ในที่สุดกูเกิลก็ปล่อยขีปนาวุธอีกลูกถล่มใส่ไมโครซอฟท์แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เมื่อวันที่ 7 เดือน 7 ปี 2009 กูเกิลแสดงพลังด้วยการประกาศพัฒนาระบบปฎิบัติการใหม่ เรียกว่า Google Chrome OS ระบบ Chrome OS นี้เป็นระบบปฎิบัติการขนาดเบาที่พัฒนามาใช้กับเน็ตบุ๊ก ปีนี้จะปล่อยออกมาเป็นโอเพ่นซอร์ส ปีหน้าก็จะออกมาในผลิตภัณ์เน็ตบุ๊ก กูเกิลยังประกาศตัวพันธมิตรธุรกิจจำนวนมาก นี่ไม่ใช่การออกผลิตภัณฑ์มาแข่งขันกันแบบธรรมดา แต่เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์อันยาวนานของกูเกิลที่จะเปลี่ยนโลกจาก desktop centric computing มาสู่ web centric computing อันจะเป็นการพลิกโลกไอทีทั้งโลก งานนี้ต้องมาดูแนวคิดทางยุทธศาสตร์ของแต่ละฝ่ายครับ ว่าเดินหมากสงครามนี้อย่างไร
เราคงจำกันได้ว่ากูเกิลเพิ่งจะปล่อย Chrome เบราว์เซอร์ออกมาเขย่าวงการไอทีไม่นานด้วยการออกแบบที่แตกต่างด้านเทคนิค โดยเฉพาะจุดประสงค์ที่จะเตรียมการให้การทำงานของเบราว์เซอร์ยุคใหม่สามารถรองรับการทำงานของโปรแกรมประยุกต์หนักๆ ที่พัฒนาจากจาวาสคริปต์ได้ ตอนนี้เมื่อกูเกิลปล่อย Chrome OS ออกมาทำให้เห็นแนวโน้มของเทคโนโลยีและยุทธศาสตร์ที่ใช้ได้ชัดเจนขึ้น
หากเรามองระบบไอทีขนาดใหญ่จะพบว่าแนวคิดที่ใช้กันมากที่สุดในตอนนี้ คือ แนวคิดที่ขอเรียกว่า desktop centric computing นั้นคือ ผู้ใช้จะมีระบบพีซีหรือ โน๊ตบุ๊กที่มีสมรรถนะที่ดี คอมพิวเตอร์เหล่านี้จะเชื่อมโยงกันเป็นโครงสร้างทางไอทีผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบมีสายและไร้สาย มีระบบเซิร์ฟเวอร์และระบบจัดเก็บข้อมูลอยู่ตรงกลางเพื่อรองรับการจัดเก็บ ประมวลผล และสืบค้นข้อมูล การใช้งานต้องมีระบบปฏิบัติการและโปรแกรมประยุกต์ซึ่งทำงานบนคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ แต่ใช้เครือข่ายเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้กับระบบเซิร์ฟเวอร์และระบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อเพิ่มพลังการทำงาน ไมโครซอฟท์นับว่าเป็นเจ้าสนามในระบบไอทีแบบนี้ ร่วมด้วยซอฟต์แวร์อื่นๆ เช่น ออราเคิล
ต่อมาแนวการประมวลผลเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การสร้างโปรแกรมประยุกต์บนเว็บ หรือ web centric computing ในระบบนี้ คอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ไม่ต้องมีกำลังการประมวลผลมากนัก โปรแกรมประยุกต์ทุกอย่างจะทำผ่านระบบเว็บ ซึ่งแนวโน้มคือโปรแกรมประยุกต์จะถูกเก็บและทำงานบนระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing Systems) ซึ่งผุ้ใช้จะมองเห็นแต่พลังการประมวลผลและตัวเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่ขยายตัวได้ ในแนวคิดนี้ ผู้ที่บุกเบิกมาคือกูเกิลนั่นเอง
ก่อนจะวิพากษ์สงครามคราวนี้ผมขอพาท่านกลับสู่อดีตสักนิด
เราจะพาท่านผ่านประวัติศาสตร์ไปสู่ยุคสงครามนโปเลียนครับ ตอนนั้นนโปเลียนตั้งใจที่จะปิดฉากสงครามและครองยุโรปให้เด็ดขาด จึงเคลื่อนทัพราว 690, 000 คน ซึ่งเป็นการรวมพลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและพร้อมรบที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรปไปบุกรัสเซีย ในปี คศ. 1812
