ไลฟ์สไตล์คอมพิวติ้ง เมื่อโลกสวยด้วยคอมพิวเตอร์

by putchonguth
6 July 2009 - 07:20

วันนี้เป็นวันหยุด ผมเองมีโอกาสไปเดินชื่นชมข้าวของสวยสวยงามๆ ที่ฟอร์จูนทาวน์เช่นเคย สังเกตไหมครับว่าเดี๋ยวนี้ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เครื่องพิมพ์ โดยเฉพาะเน็ตบุ๊กและโน๊ตบุ๊กนั้นเริ่มออกแบบมาให้เน้นรูปลักษณ์และสไตล์ที่ใหม่และก้าวหน้ามากขึ้น แนวโน้มเหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคม เทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมด้านไอที ที่จะมีบทบาทในอีกหลายปีข้างหน้า วันนี้เรามาลองดูกันว่าแนวโน้มพวกนี้ที่เรียกว่า ไลฟ์สไตล์คอมพิวติ้ง (lifestyle computing) คืออะไร มีแนวโน้มไปทางไหนกันบ้าง

เมื่อก่อนบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแข่งกันเพื่อให้ได้คอมพิวเตอร์ที่มีราคาเท่าเดิมแต่ประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อยๆ สมัยนั้นดูง่ายๆ ที่ความเร็วสัญญาณนาฬิกา ใครได้ความถี่สูงกว่าก็เร็วกว่า เริ่มแข่งกันจาก 33MHz, 66 MHz, 133MHz, 200MHz, 300MHz ขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าใครจำตอนที่ AMD Athlon ทะลุ 1 GHz ได้นั้นรู้สึกยิ่งใหญ่มาก เหมือนมีคนขับเครื่องบินไอพ่นทะลุกำแพงเสียงอย่างไรอย่างนั้น

ต่อมาเราเจอกำแพงความร้อนและกำแพงความซับซ้อนของการออกแบบ ทำให้เราติดอยู่ราว 3-4 GHz กันมานานหลายปี แนวทางการพัฒนาก็เลยเปลี่ยนไปทุ่มเทที่การประมวลผลแบบขนาน โดยแบ่งตัวหน่วยประมวลผล (ซีพียู) ออกเป็นหลายๆ ชุด โดยเรียกแต่ละชุดว่า คอร์ (core) ทำให้โลกเกิดระบบมัลติคอร์ (multicore) ใช้งาน ฟังดูเหมือนจะดีแต่แท้จริงแล้วระบบแบบมัลติคอร์เป็นการผลักภาระในการเร่งประสิทธิภาพไปให้ซอฟต์แวร์ ตัวแปลภาษา ระบบปฏิบัติการแทนฮาร์ดแวร์ การใช้ความสามารถของคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ เหล่านี้ให้เต็มที่ต้องอาศัยการปรับแต่งซอฟต์แวร์อีกมาก ดังนั้นถ้าต้องการเห็นคอมพิวเตอร์ในสมัยนี้เร็วเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเหมือนสมัยเพิ่มสัญญาณนาฬิกาคงเป็นไปได้ยาก

ด้วยสภาพแวดล้อมที่กล่าวมาแล้ว เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้สามประการ

  • ประการแรก เมื่อคอมพิวเตอร์ไม่ช่วยให้ซอฟต์แวร์เร็วขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงมาใช้ทำงานเป็นเครื่องแบบตั้งโต๊ะและโน๊ตบุ๊กโดยทั่วไปจะลดลง เว้นแต่ระบบเซิฟเวอร์ที่ต้องการรองรับผู้ใช้มากขึ้นทุกขณะ ระบบที่ทำงานด้านกราฟิกแอนิเมชั่น กับเครื่องที่เล่นเกมส์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คนส่วนใหญ่จะร่ำร้องได้เครื่องราคาถูกลงที่สมรรถนะคงเดิม ที่เราเห็นราคาเครื่องทั้งระบบถูกลงเรื่อยๆ เป็นเพราะส่วนประมวลผลหลัก (ซีพียู เมนบอร์ด แรม การ์ดจอ) ลดลง แม้ว่าอุปกรณ์บางส่วนเช่น จอภาพและฮาร์ดดิสก์จะค่อนข้างคงที่ก็ตาม

