นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโรคระบาด โควิด-19 เรามองเห็นความเคลื่อนไหวของซีพีในการใช้ทรัพยากรที่มี สร้างโซลูชันเร่งด่วนเพื่อแก้วิกฤตมาโดยตลอด ยกตัวอย่างเช่น การใช้ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบคุณภาพหน้ากากอนามัยที่เครือซีพีตั้งโรงงานผลิตเพื่อส่งมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้เปราะบางตั้งแต่โควิดรอบแรกจนถึงปัจจุบัน
วิกฤตโควิดรอบนี้ เครือซีพีผนึกกำลังกับบริษัทในเครือร่วมทำโครงการซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19 สนับสนุนภารกิจโรงพยาบาลสนาม โดย Blognone ได้พูดคุยกับ คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เกี่ยวกับการผนึกกำลังของซีพีและทรู ร่วมนำทรัพยากรและเทคโนโลยีมาสนับสนุนภารกิจภาคสาธารณสุข อำนวยความสะดวกด้านการสื่อสาร พัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เสริมประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และช่วยเหลือคนไทยให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ในสถานการณ์โควิด-19
คุณณัฐวุฒิ เล่าจุดเริ่มต้นว่า ทันทีที่เกิดโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กำหนดนโยบายตั้งโครงการช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ พัฒนาโครงการในชื่อ “ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19”
เทคโนโลยีที่ทางเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ ช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลมีหลากหลาย เพราะบริษัทมีทรัพยากรอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสที่จะนำไปประยุกต์กับการใช้งานของโรงพยาบาลได้ ยกตัวอย่างเช่น การนำ engine ที่บริษัทมีไปเชื่อมต่อเข้ากับระบบของโรงพยาบาลที่มีอยู่ ช่วยประหยัดเวลาในการสร้างแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ขึ้นมาใหม่ หรือการที่ทรูนำระบบ Analytic เข้าไปช่วยกรมควบคุมโรค วิเคราะห์การกระจายตัวของโรคระบาด ให้สามารถหาทางรับมือได้ว่าโรคจะกระจายไปยังพื้นที่ใดต่อไป ซึ่งโครงการและกิจกรรมต่างๆ มาจากการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน คาดการณ์เทรนด์อนาคตว่าเป็นโลกของการทำงานร่วมกันในการพัฒนาโซลูชันเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต จึงเป็นโอกาสที่บริษัทจะผลักดันเป็นโมเดลต่อไปในอนาคตแน่นอน
ในโครงการซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19 ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่ซีพีทุ่มงบร่วม 200 ล้านบาท ได้ให้ความช่วยเหลือครอบคลุมด้านต่างๆ โดยเน้นสิ่งที่เครือซีพีทำได้ดี เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เสริมอุปกรณ์การแพทย์ที่ขาด และด้วยการผนึกกำลังกับทรู ทำให้สามารถส่งมอบเทคโนโลยีและบริการสื่อสารต่างๆ แก่โรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม รวมถึงศูนย์ฉีดวัคซีนในหลายๆ แห่งด้วย
กลุ่มทรู ได้เร่งส่งมอบบริการและอุปกรณ์สื่อสารให้แก่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 มีผู้ป่วยจำนวนมากต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ โดยขยายสัญญาณทั้ง True 5G, 4G และ WiFi ให้แก่โรงพยาบาลสนามแล้ว 205 แห่ง รวมถึงโรงพยาบาลบุษราคัม อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ซึ่งสามารถ รองรับการใช้งานสื่อสารไร้สายของผู้ป่วย 5,000 เตียง
รถโมบายล์ชุมสายเคลื่อนที่เร็ว ทรูมูฟ เอช ขยายสัญญาณเครือข่ายอัจฉริยะ True 5G และ Wi-Fi
นอกจากนี้ กลุ่มทรู ยังเพิ่มความผ่อนคลายจากอาการเจ็บป่วยขณะพักรักษาตัว ให้ผู้ป่วยเข้าถึงความบันเทิงออนไลน์ ดูคอนเทนต์หลากหลาย ทั้งสาระและบันเทิง พร้อมทั้งเปิดคอลล์ เซ็นเตอร์เฉพาะกิจ รับแจ้งปัญหาบริการและเครือข่ายสื่อสาร สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยใน รพ.สนาม โดยเฉพาะด้วย
นอกจากการดูแลและเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายสื่อสารแล้ว ทรูยังนำแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ True HEALTH ยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนไทยให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ออนไลน์ โดยร่วมกับทีมแพทย์อาสาชีวี จัดแคมเปญ "Together We Care" ให้คนไทยทุกคนปรึกษาเรื่องสุขภาพเบื้องต้นกับทีมแพทย์อาสาจากชีวีบริรักษ์คลินิกเวชกรรม ผ่านแอปพลิเคชัน True HEALTH โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ
แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ True HEALTH
พร้อมกันนี้ ทรูยังเปิดมุมสุขภาพ True Health แห่งแรก ที่ โลตัส เลียบด่วนรามอินทรา ให้บริการปรึกษาเรื่องสุขภาพกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากชีวี ผ่านกระจกอัจฉริยะ (Smart Mirror) ที่เชื่อมต่อผ่านเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G สามารถเข้าไปใช้บริการได้ง่ายๆ สะดวกสบาย และปลอดภัย ทั้งยังลดความหนาแน่นในโรงพยาบาลได้เช่นกัน
คุณณัฐวุฒิ บอกว่า เทคโนโลยี 5G เป็นเทรนด์ที่มีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่โควิดช่วยเร่งการใช้ 5G ให้ขยายไปเร็วขึ้น ในแง่การเชื่อมต่อทำให้ชีวิตดีขึ้นและราบรื่นขึ้นอยู่แล้ว แต่ 5G ยังมาพร้อมกับแบนด์วิธกว้าง ช่วยให้งานยากๆ อย่างการผ่าตัดทางไกลนั้นเป็นไปได้ หากการใช้ 5G เป็นไปอย่างกว้างขวางแล้ว คนก็จะไม่หันกลับไปใช้ของเดิมที่ช้ากว่าแน่นอน