Red Hat ประกาศชูแนวทาง Open Hybrid Cloud แนวทางที่เปิดทางให้องค์กรสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่โหลดงานเพิ่มขึ้นอย่างเกินการคาดเดาได้ในงาน Red Hat Summit 2021
Matt Hicks ประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี Red Hat ชี้ว่าปี 2020 นับเป็นปีที่องค์กรต่างๆ พบความเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก และพบความท้าทายอย่างมากไม่ว่าจะวางแผนไว้ดีเพียงใด ย้ำให้เห็นความสำคัญของแนวทาง open hybrid cloud ที่ Red Hat พยายามนำเสนอตลอดมา โดยแนวทางนี้เปิดทางให้องค์กรวางแผนถึงความเปลี่ยนแปลงระยะยาว ในขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในเพื่อรองรับความจำเป็นระยะสั้นได้ทันท่วงที
Matt ระบุว่าลูกค้าของ Red Hat พบว่าองค์กรไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างไอทีใหม่เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของตลาดได้ทัน แนวทางการใช้ open hybrid cloud เปิดทางให้องค์กรใช้ทรัพยากรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรในธุรกิจลอจิสติกส์, ภาคการผลิต, หรือบริการสุขภาพ
แนวทาง open hybrid cloud ของ Red Hat อาศัยสินค้า 3 ตัวสำคัญเป็นแพลตฟอร์มพื้นฐาน ได้แก่ Red Hat Enterprise Linux (RHEL), OpenShift, และ Ansible โดยในงาน Red Hat Summit ปีนี้ก็มีการประกาศบริการใหม่ๆ ออกมาซัพพอร์ตแนวทางต่อเนื่อง
OpenShift เป็นแพลตฟอร์มของ Red Hat ที่ได้รับความนิยมจากองค์กรอย่างสูง ทุกวันนี้องค์กรส่วนใหญ่ในกลุ่ม Fortune 500 รันแอปพลิเคชั่นสำคัญบน OpenShift และนับว่าเป็นแพลตฟอร์มที่นำคู่แข่งในตลาดเดียวกันไปไกล
ทุกวันนี้ OpenShift รองรับแอปพลิเคชั่นหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชั่นจาวา, ระบบปัญญาประดิษฐ์, หรือแม้แต่โหลดงานประเภท virtualization ก็สามารถรันบน OpenShift ได้ทั้งสิ้น ในปีนี้ Red Hat รวมเอาบริษัท StackRox เข้ามาอยู่ในทีม Red Hat และเตรียมรวมเอาฟีเจอร์ของ StackRox เข้ามาอยู่ใน OpenShift และสินค้าตัวอื่นๆ
Matt ระบุว่าลูกค้าที่ใช้งาน OpenShift แบบบริการคลาวด์พร้อมการจัดการ (managed cloud service) นับเป็นลูกค้ากลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุด ในปีนี้ Red Hat ก็ปรับสถานะบริการ Red Hat OpenShift Service on AWS เข้าสู่สถานะ GA อยู่ในระดับพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ Red Hat ยังมีบริการ OpenShift บนคลาวด์ของ AWS, Azure, IBM, และคลาวด์ของ Red Hat เอง เปิดทางให้องค์กรที่รันแอปพลิเคชั่นบน OpenShift สามารถย้ายโหลดงานขึ้นคลาวด์ได้ทันที และหันไปโฟกัสกับแอปพลิเคชั่นธุรกิจได้เต็มที่
นอกจากนี้ Red Hat ยังเพิ่มบริการคลาวด์ชุดใหม่ อีก 3 รูปแบบ ได้แก่
บริการคลาวด์เหล่านี้มาพร้อมกับพันธมิตรที่ให้บริการบนแพลตฟอร์ม เช่น IBM Watson Studio, Seldon Deploy ช่วยให้การให้บริการปัญญาประดิษฐ์จัดการได้ง่าย การใช้คลาวด์ยังทำให้องค์กรสามารถเข้าถึงฮาร์ดแวร์เฉพาะทางอย่างชิป NVIDIA GPU ได้ตามต้องการ
Red Hat นำเสนอแนวทาง Red Hat Edge ที่จะขยายฟีเจอร์ของสินค้าต่างๆ ให้รองรับระบบไอทีในปลายทาง (Edge) โดย Matt ระบุว่า Edge คือจุดที่บริษัทต่างๆ ทำธุรกิจกับลูกค้าโดยตรง การสร้างนวัตกรรม โดยยังคำนึงถึงความปลอดภัย และการจัดการระบบไอทีขนาดใหญ่นับเป็นความท้าทาย ทำให้ Red Hat นำประสบการณ์นับสิบปีที่สร้าง RHEL ให้ปลอดภัยด้วยการอัพเดตอัตโนมัติมาใช้กับ Red Hat Edge
สืนค้าหลายตัวมีการประกาศฟีเจอร์รองรับ Edge มาก่อนแล้ว เช่น Red Hat Enterprise Linux 8.4 เพิ่มความสามารถที่จำเป็นสำหรับการรันบน Edge ลดขนาดให้มีขนาดเล็ก มีระบบสร้างอิมเมจเฉพาะ และลดภาระในการจัดการ
OpenShift รองรับคลัสเตอร์ขนาดเล็กเพียง 3 โหนดมาก่อนหน้านี้แล้ว และกำลังพัฒนาเพื่อรองรับการใช้งานแบบโหนดเดียวที่จำเป็นสำหรับงานอีกหลายรูปแบบ ตอนนี้เอง IBM ก็ใช้ OpenShift แบบโหนดเดียวบนสถานีอวกาศนานาชาติเพ่อเชื่อมต่อการทดลองถอดรหัส DNA และเชื่อมต่อข้อมูลกับบนโลก
Red Hat ปรับการทำงานของ 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Ansible Automation Platform, Red Hat Advanced Cluster Management, และ Red Hat Insight ให้ทำงานร่วมกันได้เต็มที่
Matt ระบุว่าปี 2020 แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างไอทีที่ปรับตัวได้ทันท่วงทีสำคัญแค่ไหนต่อลูกค้าของ Red Hat และเขาตื่นเต้นกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากแพลตฟอร์มโอเพนซอร์สที่ Red Hat ร่วมสร้างนวัตกรรมกับชุมชน และทำงานร่วมกับนวัตกรรมจากลูกค้าของ Red Hat จนมาเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวัน และปี 2021 จะเป็นปีที่ Red Hat ทำงานกับลูกค้าเพื่อสร้างนวัตกรรมด้วยแนวทาง open hybrid cloud และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สต่อไป