  • ประการที่สอง ผู้ใช้จะต้องการความสามารถในการเคลื่อนที่ (mobility) มากขึ้น เนื่องจากเครือข่ายบรอดแบนด์ไร้สาย เช่น Wi-Fi, GPRS, 3G แพร่กระจายไปมากในราคาที่ยอมรับได้ ดังนั้นคอมพิวเตอร์แบบใหม่อย่างเน็ตบุ๊คจึงเติบโตสูงมาก และการแข่งขันจะย้ายไปตัดสินกันที่น้ำหนัก การประหยัดพลังงาน และแบตเตอรี่ที่ทนนาน ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วสเปกที่แข่งขันได้คือ หน้าจอ 10.6 -11.6, แบตเตอรี่ที่ชาร์จแล้วทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงแบบมือถือ และการใช้เทคโนโลยีจอภาพที่กินพลังงานน้อยกว่านี้ (เช่น [e-ink](http://www.eink.com/technology/howitworks.html “e-ink”) ในเครื่อง Kindle ของ Amazon อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีนี้อาจไม่เหมาะกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานเท่าไรนัก เนื่องจากแสดงผลบนหน้าจอได้ช้า แต่ความสามารถคงการแสดงผลไว้โดยไม่ใช้พลังงานคล้ายกระดาษทำให้เหมาะกับการเป็น e-book มากเนื่องจากเบาและกินไฟต่ำมากๆ)

  • ประการที่สาม และเป็นเรื่องที่เราจะมาคุยกันในบทความนี้ คือการมาถึงของไลฟ์สไตล์คอมพิวติ้ง ซึ่งเป็นการปรับคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบให้เป็นเครื่องประดับที่เข้ากับลักษณะการใช้ชีวิตนั่นเอง ผู้บุกเบิกในด้านนี้คือบริษัทแอปเปิล เนื่องจากตลาดของเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น 80-90% ถูกพีซียึดไปหมดแล้ว แมคจึงต้องสร้างความแตกต่าง เพื่อให้ได้กำไรในยอดขายที่น้อยกว่ามาก คำตอบคือการสร้างคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ในลักษณะที่เป็นเครื่องประดับบอกรสนิยม เป็นสินค้าที่สวยงาม ราคาแพง เทคโนโลยีดี และสร้างสภาพแวดล้อมรายรอบและทำให้กลุ่มผู้ใช้ติด กลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ ซึ่งแอปเปิลได้ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม และขยายไปสร้างอาณาจักรไอพ็อดและไอโฟนต่อ

อันที่จริงอุตสาหกรรมพีซีคงจะไม่เคลื่อนเข้าหาไลฟ์สไตล์คอมพิวติ้งเร็วขนาดนี้ ถ้าหากว่าเราสามารถทำให้คอมพิวเตอร์เร็วขึ้นเรื่อยๆ เราคงจะเห็นแต่เครื่อง "อ้วน ล่ำ ดำ แต่ดี" อย่าง Lenovo ThinkPad ไปอีกนาน แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมทั้งหมดต้องปรับตัวตามไปด้วย การเคลื่อนตัวในลักษณะนี้เกิดมาแล้วกับอุตสาหกรรมรถยนต์และโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ใช้เวลาราว 50 ปี จนถึงช่วง 1940-1950 เทคโนโลยีหลักๆ ในการทำรถยนต์ก็เริ่มอยู่ตัว ทำให้รถยนต์แต่ละรุ่นหันมาเน้นความสวยงาม อุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ หวือหวาและเปลี่ยนตามไลฟ์สไตล์แต่ละยุคสมัย ส่วนมือถือนั้นสเปกทางฮาร์ดแวร์ก็คงเดิมมาหลายปี การเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งสุดท้ายคือการที่แอปเปิลที่เอาตัวจับการเคลื่อนไหวใส่มาเพิ่มใน iPhone ณ วันนี้มือถือเลยมาแข่งกันที่ไลฟ์สไตล์คอมพิวติ้ง คือ ใครทำส่วนติดต่อกับผู้ใช้สวยใช้ง่าย แข่งการออกแบบเครื่องสวยๆ มาแข่งกัน เพราะการแข่งที่สเปกทางฮาร์ดแวร์ที่แตกต่างทำได้น้อยลงมาก

