หลังเปิดงาน SCB 10X Bangkok Blockathon 2021 ไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ช่วงสุดสัปดาห์วันที่ 27-28 มีนาคม 2021 ที่ผ่านมา ก็เป็นวันแข่งจริง ที่ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 12 ทีมมาประชัน Hackathon กันอย่างดุเดือดตลอดเวลา 30 ชั่วโมง ที่สำนักงานของ SCB 10X ตึก FYI Center คลองเตย
ช่วงเช้าวันที่ 27 ก่อนเริ่มการแข่งขัน ผู้เข้ารอบทั้ง 12 ทีมได้รับข่าวเซอไพรส์จากทีมผู้จัดงาน ว่าจะมีทีมจาก SCB 10X มาร่วมแข่งด้วยอีกทีมในนาม “ฟาร์มซิ่ง” แต่ทีมนี้จะไม่ได้มาแย่งรางวัลแต่อย่างใด เพียงแต่เข้ามาร่วมสนุก พบปะกับเหล่านักพัฒนาดาวรุ่งรุ่นใหม่ด้วยเท่านั้น
หลังจากนั้นมีช่วง Ice Breaking ให้ทีมนักพัฒนาได้ทำความรู้จักและพูดคุยกันอีกเล็กน้อย ต่อด้วย คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder ของ SCB 10X มาพูดเปิดงาน เล่าถึงที่มาที่ไป รวมถึงวิศัยทัศน์ของ SCB 10X ในการก้าวไปในอนาคตของธุรกิจด้วยเทคโนโลยี
ตามมาด้วยเซสชั่นพิเศษจากคุณสถาพน พัฒนะคูหา ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง SmartContract Blockchain Studio บริษัทพัฒนาระบบบล็อกเชนชั้นนำของไทย ที่มาแนะนำ Do & Don’t ของการทำโซลูชั่นของระบบบล็อกเชนต่างๆ พร้อมชวนนักพัฒนาหน้าใหม่ร่วมพูดคุยถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขในบรรยากาศสบายๆ ยามเช้า ก่อนจะแนะนำเทคนิคต่างๆ ในการพัฒนาโปรดักต์บล็อกเชน และอวยพรผู้เข้าแข่งขัน
อีกท่านหนึ่งที่มาร่วมให้ความรู้ในยามเช้าคือคุณทชา ปัญญาเนรมิตดี ผู้ร่วมก่อตั้งและโปรเจกต์ลีดแห่ง Alpha Finance Lab ผู้ให้บริการทางการเงินแบบไร้ตัวกลาง (DeFi) มากล่าวถึงภาพรวมของวงการ DeFi รวมถึงการพัฒนา Alpha ที่จะเป็น DeFi Suite หรือแพลตฟอร์มรวมโซลูชั่น DeFi ต่างๆ เช่น Alpha Homora แพลตฟอร์มให้บริการกู้ยืมแบบ Leverage ผ่านสกุลเงินคริปโต เพื่อความเป็นไปได้ในการทำกำไรที่มากขึ้นผ่านยิลด์ฟาร์มมิ่งบน Uniswap หรือ Sushi Swap
รวมถึงโปรเจกต์ใหม่อย่าง Alpha X ที่เป็นโปรโตคอลซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตตลอดเวลาแบบไม่มี orderbook (non-orderbook perpetual swap) เหมือนกับ DerivaDAO, Perpetual Protocol และ Injective Protocol และโปรเจกต์ลับอย่าง Alpha Asguardian ที่พยายามเข้ามาแก้ปัญหา IL (Impermanent Loss) ของโทเค็น LP
บรรยายจบแล้ว ทีมผู้จัดเริ่มให้ข้อมูลเกณฑ์การตัดสิน แบ่งเป็นคะแนนด้านเทคนิค และความสมบูรณ์ของ Stack 40% ความเป็นไปได้ในการนำไปใช้จริง 30% ความแปลกใหม่ 20% และคะแนนการนำเสนออีก 10%
ในรอบ Pitching ผู้เข้าแข่งขันจะต้องนำเสนอแนวคิด นำส่งเดโม และ System Architecture โดยมีเวลานำเสนอ 7 นาที รวมกับเวลาถามตอบจากกรรมการอีก 8 นาที เป็นทีมละ 15 นาที
หลังจากนั้นก็เริ่มการแข่งขัน แต่ละทีมแยกย้ายกันไปจองที่นั่ง และเริ่มลงมือโค้ด โดยมีช่วงเช็คอินในตอนเย็น ตามมาด้วยเมนเทอริ่งเซสชั่น ให้ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมคอมเมนต์ แนะนำ และให้คำปรึกษาแต่ละทีมในด้านการทำงานต่างๆ ของโปรดักต์ที่เชื่อมโยงกับโลกการเงินและระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง
ทีมผู้เชี่ยวชาญหรือ Mentors ประกอบไปด้วยบุคคลากรชั้นนำของวงการเทคโนโลยีบล็อกเชนและการเงิน 6 ท่าน คือ
