อาชีพผมเป็นครูสอนหนังสือครับ พักนี้มีโอกาสคุยกับบรรดาสมาชิกประชาคมอาจารย์บ่อยๆ มีคนบ่นว่าไม่ค่อยเข้าใจเด็กรุ่นนี้ ผมพบว่าตัวเองเริ่มเลื่อนเป็นรุ่นคนที่แตกต่างจากเด็กสมัยใหม่ ตัวผมผมเชื่อมั่นในคนรุ่นใหม่ครับ แต่คิดว่าตอนนี้มีช่องว่างระหว่างเรากับนักเรียนมากขึ้น การให้การศึกษาคนได้ดี มาก และเร็วเป็นความเป็นความตายของชาติในยุคนี้ ยุคที่แข่งกันด้วยพลังแห่งนวัตกรรม เป็น Creative Economy การถมช่องว่างเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้ได้ ด้วยโมเดลการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายที่รวดเร็วและทั่วถึง นับเป็นหัวใจสำคัญในการเตรียมเขาเหล่านี้ให้พร้อมจะก้าวสู่อนาคต
ตอนผมเด็กๆ เราเรียนโดยการ อ่านตำรา ฟังครูสอน แล้วมาหัดทำ หนังสือหนังหาดีๆ หายากและแพงมาก ตอนนี้ อินเทอร์เน็ตเข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง ทำให้เด็กสมัยนี้เข้าถึงและสร้างความรู้ได้ง่ายและรวดเร็ว ผมคิดเล่นๆ ว่าการศึกษาสำหรับ Creative Economy สามารถใช้สูตรของไอน์สไตน์อธิบายได้แล้วครับ
E = MC^2
E= Education เกิดจาก
M = Motivation ทำอย่างไรให้คนอยากเรียนอยากรู้ ขุดค้นลงไปเอง
C = Collaboration การศึกษาอย่างลึกซึ้งเป็นเรื่องของการประสานงานเป็นทีมร่วมมือกันและเปลี่ยนความรู้กัน
C = Communication การศึกษาเป็นผลของการสื่อสารกันอย่างรวดเร็ว การที่สามารถเก็บ สืบค้น ประมวลผลและกระจายความรอบรู้ได้เร็วมากๆ
คนรุ่นใหม่ตอนนี้เรียนเล่นทำงานแบบรวมกลุ่มใช้เวบและการส่งข้อความผ่านระบบ SMS, MSN และ Twitter ประสานงานกันตลอดเวลาครับ ทุกคนโตมากับสภาพแวดล้อมแบบ Interactive เช่น online games ดังนั้นบรรดาคุณครูทั้งหลายต้องเข้าใจตรงนี้ จับเด็กมาฟังเราสอนไปเรื่อยเขาจะหลับหมด และไม่มีสมาธิ เพราะเขาชินกับสภาพแวดล้อมที่เป็นไดนามิคมากกว่านี้
ดังนั้นครูและสถาบันการศึกษาตลอดจนถึงรัฐบาลน่าจะถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ ครับ
รัฐบาลคงต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตสำหรับการศึกษาให้มากขึ้นเพื่อสร้างให้ระบบการศึกษามีความพร้อมสำหรับอนาคตที่กำลังมาถึง ประเทศไทยควรมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากๆ อย่างทั่วถึงกว่านี้ การสร้างถนนหนทางเป็นของดีสำหรับเศรษฐกิจการผลิตแบบอุตสาหกรรม อินเทอร์เน็ตต่างหากที่เป็นหัวใจของการสร้าง เศรษฐกิจแห่งความรอบรู้ สังคมแห่งปัญญาและการแบ่งปัน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคง
ผมเคยเห็นสะพานลอยข้ามแยกที่ถนนหนึ่งในกรุงเทพ โครงการ 200 ล้านบาทครับ เอามาทำเครือข่ายบรอดแบนด์ให้คนไทยเข้าถึงขุมปัญญาที่กระจายทั่วโลกแบบรวดเร็วได้บ้างไหม คนไทยจะได้ฉลาดๆ ขึ้น
ผมว่าเราต้องพยายามช่วยกันสื่อให้ถึงนักการเมืองและผู้บริหารประเทศว่าโลกเปลี่ยนแล้ว การสร้างรากฐานของ Creative economy ซึ่งแข่งกันที่การสร้างนวัตกรรมนั้น การสร้าง Cyber infrastructure ที่แข็งแกร่งที่ทำให้คนไทยสร้าง เข้าถึงและแบ่งปันองค์ความรู้ได้อย่างรวดเร็วนั้น เริ่มสำคัญกว่าการสร้างถนนหนทางและน่าจะทำคู่กันไปในการพัฒนาประเทศ แถมการลงทุนก็ต่ำกว่าการสร้างถนนมาก
หวังว่าวันที่เด็กไทยทุกคนจะอยู่บนเครือข่ายความเร็วสูง และมีปัญญาเฟื่องฟูได้โดยเร็วจะมาถึงสักวันครับ