ดังนั้นหากเราจะดูแนวโน้มในอนาคต สินค้าคอมพิวเตอร์จะเน้นไปที่รูปลักษณ์มากขึ้น เน้นหุ่นเพรียวบาง หลายแบรนด์ก็ต้องลดน้ำหนักของตัวเครื่องลง ใช้แบตเตอรี่ที่ทนทานมากขึ้น และมีราคาที่ถูกลงตามมา อาจมีบางยี่ห้อทำของแพง สวย เร็วไปเลย แต่ส่วนใหญ่คงไม่เน้นเร็วมาก เพื่อให้ซื้อสองเครื่องกันไงครับ คือ เครื่องตั้งโต๊ะแบบเร็วๆ จอใหญ่ๆ กับโน๊ตบุ๊กไว้ถือเดินไปมา ช่วงนี้เราจะเห็นว่าอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์กับเครื่องพิมพ์จะถูกออกแบบมาให้กลายเป็นเครื่องประดับในสำนักงานมากขึ้น อาจมีคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาให้เปลี่ยนกรอบเล่นได้แบบโทรศัพท์โนเกียบ้าง ก็ได้ตามกระแส Personalization/De-massification of Products and Services ที่เป็นกระแสหลักของโลกาภิวัฒน์ในตอนนี้ (ใครอยากรู้เพิ่มลองอ่านหนังสือเรื่อง ความมั่งคั่งปฏิวัติ ของ Alvin and Heidi Toffler ครับ)

ในเรื่องนี้ ประเทศไทยเราน่าจะเป็นผู้เล่นได้ดีในเกมส์ของไลฟ์สไตล์คอมพิวติ้งครับ เนื่องจากการสร้างผลิตภัณฑ์ไม่ได้ทำในประเทศเดียวแต่อาศัยการบริหาร supply chain เทคโนโลยีถูกคิดในสหรัฐอเมริกา ฐานการผลิตอยู่ในจีนและไต้หวัน ซอฟต์แวร์พัฒนาที่อินเดีย ใครก็ได้ในโลกที่ไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีสูงสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้ถ้า

  1. มีความสามารถวิเคราะห์ความต้องการ เป็นผู้หาโจทย์ หาความต้องการที่มีตลาดขนาดใหญ่หนุนหลังได้
  2. เป้นผู้ควบคุมการออกแบบและบริหารจัดการการผลิต ต่อเชื่อมโยงผู้ผลิตเข้าหาตลาดและลูกค้า
  3. มีศักยภาพในการผลักดันสร้างแบรนด์ระดับโลกออกไปได้

ประเทศไทยเรามีอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ แฟชั่น และสปา หรือที่เราอาจมองรวมๆ ว่าเป็น "อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์" อยู่แล้ว ทำให้ฐานการผลิตและออกแบบที่สร้างสรรค์ ไหนๆ รัฐบาลก็หนุนเรื่อง Creative Economy กันเต็มที่แล้ว ผมว่าน่าจะลองคิดส่งเสริมด้านนี้บ้างว่าจะทำได้อย่างไร ในอนาคตผมอยากไปงาน OTOP หรือเมดอินไทยแลนด์แล้วเห็นเราทำเครื่องคอมพิวเตอร์สวยๆ แบบ Sony Vaio หรือ Toshiba มาใช้บ้าง หรือทำแค่ เครื่องที่ติดเปลือกได้แบบโทรศัพท์โนเกียเล่นบ้างก็ไม่เลวนะครับ โลกจะได้สวยด้วยคอมพิวเตอร์กันไงครับ

Blognone Jobs Premium