ผ่านพ้นการลงมือโค้ดข้ามวันข้ามคืนอย่างสมชื่อ Hackathon ในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม เป็นช่วงที่ทุกทีมต้องส่งผลงาน และนำเสนอผลงานของตัวเองทีมละ 15 นาที ซึ่งเป็นไปอย่างสนุกสนานระหว่างผู้นำเสนอและกรรมการ มีทั้งการถามตอบ ชี้จุดเด่นจุดด้อยของผลงาน
กรรมการทั้ง 5 ท่านประกอบด้วย
หลังจากการพิทชิ่งอย่างเมามันจนถึงช่วงเย็น และการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เราก็ได้ผู้ชนะของงาน SCB 10X Bangkok Blockathon 2021 คือทีม KillSwitch กับโปรดักต์ที่ช่วยให้นักลงทุนยิลด์ฟาร์มมิ่ง สามารถถอน Liquidity Position ออกจาก Farm และขายเหรียญได้ทันที ในกรณีที่ราคาของเหรียญตกลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการคลิกแค่ครั้งเดียว หมดปัญหาเรื่องการถอนเงินไม่ทันตอนราคาตก อีกทั้งยังลดจำนวนครั้งของการทำธุรกรรมจาก 3 ครั้งบน 3 แพลตฟอร์ม ให้เหลือครั้งเดียว เสียค่าธรรมเนียมครั้งเดียวอีกด้วย
ทีม Kill Switch ได้รับเงินรางวัลเป็นสกุลเงินคริปโตบิตคอยน์ไป 0.1 BTC (มูลค่าราว 1.8 แสนบาท)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง คือทีม TrustPass เจ้าของไอเดียแพลตฟอร์มยืนยันตัวตน ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการเช็คอิน และการติดตามผู้เข้าร่วมงานอีเว้นท์หรือสถานที่ท่องเที่ยวในยุค COVID-19 ที่จะรวบรวม cryptocurrency ของผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานอีเว้นท์ไปฝากในกองทุน (Stake) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมา verify โดยใช้ระบบ Smart Contract
หากมีผู้เข้าร่วมงานอีเวนต์ติดโควิด หรือเกิด Super Spreader เงินส่วนนี้จะถูกนำมาให้กระทรวงสาธารณสุขใช้สำหรับตรวจ ติดตาม และรักษาผู้ที่ได้รับเชื้อจากการเข้าร่วมงานอีเว้นท์หรือสถานที่นั้น และหากภายในระยะเวลาที่กำหนดไม่มีผู้ติดเชื้อ เงินในกองทุน (Stake) ก็จะถูกส่งคืนให้ผู้จัดงานและผู้ลงเงิน ถือเป็นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนและ Smart Contract มาปรับใช้ได้เข้ากับสถานการณ์วิกฤตโลก
ทีม TrustPass ได้รับเงินรางวัลเป็นสกุลเงิน Ethereum ไป 2 ETH (มูลค่าราว 1.2 แสนบาท)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ทีม Estate-Onblock เจ้าของไอเดียแพลตฟอร์มแปลงการลงทุนเป็น NFT (Non Fungible Token) หรือโทเค็นที่มีลักษณะเฉพาะตัว เพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์และความเป็นเจ้าของบางอย่าง
Estate-Onblock เสนอไอเดียการทำที่ดินเสมือนบนบล็อกเชน และสามารถต่อยอดเป็น NFT แบบพิเศษ เช่น ลงทุนที่ดินประเทศไทยแล้วได้วัดแบบเสมือนมาตกแต่ง หรือลงทุนในที่ดินญี่ปุ่น แล้วได้ปราสาทโอซาก้าแบบเสมือน แล้วเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้อื่นเข้าชม NFT Gallery ของตนเองได้อีกด้วย
หลังจากนั้นก็เป็นการฉลองถ่ายรูปรวม และมีปาร์ตี้ก่อนปิดงาน เพื่อให้เหล่านักพัฒนาได้ทำความรู้จักและพูดคุยเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดเทคโนโลยีในอนาคต ถือได้ว่า SCB 10X Bangkok Blockathon 2021 เป็นงานที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน และเป็นตัวเริ่มต้นจุดประกายไอเดียบล็อกเชน และเทคโนโลยีการเงินแบบไร้ตัวกลาง (DeFi) ที่จะสร้างชุมชนนักพัฒนาบล็อกเชนที่เข้มแข็งในประเทศได้ในอนาคต