ในช่วงนั้นคือช่วงที่รุงโรจน์ที่สุดของนโปเลียน ซึ่งครองแทบทั้งยุโรปและกดอังกฤษจนต้องหลบอยู่บนเกาะอังกฤษอย่างเดียว ส่วนรัสเซียภายใต้พระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์นั้นก่อนหน้าได้พ่ายแพ้อย่างยับเยินให้กับนโปเลียนที่ออสเตอร์ลิซ (Austerlitz) มาแล้ว รัสเซียรวมทหารได้แค่ 488,000 คน โดยที่กว่า 160,000 คนเป็นทหารอาสาสมัครจากชาวบ้านที่แทบรบไม่เป็นเลย (ดูได้จาก Wikipedia ครับ)
ตอนนั้นกองทัพรัสเซียก็พยายามสู้สุดฤทธิ์นะครับ แต่ขีดความสามารถต่างกันมาก กองทัพรัสเซียถูกบังคับให้ถอยแล้วถอยอีก โดยในขณะถอยก็กวาดต้อนชาวบ้านไปด้วยแล้วเผาทุกอย่างทิ้งไม่เหลือให้ข้าศึกใช้ ในสงครามที่โบโรดีโน่ กองทัพรัสเซียได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่เสียหายอย่างหนัก เส้นทางไปสู่กรุงมอสโกเปิดโล่งให้นโปเลียนยกทัพไปยึดได้อย่างรวดเร็ว ปกติในยุคนั้นหากเมืองหลวงถูกยึดประเทศนั้นมักจะยอมแพ้และขอสงบศึก
จุดเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์คือการที่นายพลคูตูซอฟได้ตัดสินใจที่จะอาศัยความได้เปรียบทางสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศเอาชนะให้ได้ รัสเซียเกณฑ์ทุกคนที่รบได้มาทั้งหมดได้คนเตรียมรบถึง 904,400 คนด้วยกันและตั้งใจสู้ถึงที่สุด นายพลคูตูซอฟ (Kutuzov) ได้สั่งการให้อพยพคนออกจากมอสโกจนหมด กองทัพนโปเลียนมาถึงพบเมืองที่ว่างเปล่าและไม่มีอะไรเหลือ จากนั้นก็เกิดไฟไหม้ กลางเดือนตุลาคมนโปเลียนถูกบีบให้ถอยภายใต้ฤดูหนาวที่ทารุณ รัสเซียบีบให้นโปเลียนถอยกลับไปทางถนนเดิมที่ไม่มีสเบียงให้ทหารและหญ้าให้ม้าโดยสิ้นเชิง และส่งทหารม้าโจมตีปีกกองทัพนโปเลียนอย่างต่อเนื่อง ทหารต้องลงเดิน หิวตายหนาวตาย รัสเซียใช้สภาวะแวดล้อมและภูมิประเทศที่ตนเคยชินอย่างเต็มที่ครับ ผลคือนโปเลียนกลับถึงฝรั่งเศสพร้อมทหารแค่ 22,000 คน ทหารตายไป 97% ครับ ไปร้อยคนกลับมาสามคนเท่านั้น
หากเรากลับมาดูสงครามกูเกิลกัน เราจะพบว่ากูเกิลพยายามแก้ทางของไมโครซอฟท์อยู่ หากไปรบกันใต้สภาพของระบบปฏิบัติการวินโดว์และ Internet Explorer แล้ว เท่ากับกองทัพรัสเซียที่เล็กกว่าหาญท้ารบกับนโปเลียนในฝรั่งเศสครับ ตายอย่างเดียว ดังนั้นกูเกิลต้องอาศัยพลังควบคุมฟ้าดินให้ได้ กูเกิลเล่นใจเย็นมองเกมส์เป็นการชิงดินแดนแบบรุกคืบ คือ รุก หยุด สะสมกำลัง และรุกต่อ การรุกจะคืบจากระดับโปรแกรมประยุกต์เข้าหาระบบปฏิบัติการ ซึ่งเป็นแนวรุกกลับทิศกับไมโครซอฟท์ที่รุกจากการควบคุมระบบปฏิบัติการ ไปยังการคุมโปรแกรมประยุกต์แล้วสยายปีกออกทางแนวกว้าง ยุทธศาสตร์ของกูเกิลเท่าที่มอง คือ
หนึ่ง กูเกิลเริ่มสร้างสภาพแวดล้อมของโปรแกรมประยุกต์แบบ web centric บนระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆก่อน ต้องพึ่งพาเบราว์เซอร์มาตรฐานบนระบบปฎิบัติการของคนอื่น ขั้นแรกปิดเกมส์ไปแล้วค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็น Google Search, Google Maps, Google Docs, Google Apps
สอง กูเกิลรุกลงมาสร้างฐานเบราว์เซอร์ของตนเอง คือ Chrome และปล่อย Google Gears ออกมาเพื่อให้สามารถควบคุมโปรแกรมประยุกต์แบบเว็บได้ และสร้างมาตรฐานด้านการพัฒนาโปรแกรมเพื่อสร้างความได้เปรียบ
