศ ที่อนาคต นักศึกษาจะได้เรียนรู้ทักษะเทคโนโลยีที่เอาไปใช้งานจริง ตรงกับเทรนด์โลกได้จริงเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน และที่สำคัญคือ สามารถอยู่รอดได้ในภาวะ disruption

หากสถาบันใดสนใจเข้าร่วมโครงการ KBTG Tech Kampus สามารถติดต่อได้ที่ kbtgtechkampus@kbgt.tech

Blognone Jobs Premium