เราเห็นข่าวบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ทำดีลซื้อกิจการบริษัทอื่นกันอยู่เรื่อย ๆ แต่ในบรรดาบริษัทใหญ่เหล่านั้น แอปเปิลกลับมีรูปแบบการซื้อกิจการที่แตกต่างจากคนอื่น ซีอีโอ Tim Cook ได้เปิดเผยในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี ว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา แอปเปิลซื้อกิจการบริษัทอื่นไปแล้วเกือบ 100 แห่ง เฉลี่ยแล้วทุก 3-4 สัปดาห์ (ข่าวเก่า)
CNBC ได้สัมภาษณ์พนักงานในบริษัทที่แอปเปิลซื้อกิจการไปหลายคน พบว่ากลยุทธ์ของแอปเปิลเวลาซื้อกิจการคือเน้นซื้อตัวทีมงานวิศวกรให้เข้ามาเป็นพนักงานแอปเปิล มากกว่าสนใจการซื้อตัวกิจการบริษัทและสินค้า (acquihire) แอปเปิลจึงนิยมซื้อสตาร์ทอัพขนาดเล็กมากกว่า มีข้อมูลว่าวิธีประเมินมูลค่าเวลาซื้อกิจการ แอปเปิลใช้วิธีนับจำนวนพนักงานสายเทคนิคคูณด้วยตัวเลขหนึ่งออกมา และไม่มีการให้มูลค่าจากแบรนด์ หรือฐานลูกค้าเดิม
วิธีการซื้อกิจการของแอปเปิล มักเริ่มต้นจากฝ่ายพัฒนาภายในพบปัญหาอุปสรรคใดอยู่ ก็จะส่งเรื่องให้แผนกเจรจาซื้อกิจการ ไปค้นหาบริษัทที่มีทีมงานซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องดังกล่าว และซื้อกิจการเพื่อให้ได้ทีมงานเข้ามาในบริษัท ตัวอย่างเช่นดีล AuthenTec ในปี 2012 ที่พัฒนาเป็นตัวสแกน Touch ID หรือในปี 2010 แอปเปิลซื้อ Siri Assistant ที่มาเป็น Siri ตั้งแต่ iPhone 4S โดยช่วงหลังหัวข้อที่แอปเปิลซื้อกิจการเข้ามาตลอดคือ AR, VR, AI, ระบบแผนที่, ระบบสุขภาพ และเซมิคอนดักเตอร์ ตัวอย่างเช่น Akonia, NextVR, Xnor․ai, Voysis หรือ PullString
เมื่อเป็นแอปเปิลที่นิยมทำทุกอย่างให้เป็นความลับ การซื้อกิจการก็มีแนวทางแบบนี้เช่นกัน โดยข้อกำหนดหนึ่งที่แอปเปิลระบุให้พนักงานบริษัทที่ถูกซื้อกิจการทำ คือห้ามอัพเดตข้อมูลใน LinkedIn ว่าตอนนี้ย้ายมาทำงานให้แอปเปิล และหากมีข่าวหลุดออกไป พนักงานทุกคนก็ห้ามตอบคำถามนี้ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัว
อีกข้อกำหนดที่แอปเปิลระบุไว้ เนื่องจากบริษัทต้องการตัวพนักงาน ฉะนั้นพนักงานบริษัทเดิมจึงห้ามลาออกจากแอปเปิลในเวลาที่กำหนด ซึ่งแอปเปิลก็ให้หุ้นบริษัทแบบที่ทยอยขายได้ในช่วงเวลาที่กำหนดเป็นสิ่งจูงใจ
อย่างไรก็ตามหากย้อนดูดีลในอดีตของแอปเปิล ก็มีดีลขนาดใหญ่อยู่เช่นกัน อาทิ การซื้อธุรกิจชิปโมเด็มจาก Intel มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือ Beats มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์
ที่มา: CNBC