สาม กูเกิลปล่อยแอนดรอยด์มาเพื่อสร้างฐานและทีมพัฒนาระบบปฏิบัติการที่แข็งแกร่ง รวมทั้งขยายฐานประชาคมนักพัฒนาของตน อีกอย่างโลกของโทรศัพท์มือถือกำลังขยายตัวและ Windows Mobile ก็ไม่ได้แข็งแกร่งเกินจะปราบได้เพราะ BlackBerry ทำมาแล้ว ดังนั้นแอนดรอยด์ก็มีโอกาสเข้าตีรบกวนไมโครซอฟท์ได้ ดังซุนวูว่าไว้ว่า ศัตรูอ่อนแอให้เราจู่โจม ศัตรูกล้าแข็งให้เราสงบนิ่ง
สี่ กูเกิลปล่อย Chrome OS ออกมาอาศัยการขยายตัวของเน็ตบุ๊กที่แรงเร็วทั่วโลก เนื่องจากความต้องการที่จะให้ใช้งานได้นานและประหยัดพลังงาน เน็ตบุ๊กจะถูกวางตำแหน่งให้เป็นระบบที่ทำงานช้ากว่าโน๊ตบุ๊กและเดสค์ท็อปอยู่ขั้นหนึ่งเสมอ สภาวะแวดล้อมนี้ทำให้ระบบปฏิบัติการที่เบา (lightweight operating system) ได้เปรียบ เพราะจะทำงานเร็วกว่าคล่องกว่าและกินไฟกับหน่วยความจำน้อยกว่า
จะเห็นว่ากูเกิลใช้ความใจเย็นปรับเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมและเลือกสนามรบที่ได้เปรียบ เหมือนรัสเซียที่อาศัยการถอยยาวดึงนโปเลียนมารบในถิ่น รอให้หน้าหนาว (เน็ตบุ๊ก) มาถึงก่อนค่อยรุกเข้าใส่
เรามาดูจุดอ่อนกันบ้างครับ ว่าถ้าเราเป็นไมโครซอฟท์จะเข้าตีตอบโต้อย่างไร
หนึ่ง การที่กูเกิลออกระบบปฏิบัติการใหม่ต้องอาศัยเวลาช่วงหนึ่งที่จะทำให้เสถียร สร้าง ecosystem ของนักพัฒนา ดูจากแอนดรอยด์แล้วมีเวลาราวสองปี ครับ ในตอนนี้ไมโครซอฟท์มี Windows 7 ที่บางเบาแต่เร้าใจกว่าน้องวิสต้ามาก ต้องสร้างฐานตรงนี้ออกไปรบกับ Chrome และพยายามสร้างโปรแกรมประยุกต์สวยๆ ที่ใช้ 3D มาให้ลูกค้าติด เพราะอย่างไรจุดอ่อนของ web centric computing คือกราฟิก 3D ที่จะช้ากว่าโหลดนานกว่า อัดเกมส์มามากๆ หรือทำส่วนติดต่อกับผู้ใช้แบบ 3D มาเลยครับ
สอง ระบบแบบกูเกิลที่ใช้ web centric นั้น จะพบว่าทำงานได้ไม่ดีในสภาวะที่อินเทอร์เน็ตไม่ค่อยเร็วและไม่ค่อยเสถียร เช่น ในสยามเมืองยิ้มของเรา ดังนั้นในสภาพแวดล้อมที่อินเทอร์เน็ตอ่อนแอ desktop centric แบบ ไมโครซอฟท์ยังคงความได้เปรียบ หมายความว่าในเอเชียแปซิฟิกและกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ไมโครซอฟท์ยังคงความได้เปรียบบางประการไว้
สาม ความเคยชินของคนแก้ยากครับ ความพยายามของกูเกิลทำให้เกิดการเปลี่ยนโมเดลการใช้งาน จะมีแรงต้านโดยธรรมชาติจากผู้ใช้อยู่แล้วไมโครซอฟท์แค่เสริมแรงตรงนี้หน่อย Chrome OS ก็จะลำบากครับ
สงครามนี้รบยืดเยื้อครับ สถานะการณ์จะค่อยๆพัฒนาในเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี กูเกิลเป็นคู่แข่งที่เก่งที่สุดที่ไมโครซอฟต์เจอมาในรอบหลายปีครับ คือ ใจเย็น มีวิสัยทัศน์ มุ่งมั่น วางกลยุทธเป็นขั้นตอนและสั่งสมทรัพยากรเพิ่มพูนทุกขณะ เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ความเป็นบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและไฟเบอร์ทูโฮม ความได้เปรียบของกูเกิลก็จะเพิ่มขึ้น แต่โลกกำลังหมุนไปหาไลฟ์สไตล์คอมพิวติ้งในวงกว้าง กูเกิลนั้นขาดทักษะเรื่องการออกแบบอย่างแรงจะเสียเปรียบอย่างมากในจุดนี้ครับ
หลังจากรบกันอยู่นานสุดท้ายทั้งคู่อาจถูกกัดตายโดย Snow leopard จากแอปเปิลก็ได้นะครับ