รู้จักกับ MusicBrainz เมื่อนำ Shazam มารวมกับ Free Online Music Database

by Nozomi
22 April 2021 - 05:34

เนื่องจากเพิ่งมีเวลาสะสางไฟล์เพลงที่มีเก็บไว้แล้วพบว่ามีเพลงจำนวนมากที่ไม่มี metadata ทำให้ไม่รู้ว่าเพลงอะไร ในยุคนี้เราไม่ต้องเปิดเพลงฟัง แล้วจับเนื้อร้อง เพื่อเอาไปค้นหาด้วย Google อีกแล้ว เราสามารถใช้ Shazam เพื่อหาว่าเพลงที่เปิดอยู่คือเพลงอะไรได้โดยง่ายแล้วไปแก้ไขข้อมูลด้วยมือ หนึ่งถึงสองเพลงแรกยังสนุกอยู่ แต่ปรากฏว่ามีนับร้อยเพลงที่ไม่มี metadata ก็ไม่ไหวแล้ว ถึงได้พยายามหาวิธีที่ดีกว่านี้ แล้วคำตอบคือ MusicBrainz ครับ

MusicBrainz เป็นโปรเจค ที่สร้างฐานข้อมูลเพลงออนไลน์โดยอาศัยชุมชนเป็นผู้เพิ่มข้อมูลและใครๆ ก็ใช้ได้ ซึ่งเป็นแนวทางแบบเดียวกับ Freedb ที่เป็นฐานข้อมูลออนไลน์ของแผ่นซีดี นอกจากจะเป็นฐานข้อมูลออนไลน์แล้ว MusicBrainz ยังมีฐานข้อมูลของ acoustic fingerprint ซึ่งช่วยในการค้นหาเพลงโดยไม่ต้องอาศัย metadata ได้อีกทาง

ณ ปัจจุบัน MusicBrainz มีข้อมูลเพลงอยู่ 28 ล้านเพลง เป็นฐานข้อมูลเพลงออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 รองจาก Discogs (151 ล้าน), Gracenote (100 ล้าน), ACRCloud (40 ล้าน) แต่นับเป็น ฐานข้อมูลฟรีของ acoustic fingerprint ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน

แอปยอดนิยมที่ใช้แก้ไข metadata สามารถดึงข้อมูลจาก MusicBrainz ได้โดยตรง เช่น mp3tag / Foobar2000 แต่การค้นหาจาก acoustic fingerprint ต้องใช้ผ่านแอปเฉพาะที่ชื่อ MusicBrainz Picard เท่านั้น ซึ่งตอนนี้มีครอบคลุม platform ใหญ่ทั้งหมด ทั้ง Windows / macOS / Linux / Android ส่วนวิธีการใช้งานสามารถหาได้ตาม YouTube ครับ

ส่วนใครเจอปัญหาว่าหาเพลงด้วย acoustic fingerprint ไม่เจอ ก็สามารถที่เพิ่มเข้าไปได้ผ่าน Picard เช่นกัน จากประสบการณ์ใช้งานจริง พบว่าเพลงที่ค่อนข้างใหม่จะหาได้จาก acoustic fingerprint เกือบทั้งหมด ส่วนเพลงที่เก่าหน่อย เช่นก่อนปี 2000 มักไม่ไม่มีใครให้ข้อมูล acoustic fingerprint ไว้ครับ แต่มีข้อมูล metadata ไว้ครบถ้วนทีเดียว ผมจึงได้เพิ่มเติมเข้าไปแล้ว

นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่น่าสนใจ และเปิดให้เข้าถึงได้ เช่น

  • MusicBrainz ยังมีฐานข้อมูลภาพหน้าปก CD / Media Cover Art แยกออกมาในชื่อ Cover Art Archive ซึ่งเปิด API ให้ใครๆ ก็ใช้งานได้ Amazon ก็ใช้งานระบบนี้เช่นกัน
  • เทคโนโลยีในการทำ acoustic fingerprint ของ MusicBrainz มีชื่อเรียกว่า Chromaprint รายละเอียดสามารถอ่านได้ในบล็อกของ Lukáš Lalinský ซึ่งเป็นหนึ่งใน Contributor ของชุมชน MusicBrainz
  • ฝั่ง Server เขียนด้วย Perl ร่วมกับฐานข้อมูล PostgreSQL ส่วนข้อมูลในฐานข้อมูลจะมี snapshot ออกมาให้ทุก 2 สัปดาห์ ทุกอย่างเป็น Open source พร้อม document อย่างละเอียด
  • ฝั่ง Picard เองก็เป็น Open source เขียน Python

แม้ว่าปัจจุบัน ตอนนี้ Online music streaming จะมาแรง แต่การเก็บเพลงที่ตัวเองชอบฟังไว้ก็ยังเป็นหนึ่งในแนวทางที่ยังมีคนนิยมทำกันอยู่ ก็หวังว่า MusicBrainz จะตอบโจทย์ผู้ใช้กลุ่มนี้นะครับ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ MusicBrainz

Blognone Jobs Premium