เรารู้กันดีว่าไต้หวันเป็นศูนย์กลางการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก (งานประชุมประจำปีของอินเทลยังต้องไปจัดที่ไต้หวันเลย) อย่างไรก็ตาม การผลิตส่วนมากเป็น OEM คือแปะตราแบรนด์อื่น ซึ่งผู้ผลิตชาวไต้หวันก็พบปัญหาว่าโดนกดราคาจากนายจ้างอย่าง HP, Dell และแอปเปิล
รัฐบาลไต้หวันจึงกระตุ้นให้บริษัทไต้หวันพยายามสร้างแบรนด์เองมากขึ้น ฝ่าย Acer ที่ประสบปัญหาเดียวกันนี้ (จากการเป็นทั้งผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์) จึงได้แยกบริษัท Wistron ออกมาในปี 2000 เพื่อทำหน้าที่ผลิตเพียงอย่างเดียว เกือบสิบปีให้หลัง กลยุทธ์ของ Acer ประสบความสำเร็จ Acer กลายเป็นบริษัทพีซีที่ขายดีในยุโรป ส่วนในสหรัฐ Acer ก็เติบใหญ่ กว้านซื้อกิจการบริษัทพีซีขนาดกลางอย่าง eMachine, Gateway รวมถึง Packard Bell (ในยุโรป) และก้าวขึ้นหายใจรดต้นคอ Dell ในการแย่งเป็นผู้ผลิตพีซีอันดับสองของโลกแล้ว (อันดับหนึ่งยังเป็น HP)
Gianfranco Lanci ซีอีโอชาวอิตาลีของ Acer เปิดเผยเคล็ดลับว่า Acer เลือกใช้ช่องทางจำหน่ายพีซีแบบขายปลีกผ่านตัวแทนจำหน่าย และหลีกเลี่ยงช่องทางขายตรงแบบที่ Dell ใช้เป็นช่องทางหลัก ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าในการขายปลีกให้กับผู้ใช้ทั่วไป ไม่ใช่ตลาดองค์กร เมื่อตลาดพีซีในองค์กรเริ่มเต็มและตลาดผู้ใช้ตามบ้านขยายตัวจนใหญ่กว่าตลาดองค์กร ผลก็คือ Acer รับเละ (นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านต้นทุนของ Acer ที่ต่ำกว่า Dell มากมาประกอบด้วย)
ปัจจุบัน Acer มีส่วนแบ่งในสหรัฐ 11.6% ส่วน Dell มี 13.6% เป้าหมายต่อไปของ Acer คือโค่น HP ในสหรัฐ และ Lenovo ในจีนให้ได้
ที่มา - The New York Times (ต้องลงทะเบียนถึงจะอ่านได้)